"ตรุษจีน 2566" ตรงกับวันไหน เตรียม ของไหว้-วิธีไหว้ อย่างไร ให้ปัง
"ตรุษจีน 2566" ตรงกับวันไหน สำคัญอย่างไรกับ ชาวไทยเชื้อสายจีน เตรียม ของไหว้ตรุษจีน และ วิธีไหว้อย่างไร ให้ปัง สรุปครบจบที่นี่
ผ่านพ้นเทศกาลส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ 2566 ยังมีอีกหนึ่งเทศกาลสำคัญของชาวไทยเชื้อสายจีน นั่นคือ วันตรุษจีน แต่ ตรุษจีน 2566 ตรงกับวันไหน เป็นวันหยุดหรือไม่ มีความสำคัญอย่างไร คมชัดลึกออนไลน์ รวบรวมมาให้แล้ว
“ตรุษจีน 2566” ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 22 มกราคม 2566 ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามปฎิทินจีน (คล้ายกับวันสงกรานต์ของไทย) ชาวจีนทุกคนให้ความสำคัญกับวันนี้อย่างมาก มีการหยุดงาน โรงเรียนสถาบันการศึกษาปิดเทอม (ปิดเรียนฤดูหนาว) ในช่วงนี้ เหลือเพียงแต่บางอาชีพที่ต้องทำหน้าที่พิเศษ ที่ไม่สามารถหยุดงานได้
ในวันตรุษจีนหน่วยงานห้างร้านต่างจะหยุดงานเป็นเวลา 3-4 วัน เพื่อตระเตรียมจัดงานปีใหม่นี้ แต่วันตรุษจีน ไม่ใช่วันหยุดราชการของไทย
ปฏิทิน ตรุษจีน 2566
วันที่ 20 มกราคม 2566 เป็น "วันจ่าย"
> วันจ่าย คือวันที่การเลือกซื้อของไหว้ อาทิ ปลา เป็ด ไก่ เนื้อสัตว์ ผลไม้ เป็นต้น สำหรับไหว้บรรพบุรุษ และการเล่นพลุประทัด สิ่งที่มักเห็นกันทั่วไป ตามบ้านเรือนจะถูกทำความสะอาด มีการขัดสีฉวีวรรณทาสีใหม่ ประดับไฟเพื่อความสว่าง ประดับกระดาษที่มีคำอวยพรหน้าบ้าน สวมใส่เสื้อผ้าใหม่สีแดง ซึ่งเป็นสีมงคลของชาวเชื้อสายจีน
วันที่ 21 มกราคม 2566 เป็น "วันไหว้"
> วันไหว้ คือวันที่ การเตรียมของไหว้ไปที่ศาลเจ้า ตามสถานที่จัดไว้ และไหว้ศาลที่บ้าน ร่วมถึงไหว้บรรพบุรุษ โดยเวลาไหว้ เริ่มตั้งแต่เที่ยงคืน ยาวไปถึง 9 โมงเช้าของอีกวัน (ตามแต่ละสถานที่) หลังจากไห้วเสร็จก็จะมีการรับประทานอาหารร่วมกันที่บ้าน
วันที่ 22 มกราคม 2566 เป็น "วันเที่ยว"
> วันเที่ยว คือวันที่หลังจากวันไหว้ที่คนจีนจะใช้เวลานี้ไปเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ หรือเอาของขวัญไปให้ญาติพี่น้อง มีการแจกอั่งเปาเด็ก ๆ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่หลายคนชอบ
ประวัติ วันตรุษจีน หรือปีใหม่จีน
วันตรุษจีน จัดขึ้นเพื่อตั้งใจที่จะฉลองฤดูใบไม้ผลิ เนื่องจากช่วงก่อนเทศกาลตรุษจีนนั้น ประเทศจีนปกคลุมไปด้วยหิมะ จึงไม่สามารถทำการเกษตรได้ เมื่อเข้าถึงฤดูใบไม้ผลิ จึงจะสามารถเพาะปลูกพืชผักได้ตามปกติ ชาวจีนจึงกำหนดให้วันแรกของฤดูใบไม้ผลิตในแต่ละปีเป็นวันสำคัญที่เรียกว่า "วันตรุษจีน"
