'วันภาษาแม่สากล' สนับสนุนให้เห็นความสำคัญของ ภาษาแม่ และใช้อย่างถูกต้อง
21 กุมภาพันธ์ 'วันภาษาแม่สากล' รือ วันภาษาแม่นานาชาติ วันที่สนับสนุนให้เห็นความสำคัญของ ภาษาแม่ และใช้ได้อย่างถูกต้อง
21 กุมภาพันธ์ 2566 'วันภาษาแม่สากล' (International Mother Language Day) หรือ วันภาษาแม่นานาชาติ ซึ่ง องค์การระหว่างประเทศ หรือ ยูเนสโก ได้มีมติเมื่อวันที่ 17 พ.ย. พ.ศ.2542 กำหนดให้วันที่ 21 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็น 'วันภาษาแม่สากล' เพื่อสนับสนุนส่งเสริมให้ทุกคนเห็นความสำคัญของ ภาษาแม่ และใช้ภาษาแม่ของตนเองได้อย่างถูกต้อง
เพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนให้คนทุกกลุ่มชนตระหนักถึงความสำคัญของภาษาแม่ที่นับเป็นมรดกทางด้านภาษาของแต่ละวัฒนธรรม
'วันภาษาแม่สากล' มีจุดเริ่มต้นมาจากเหตุการณ์เรียกร้องสิทธิและเสรีภาพในการใช้ภาษาบังคลา หรือ ภาษาเบงกาลี ซึ่งเป็นภาษาแม่ของนักศึกษาชาวบังกลาเทศ ในประเทศปากีสถาน เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ในปี พ.ศ. 2495 (ค.ศ. 1952) ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้น นำมาซึ่งการบาดเจ็บและการสูญเสีย เพื่อให้มนุษยชาติได้ตระหนักถึงพลังและความสำคัญของภาษาแม่ รวมถึงสิทธิทางภาษาของทุกกลุ่มชาติพันธุ์บนโลก
จากนั้น ยูเนสโก ได้ให้ความสำคัญ กำหนดให้ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็น 'วันภาษาแม่สากล' ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 เป็นต้นมา โดย ภาษาแม่ หรือ ภาษาท้องถิ่น นับเป็นเครื่องมือสำคัญของการพัฒนาการอ่านออกเขียนได้ของเยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์อีกด้วย
'ภาษาแม่' นั้น ถือเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น และเป็นสื่อกลางในการสร้างความเข้าใจ และก่อให้เกิดการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลาย และความแตกต่างของมนุษย์ อีกทั้งยังทำให้ได้เข้าถึง เรียนรู้รากเหย้าที่มาของประวัติศาสตร์ชุมชนของตนเอง เรื่องของภาษานั้น ยังมีความเกี่ยวพันรอบตัวกับการใช้ชีวิตในทุกด้าน ทั้งการสื่อสาร ความสัมพันธ์ ความรัก หรือแม้แต่ยังเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจฐานราก เสน่ห์อันเป็นอัตลักษณ์ที่ยังประโยชน์ภายในชุมชนท้องถิ่น และยังเป็นจุดเด่นจุดขาย ที่ดึงดูดผู้คนจากทุกมุมโลกที่ต่างออกไป ให้ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์อันเป็นมรดกทางภูมิปัญญา เกิดเป็น การท่องเที่ยวชุมชน และ เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ นำมาซึ่งความสัมพันธ์โยงใยกันไปในทั่วโลก
เราคงรู้สึกได้ไม่ต่างกันว่า บางครั้งเราอาจพูดคุยกันต่างภาษา แต่ว่าเราสามารถเข้าใจกันได้ ต่างเรียนรู้ซึ่งกัน เพื่อที่จะสื่อสาร แบ่งปัน และต่อยอด แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมให้เกิดสันติสุข และค้นพบโลกในมุมที่ต่างออกไป
ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)