'วันมาฆบูชา 2566' ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 ปีนี้ตรงกับวันไหน สำคัญอย่างไร
'วันมาฆบูชา' เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญในพระพุทธศาสนา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 แต่ถ้าปีใดมีเดือนอธิกมาส คือมีเดือน 8 สองครั้ง วันมาฆบูชาก็จะเลื่อนไปเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 และมักตรงกับเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม
ปีนี้ วันมาฆบูชา 2566 ตรงกับวันที่ 6 มี.ค. วันมาฆบูชา คือเป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง "โอวาทปาติโมกข์" แก่พระสงฆ์เป็นครั้งแรก หลังจากตรัสรู้มาแล้วเป็นเวลา 9 เดือน ซึ่งหลักคำสอนนี้เป็นหลักการ และวิธีการปฏิบัติต่าง ๆ หากสรุปเป็นใจความสำคัญ จะมีเนื้อหาว่า "ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์"
ทั้งนี้ในวันมาฆบูชาได้เกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้นพร้อมๆ กันถึง 4 ประการ ได้แก่
- วันนั้นตรงกับวันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ซึ่งพระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์
- มีพระสงฆ์จำนวน 1,250 รูป มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ เพื่อสักการะพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
- พระสงฆ์ที่มาประชุมทั้งหมดล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ ผู้ได้อภิญญา 6
- พระสงฆ์ทั้งหมดได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้า หรือ "เอหิภิกขุอุปสัมปทา"
และเพราะเกิดเหตุอัศจรรย์ 4 ประการข้างต้น ทำให้วันมาฆบูชา เรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่า "วันจาตุรงคสันนิบาต" หมายความว่า "การประชุมด้วยองค์ 4" ทั้งนี้วันมาฆบูชาถือว่าเป็นวันพระธรรม ขณะที่วันวิสาขบูชาถือว่าเป็นวันพระพุทธ ส่วนวันอาสาฬหบูชา เป็นวันพระสงฆ์
สำหรับ “วันมาฆบูชา” ในประเทศไทยไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีในสมัยใด อย่างไรก็ตามในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือน อันเป็นบทพระราชนิพนธ์ของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีเรื่องราวเกี่ยวกับการประกอบราชกุศลมาฆบูชาไว้ว่า ประเทศไทยเริ่มกำหนดพิธีปฏิบัติในวันมาฆบูชาเป็นครั้งแรกในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งมีการประกอบพิธีเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2394 ในพระบรมมหาราชวังก่อน โดยมีพิธีพระราชกุศลในเวลาเช้า นมัสการพระสงฆ์จากวัดบวรนิเวศราชวรวิหารและวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร จำนวน 30 รูป ฉันภัตตาหารในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
เมื่อถึงเวลาค่ำ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออก ทรงจุดธูปเทียนนมัสการ พระสงฆ์ทำวัตรเย็นและสวดคาถาโอวาทปาติโมกข์ เมื่อสวดจบทรงจุดเทียน 1,250 เล่ม รอบพระอุโบสถ มีการประโคมอีกครั้งหนึ่งแล้วจึงมีการเทศนาโอวาทปาติโมกข์ 1 กัณฑ์ เป็นทั้งเทศนาภาษาบาลี และภาษาไทย ส่วนเครื่องกัณฑ์ประกอบด้วยจีวรเนื้อดี 1 ผืน เงิน 3 ตำลึง และขนมต่าง ๆ เมื่อเทศนาจบ พระสงฆ์ 30 รูป สวดรับในสมัยรัชกาลที่ 4 นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเสด็จออกประกอบพิธีด้วยพระองค์เองทุกปี แต่มีการยกเว้นบ้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เนื่องจากบางครั้งตรงกับช่วงเสด็จประพาสก็จะทรงประกอบพิธีมาฆบูชาในสถานที่นั้นๆ ขึ้นอีกแห่ง นอกเหนือจากภายในพระบรมมหาราชวัง
ต่อมาการประกอบพิธีมาฆบูชาได้แพร่หลายออกไปภายนอกพระบรมมหาราชวัง และประกอบพิธีกันทั่วราชอาณาจักร ทางรัฐบาลจึงประกาศให้เป็นวันหยุดทางราชการด้วย เพื่อให้ประชาชนจากทุกสาขาอาชีพได้ไปวัด เพื่อทำบุญกุศลและประกอบกิจกรรมทางศาสนา