13 กุมภาฯ 'วันรักนกเงือก' ร่วมอนุรักษ์ นกเงือก สัตว์สัญลักษณ์ของคำว่า รักแท้
13 กุมภาพันธ์ 'วันรักนกเงือก' ร่วมสร้างจิตสำนึกและความตระหนักในการอนุรักษ์ 'นกเงือก' สัตว์สัญลักษณ์ของคำว่า รักแท้ ในป่าใหญ่
ใกล้จะถึง วันวาเลนไทน์ เข้าไปทุกทีแล้ว ซึ่งถือเป็นวันที่ทั้งคนมีคู่และไม่มีคู่ต่างเฝ้ารอคอย แต่ก่อนที่จะได้พบกับความรักของมนุษย์ ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ เราจะได้เห็น "รักแท้" ของนกชนิดหนึ่งที่อยู่ในป่าใหญ่ก่อน ซึ่งก็คือ 'นกเงือก' (Hornbill) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของคำว่า "รักแท้" เพราะนกเงือกจะมีลักษณะการครองคู่แบบ "รักเดียว ใจเดียว" หรือ "แบบผัวเดียวเมียเดียว" จนแก่จนเฒ่า หรืออยู่ครองคู่กันจนตายจากกัน
'วันรักนกเงือก' จะตรงกับวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ของทุกปี ซึ่งเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา ภายใต้แนวคิดที่ว่า "ชักชวนผู้คนร่วมมอบความรักให้แก่นกเงือกร่วมกัน ก่อนที่จะมอบความรักให้แก่กันในวันวาเลนไทน์" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้ ความสำคัญของนกเงือก ธรรมชาติ และการอนุรักษ์ เพื่อสร้างจิตสำนึกและความตระหนักในการอนุรักษ์นกเงือกให้กับสังคมและประชาชน
นกเงือก เป็นนกขนาดใหญ่ ที่อยู่ในวงศ์ Bucerotidae ในอันดับนกตะขาบ (Coraciiformes) (บางข้อมูลซึ่งเป็นข้อมูลเก่าจะจัดให้อยู่ในอันดับ Bucerotiformes ซึ่งเป็นอันดับเฉพาะของนกเงือกเอง แต่ปัจจุบันนับเป็นชื่อพ้อง โดยนับรวมนกเงือกดินเข้าไปด้วย) เป็นนกที่เชื่อว่าถือกำเนิดมานานกว่า 45 ล้านปีมาแล้ว
โดย 'นกเงือก' ตัวผู้นั้นจะมีลักษณะเป็นหัวหน้าครอบครัวที่ขยันและซื่อสัตย์ คอยดูแลหาอาหารปกป้องครอบครัวให้ปลอดภัย หากตัวผู้ต้องถูกฆ่าตาย นกเงือกตัวเมียและลูกจะรออยู่ในรัง และรอตลอดไปจนกว่าจะตายตามไปด้วย นี่คือสัญชาตญาณอันน่าทึ่งของนกเงือก
นกเงือก ได้รับการประกาศให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ห้ามเลี้ยงดูหรือครอบครอง ซื้อขาย ฯลฯ หากฝ่าฝืนจะมีความผิด จำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ลักษณะ
นกเงือก เป็นนกป่าขนาดใหญ่ ที่มีจุดเด่น คือ จะงอยปากหนาที่ใหญ่และมีโหนกทางด้านบนเป็นโพรง ภายในโพรงมีเนื้อเยื่อคล้ายฟองน้ำ ส่วนใหญ่ลำตัวมีสีขาวดำหางยาว ปีกกว้างใหญ่ บินได้แข็งแรง เวลาบินจะโบกปีกช้าๆ กินผลไม้เป็นอาหารหลัก และสัตว์เลื้อยคลานเล็กๆ เป็นอาหารเสริม ทำรังในโพรงไม้ ตัวเมียจะเข้าไปกกไข่ในโพรงโดยใช้โคลนและมูลปิดปากโพรงไว้ เหลือเพียงช่องพอให้ตัวผู้ยื่นส่งอาหารเข้าไปได้ เมื่อลูกนกโตพอแล้ว จึงเจาะโพรงออกมา
และจากจะงอยปากและส่วนหัวที่ใหญ่เหมือนโหนกหรือหงอนนั้น ทำให้นกเงือกถูกใช้ในเชิงสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมมาแต่โบราณ โดยใช้ทำเป็นเครื่องประดับของชนเผ่าต่างๆ
การทำรัง
นกเงือก มีลักษณะการทำรังที่แปลกจากนกอื่น คือ เมื่อถึงฤดูกาลทำรัง นกคู่ผัวเมียจะพากันหารัง ซึ่งได้แก่ โพรงไม้ตามต้นไม้ใหญ่ เช่น ต้นยาง ที่อยู่ในที่ลับตา เมื่อตัวเมียเข้าไปอยู่ในโพรง จะทำความสะอาดแล้วเริ่มปิดปากโพรง ด้วยวัสดุต่างๆ เช่น ดิน เปลือกไม้ ตัวเมียจะขังตัวเองอยู่ภายในเพื่อออกไข่และเลี้ยงลูก
แสดงความสมบูรณ์ของป่า
นกเงือก เป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติได้ประการหนึ่ง เนื่องจากจะอาศัยอยู่ในป่าหรือพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์เท่านั้น เนื่องจากนกเงือกเป็นนกขนาดใหญ่ถึงใหญ่มาก กินทั้งผลไม้และสัตว์เป็นอาหาร อีกทั้งธรรมชาติในการหากินต้องอาศัยพื้นที่ป่าที่กว้าง และยังเป็นตัวแพร่กระจายพันธุ์พืชชนิดต่างๆ ในป่าได้อย่างดีอีกด้วย เนื่องจากเป็นนกที่กินผลไม้ชนิดต่างๆ ได้ถึง 300 ชนิด และทิ้งเมล็ดไว้ตามที่ต่างๆ
นกเงือก ในประเทศไทย
ประเทศไทยมี นกเงือก 13 ชนิด ด้วยกัน โดยในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งมีอาณาเขตส่วนหนึ่งอยู่ในจังหวัดนครราชสีมา มี 4 ชนิด ได้แก่ นกกก หรือ นกกะวะ หรือ นกกาฮัง นกเงือกสีน้ำตาล นกเงือกกรามช้าง หรือ นกกู่กี๋ และนกแก๊ก หรือนกแกง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา พบ 9 ใน 12 ชนิดของนกเงือกที่พบในไทย ได้แก่ นกเงือกปากย่น นกเงือกชนหิน นกแก๊ก นกกก นกเงือกหัวหงอก นกเงือกปากดำ นกเงือกหัวแรด นกเงือกดำ นกเงือกกรามช้าง
ข้อมูล : e-library.siam.edu / วิกิพีเดีย / มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก /