'บอแรกซ์' สารปนเปื้อน อันตราย ที่มักแฝงใน อาหาร ใครว่ารักษาโรคได้
เป็นข่าวครึกโครมอยู่บ่อยครั้ง กับการตรวจจับ 'สารบอแรกซ์' ปนเปื้อนในอาหาร แล้ว 'บอแรกซ์' อันตรายมากแค่ไหน ใครว่ารักษาโรคได้
อาหารในปัจจุบัน อาจมีสารปนเปื้อนซ่อนอยู่ โดยเฉพาะจำพวก ลูกชิ้น ไส้กรอก ที่เรามักพบ "สารบอแรกซ์" ถูกนำมาผสมในอาหาร เพื่อถนอม และเพิ่มความกรอบ แต่บอแรกซ์ เป็นสารเคมีอันตรายที่ห้ามใช้ในการประกอบอาหาร ซึ่งหากร่างกายได้รับในปริมาณที่มากเกินไป จะทำให้เกิดพิษสะสม และเป็นอันตรายต่อร่างกายได้
บอแรกซ์ หรือโซเดียมโบเรท (Sodium Borate) คือ สารเคมีชนิดหนึ่งที่มีลักษณะเป็นผงสีขาว ไม่มีกลิ่นสามารถละลายน้ำ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 151 (พ.ศ. 2536) ที่กำหนดให้บอแรกซ์เป็นวัตถุที่ห้ามใช้ในอาหารโดยเด็ดขาด เพราะหากบริโภคสารบอแรกซ์เข้าไป อาจทำให้เกิดพิษสะสมในร่างกาย โดยหากกินผงบอแรกซ์เข้าไปจำนวนมาก อาจทำให้เกิดการระคายเคือง หรือเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินอาหารอย่างรุนแรง
ผลร้ายจากบอแรกซ์
พญ.สุทธิมน ธรรมเตโช ฝ่ายอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ให้ข้อมูลว่า หากได้รับสารบอแรกซ์ปริมาณเล็กน้อย อาจทำให้เกิดการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย แต่หากได้รับสารปริมาณสูงมาก อาจทำให้ไตวาย ตับวาย หรือเสียชีวิตได้ แต่หากได้รับสารบอแรกซ์ปริมาณน้อย ๆ อย่างต่อเนื่อง จะทำให้มีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ผิวหนังแห้ง หนังตาบวม เยื่อตาอักเสบ และไตอักเสบ
อาหารที่มีส่วนประกอบของบอแรกซ์ที่พบได้บ่อย
ในเนื้อสัตว์ เช่น หมูสด หมูบด เนื้อวัว ปลา หรืออาหารแปรรูปจากเนื้อสัตว์ เช่น ลูกชิ้น หมูยอ ไส้กรอก ทอดมัน อาหารหวาน เช่น ทับทิมกรอบ ลอดช่อง ผัก และผลไม้ ผัก และผลไม้หมักดอง
การป้องกันอันตรายจากสารบอแรกซ์
- หลีกเลี่ยงการซื้อเนื้อหมู ที่มีสีแดงสดจนเกินไป
- หลีกเลี่ยงการซื้อเนื้อหมูบด ควรซื้อเนื้อสดมาบดเอง
- ไม่ควรรับประทานของทอด โดยเฉพาะของที่ผ่านการทอดนาน ๆ แต่ยังกรอบ
- เลือกซื้อเนื้อสัตว์จากร้านที่มีคุณภาพ สะอาด ปลอดภัย ได้มาตรฐาน
- ล้างเนื้อสัตว์ให้สะอาดก่อนนำไปทำอาหาร
การตรวจสอบสารบอแรกซ์ในอาหาร
- เลือกอาหารเป็นชิ้นเล็ก ๆ
- ตักใส่อุปกรณ์ชุดทดสอบ
- เติมน้ำยาทดสอบบอแรกซ์จนเปียกชุ่ม แล้วคนให้เข้ากัน
- จุ่มกระดาษขมิ้นลงไปในอุปกรณ์ทดสอบ โดยให้กระดาษเปียกครึ่งแผ่น
- นำกระดาษขมิ้นไปตากแดดประมาณ 10 นาที
- หากกระดาษขมิ้นมีสีแดง แปลว่ามีบอแรกซ์ปนเปื้อนอยู่
ก่อนหน้านี้ ตามกระแสโซเชียล มีการชักชวนให้กินบอแรกซ์ ว่ารักษาโรคได้สารพัด กินแล้วหายป่วย กินแล้วไม่เห็นตาย ทั้งที่บอแรกซ์เป็นสารเคมีที่ห้ามใส่ในอาหารทุกชนิด ไม่เป็นความจริง ยังไม่มีผลวิจัยยืนยันว่า สารบอแรกซ์ เป็นยารักษาโรค แต่ยังเป็นอันตรายหากบริโภคในปริมาณที่มาก และสะสมในร่างกาย
ประโยชน์ของบอแรกซ์
ใครว่ามีแต่โทษ ประโยชน์ของบอแรกซ์ก็มี แต่จะเป็นในส่วนของภาคอุตสาหกรรม ที่นิยมใช้ผงบอแรกซ์ในการผลิตแก้ว ภาชนะเคลือบ ชุบโลหะ เพื่อทำให้วัสดุทนทานความร้อนได้ดีขึ้น หรือใช้ในการผสมสูตรผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าเชื้อราเพื่อการดูแลรักษาเนื้อไม้ และใช้เป็นตัวประสานเชื่อมทอง เป็นต้น
ข้อมูล : โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์