วันตรุษจีน คล้ายคลึงกับวันปีใหม่ในประเทศทางตะวันตก ร่องรอยของประเพณี พิธีกรรมความเป็นมาของการฉลองตรุษจีนนั้น มีมานานกว่าศตวรรษ (100 ปี) จริง ๆ แล้วนานมาก จนไม่สามารถย้อนกลับไปดูว่าเริ่มต้นฉลองมาตั้งแต่เมื่อไร
การเตรียมงานฉลอง ส่วนใหญ่จะเริ่มหนึ่งเดือนก่อนวันตรุษจีน (คล้ายกับวัน คริสต์มาสของประเทศตะวันตก) เมื่อผู้คนเริ่มซื้อของขวัญ, สิ่งต่าง ๆ เพื่อประดับบ้านเรือน, อาหารและเสื้อผ้า การทำความสะอาดครั้งใหญ่ก็เริ่มขึ้นในวันก่อนตรุษจีน บ้านเรือนจะถูกทำความสะอาดตั้งแต่บนลงล่าง หน้าบ้านยันท้ายบ้าน ซึ่งหมายถึงการกวาดเอาโชคร้ายออกไป ประตูหน้าต่างมีการขัดสีฉวีวรรณทาสีใหม่ ซึ่งสีแดงเป็นสีนิยม ประดับประดาด้วยกระดาษที่มีคำอวยพร อย่างเช่น อยู่ดีมีสุข ร่ำรวย และอายุยืน เป็นต้น
ของไหว้ตรุษจีน
อาหารไหว้เจ้า และ ของไหว้ในวันตรุษจีน จะเน้นของที่มีความหมายดี เป็นมงคล และสื่อถึงความอุดมสมบูรณ์พูนผล เพื่อความเป็นสิริมงคลในชีวิต โดยหากจะไหว้เต็มรูปแบบ ก็จะมี 4 แบบด้วยกัน คือ
1. สำหรับไหว้เจ้าที่
2. สำหรับไหว้บรรพบุรุษ
3. สำหรับไหว้ทำทานสัมภเวสี (ดวงวิญญาณไร้ญาติ)
4. สำหรับไหว้ขอโชคลาภเพิ่มเติม ก็จะมี ของไหว้เทพเจ้าไฉ่ซิงเอี๊ย เพิ่มเติมด้วย
ของไหว้จะประกอบไปด้วย ของคาว ขนม หรือของหวานอื่น ๆ และผลไม้ โดยจำนวนจะยึดที่ของคาวหรือเนื้อสัตว์เป็นหลัก คือ
> ไหว้ 3 อย่าง (ซาแซ) ประกอบด้วย หมูส่วนสะโพกติดหนัง (บะแซหรือบะแซะ) เป็ด(พร้อมเครื่องใน) ไก่(พร้อมเครื่องใน)
> ไหว้ 5 อย่าง (โหงวแซ) ประกอบด้วย หมู (บะแซหรือบะแซะ) เป็ด(พร้อมเครื่องใน) ไก่(พร้อมเครื่องใน) ปลาทั้งตัว หรืออาหารทะเล (เช่น ปลาหมึกแห้งทั้งตัวไม่ต้องต้ม กุ้งต้มสุก ปูต้มสุก หรือหอยลวกสุก) หรือ ตับ
แล้วไหว้ของหวานกับผลไม้ด้วยจำนวนเท่ากันเป็นอย่างน้อย เช่น หากไหว้ของคาว 3 อย่าง ก็จะมีของหวาน 3 อย่าง และผลไม้ 3 อย่าง ไม่น้อยไปกว่านี้ แต่หากมีกำลังทรัพย์ก็สามารถไหว้มากกว่านี้ได้
แบ่งเวลาไหว้ออกเป็น 4 ช่วง
ช่วงที่ 1 ไหว้เจ้าที่ ช่วงเช้า 06.00-07.00 น. ของวันที่ 21 มกราคม 2566
ของไหว้เจ้าที่ วันตรุษจีน
1. ไหว้ 3 อย่าง (ชุดซาแซ) หรือ ไหว้ 5 อย่าง (ชุดโหงวแซ)
2. ขนมไหว้ ได้แก่ ฮวกก้วย (ขนมถ้วยฟู) คักท้อก้วย (ขนมกู๋ช่าย) สื่อถึงความเฟื่องฟู เจริญรุ่งเรือง
3. ขนมจันอับ หรือขนมจับกิ้ม หรือแต้เหลี้ยว สื่อถึงธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ และซาลาเปาสีชมพู แต้มจุดสีแดง หมายถึง ห่อโชค
4. ขนมไหว้พิเศษ ได้แก่ ขนมเข่ง หมายถึงมีเพื่อนมาก ขนมเทียน หมายถึงสว่างสดใส รุ่งเรือง
5. ผลไม้มงคล เช่น ส้ม กล้วยทั้งหวี(เลือกแบบสีเขียวที่ยังดิบอยู่) องุ่น แอปเปิ้ล ชมพู่ สาลี่ เป็นต้น
6. เครื่องดื่ม ได้แก่ น้ำชา 5 ที่ อาจมีเหล้าด้วยอีก 5 ที่
7. กระดาษเงิน กระดาษทอง ชุดไหว้เจ้า (หงิ่งเตี๋ย) 5 ชุด
8. เทียนแดงก้านไม้แบบจีน 1 คู่ พร้อมเชิงเทียน
9. กระถางธูป
10. ธูปสำหรับไหว้
11. แจกันดอกไม้
การจัดของไหว้ และการไหว้เจ้าที่ วันตรุษจีน
> น้ำชา 5 ถ้วย วางเรียงแถวหน้ากระดาน
> ชุดไหว้ของคาว วางด้านขวามือของผู้ไหว้
> ชุดไหว้ผลไม้ วางด้านซ้ายมือของผู้ไหว้
> ชุดขนมและของหวาน วางต่อด้านหลังจากชุดผลไม้
> ส่วนกระดาษเงินกระดาษทองให้ใช้ถาดชุดขนมวางทับไว้
> ธูปเทียนปักตามปกติ ใช้เทียน 1 คู่ เจ้าที่ตี่จู่เอี๊ยใช้ธูป 5 ดอก เจ้าที่อื่นๆ ใช้ธูป 3 ดอก เจ้าที่หรือเทพเจ้าประตู (หมึ่งซิ้ง) ใช้ธูป 2 ดอก โดยปักจุดละ 1 ดอก เริ่มปักฝั่งซ้ายก่อน แล้วค่อยปักฝั่งขวา เพื่อบอกกล่าวขออนุญาตให้ท่านเปิดทางให้ดวงวิญญาณบรรพบุรุษของเราเข้ามารับของไหว้ได้ในวันตรุษจีน
ช่วงที่ 2 ไหว้บรรพบุรุษ ช่วงสาย ไม่เกินเที่ยง (10.00-11.00 น.) วันที่ 21 มกราคม 2566
ของไหว้บรรพบุรุษ วันตรุษจีน
1. ไหว้ 3 อย่าง หรือ ไหว้ 5 อย่าง
2. ขนมไหว้ ได้แก่ ฮวกก้วย (ขนมถ้วยฟู) คักท้อก้วย (ขนมกู๋ช่าย) สื่อถึงความเฟื่องฟู เจริญรุ่งเรือง
3. ขนมจันอับ หรือขนมจับกิ้ม หรือแต้เหลี้ยว สื่อถึงธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ และซาลาเปาสีชมพู แต้มจุดสีแดง หมายถึง ห่อโชค
4. ขนมไหว้พิเศษ ได้แก่ ขนมเข่ง หมายถึงมีเพื่อนมาก ขนมเทียน หมายถึงสว่างสดใส รุ่งเรือง
5. ผลไม้มงคล เช่น ส้ม กล้วยทั้งหวี(เลือกแบบสีเขียวที่ยังดิบอยู่) องุ่น แอปเปิ้ล ชมพู่ สาลี่ เป็นต้น
6. กับข้าว 5 อย่าง
7. ข้าวสวยตักใส่ถ้วยพูนๆ พร้อมตะเกียบ ตามจำนวนบรรพบุรุษ
8. เครื่องดื่ม ได้แก่ น้ำชา 5 ที่ อาจมีเหล้าด้วยอีก 5 ที่
9. กระดาษเงิน กระดาษทอง จะต้องมีอ่วงแซจิ่วสำหรับเป็นใบเบิกทางบรรพบุรษให้ลงมารับของไหว้
10. ทองแท่งสำเร็จรูป แบงค์กงเต็ก ค้อซี/ก๊อซี ฯลฯ ปริมาณตามสะดวก
11. เทียนแดงก้านไม้แบบจีน 1 คู่ พร้อมเชิงเทียน
12. กระถางธูป
13. ธูปสำหรับไหว้
14. แจกันดอกไม้
การจัดของไหว้และวิธีไหว้บรรพบุรุษ วันตรุษจีน
> น้ำชา 5 ถ้วย วางเรียงแถวหน้ากระดาน
> ชุดไหว้ของคาว วางด้านขวามือของผู้ไหว้
> ข้าวสวย ตั้งเรียงแถวหน้ากระดาน พร้อมด้วยตะเกียบ โดยให้ด้ามตะเกียบหันไปที่รูปของบรรพบุรุษ
