"ประเพณีสงกรานต์" รอขึ้นเป็นมรดกโลก ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ชิ้นที่ 4 ของไทย
ยูเนสโก เตรียมพิจารณาขึ้นทะเบียน "ประเพณีสงกรานต์" เป็นมรดกโลก ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ชิ้นที่ 4 ของประเทศไทย สะท้อนวัฒนธรรมไทยดังไกลทั่วโลก
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี องค์การยูเนสโก (UNESCO) อนุมัติให้ "ประเพณีสงกรานต์" (Songkran in Thailand, traditional Thai New Year festival) เข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้นเพื่อพิจารณาในที่ประชุมในช่วงปลายปี 2566 ให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม (Intangible Cultural Heritage - ICH) ชิ้นที่ 4 ของไทย
เป็นที่ภาคภูมิใจของชาวไทยต่อกรณีที่องค์การยูเนสโก (UNESCO) อนุมัติให้ "ประเพณีสงกรานต์" เข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้น Tentative list เพื่อพิจารณาในที่ประชุมซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงปลายปี 2566
โดยจะได้กำหนดให้ "ประเพณีสงกรานต์" เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม (Intangible Cultural Heritage - ICH) ชิ้นที่ 4 ของไทย ต่อจาก โขน (ขึ้นทะเบียนเมื่อปี 2561) นวดไทย (ขึ้นทะเบียนเมื่อปี 2562) และโนรา (ขึ้นทะเบียนในปี 2564)
ทั้งนี้ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม (Intangible Cultural Heritage - ICH) เป็นหมวดหมู่ในวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ หมายถึง การปฏิบัติ การแสดงออก ความรู้ ทักษะ ตลอดจนเครื่องมือ วัตถุ สิ่งประดิษฐ์ และพื้นที่ทางวัฒนธรรม ทั้งนี้ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของประเทศไทย ยังมีอีกหลายรายการเตรียมพิจารณาลงทะเบียนกับองค์การ UNESCO
"ประเพณีสงกรานต์" เป็นขนบธรรมเนียมอันสวยงามของไทย ได้รับพิจารณาให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม สะท้อนว่าทั่วโลกให้ความสำคัญกับประเทศไทย ให้การยอมรับ โดยเห็นถึงคุณค่าและเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของวัฒนธรรมไทย พร้อมเชื่อมั่นว่าทุกประเพณี วัฒนธรรมของไทยทรงคุณค่า สามารถต่อยอดความสำเร็จผ่านการสืบสาน พัฒนา สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ในอนาคต