> กับข้าว 5 อย่าง ตั้งเรียงแถวหน้ากระดาน
> ผลไม้และขนมวางอยู่ในแถวเดียวกัน
> จากนั้นจึงจะเป็นเครื่องกระดาษต่างๆ ที่ต้องการจะส่งให้บรรพบุรุษ
> จุดธูปเทียนตามปกติ ใช้เทียน 1 คู่ ธูปคนละ 3 ดอก โดยให้ผู้อาวุโสที่สุดเป็นผู้จุดก่อน
ช่วงที่ 3 ไหว้สัมภเวสี ช่วงบ่าย 14.00-16.00 น. ของวันที่ 21 มกราคม 2566
ของไหว้ทำทานให้สัมภเวสี ในวันตรุษจีน
1. จัดเตรียมคล้ายของไหว้บรรพบุรุษตามกำลังทรัพย์ ไม่เฉพาะเจาะจงว่าต้องมีแค่ไหน
2. ควรเปลี่ยนจากน้ำชาเป็นน้ำเปล่าแบบขวด และเหล้าใช้แบบขวดเช่นกัน
3. กระดาษเงินกระดาษทอง ตามกำลังทรัพย์
4. เกลือและข้าวสารเตรียมแยกไว้สำหรับสาดบริเวณบ้านหลังไหว้เสร็จ
5. ประทัดสำหรับจุดหลังไหว้เสร็จ
6. เสื่อสำหรับปูรองของไหว้ที่พื้น
การจัดของไหว้และวิธีไหว้ทำทานให้สัมภเวสี ในวันตรุษจีน
> จัดเตรียมข้าว ขนม น้ำเปล่า (แบบขวด) เหล้า (แบบขวด) กระดาษเงิน กระดาษทอง โดยวางบนเสื่อปูที่พื้นด้านนอกตัวบ้าน และหันออกนอกตัวบ้าน
> จุดธูป 1 ดอก เวลาไหว้ให้ยืนไหว้ไม่ต้องคุกเข่า
> เมื่อไหว้เสร็จและเก็บของแล้ว ให้สาดเกลือเม็ดกับข้าวสารไปทั่วบริเวณ และจุดประทัด เพื่อไม่ให้มีอะไรตกค้างในบ้าน และเป็นการปัดเป่าสิ่งไม่เป็นมงคลต่างๆ
ช่วงที่ 4 ไหว้เทพเจ้าไฉ่ซิงเอี๊ย ช่วงดึก คืนวันตรุษจีน จุดธูปกี่ดอก ไหว้ทิศไหน ไหว้อย่างไร
ในช่วงกลางคืน จะเป็นช่วงของการไหว้เทพเจ้าไฉ่ซิงเอี๊ย หรือเทพเจ้าแห่งโชคลาภ เพื่อเสริมมงคลเรื่องการเงิน การงาน และโชคลาภต่าง ๆ
ของไหว้เทพเจ้าไฉ่ซิงเอี๊ย (เทพเจ้าแห่งโชคลาภ) วันตรุษจีน
1. รูปหรือรูปปั้นเทพเจ้าไฉ่ซิงเอี๊ยสำหรับกราบไหว้
2. แจกันดอกไม้สด 1 คู่
3. เทียนแดงก้านไม้แบบจีน 1 คู่ พร้อมเชิงเทียน
4. กระถางธูป
5. ธูปสำหรับไหว้
6. น้ำชา 5 ถ้วย
7. ขนมอี๊(สาคูสีแดง) 5 ถ้วย หรือข้าวสวย 5 ถ้วย
8. ขนมจันอับ หรือขนมจับกิ้ม หรือแต้เหลี้ยว
9. ผลไม้มงคล 5 อย่าง เช่น ส้ม แอปเปิ้ลแดง องุ่นแดง กล้วยหอมทอง สับปะรด ฯลฯ
10. เจไฉ่ หรือของเจ 5 อย่าง เช่น ดอกไม้จีน ฟองเต้าหู้ วุ้นเส้น เห็ดหอม เห็ดหูหนู
11. ชุดกระดาษไหว้ไฉ่ซิงเอี๊ย ประกอบด้วย หงิ่งเตี๋ย 12 ชุด กิมหงิ่งเต้า 1 คู่ เทียงเถ้าจี๊ 1 ชุด เทียบเชิญแดง 1 แผ่น กระดาษสีเขียว 1 แผ่น (เทียบเชิญสีเขียว)
สำหรับของไหว้ตรุษจีนสามารถเตรียมได้ตามกำลังทรัพย์ ครบหรือไม่ก็ไม่เป็นไร ขอให้มีความศรัทธาเป็นที่ตั้ง แต่ที่สำคัญมากคือ "เทียบเชิญสีแดง" และ "เทียบเชิญสีเขียว" เพราะต้องเขียนชื่อและที่อยู่ลงไป รวมถึงเขียนเชิญ องค์ไท้ส่วย ด้วยนั่นเอง