ไลฟ์สไตล์

รู้จัก 'โซเดียมไทโอซัลเฟต' ทำไมมีสรรพคุณ ใช้เป็น 'ยาแก้พิษไซยาไนด์'

รู้จัก 'โซเดียมไทโอซัลเฟต' ทำไมมีสรรพคุณ ใช้เป็น 'ยาแก้พิษไซยาไนด์'

28 เม.ย. 2566

'โซเดียมไทโอซัลเฟต' ที่เรียกว่าเป็น 'ยาแก้พิษไซยาไนด์' ทำไม แอม ถึงรู้จัก และนำมาใช้ในการก่อคดี ฆาตกรรมต่อเนื่อง

ชื่อของ “โซเดียมไทโอซัลเฟต” หรือ ยาแก้พิษไซยาไนด์ ถูกค้นหาอีกครั้ง ต่อเนื่องจาก “ไซยาไนด์” หลังการตรวจสอบคดี “แอมไซยาไนด์” พบว่า แอม มีการสั่งซื้อ “โซเดียมไทโอซัลเฟต” ผ่านช่องทางออนไลน์ นั่นหมายความว่า เธอมีความเชี่ยวชาญ มีการศึกษาหาข้อมูล เพื่อก่อเหตุฆาตกรรม

 

 

โซเดียมไทโอซัลเฟต เรียกได้ว่า เป็นยาต้านพิษไซยาไนด์ และ เป็นยารักษาโรคเชื้อราที่ผิวหนัง แต่หากจะใช้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย และเกิดประโยชน์สูงสุด จะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น แต่ทำไม “แอม” จึงสามารถสั่งซื้อ และนำมาใช้ เพื่อต้านพิษ ไซยาไนด์ ได้

 

โซเดียมไทโอซัลเฟต คืออะไร

 

โซเดียมไทโอซัลเฟต หรือ โซเดียมไธโอซัลเฟต (Sodium thiosulfate หรือ Sodium thiosulphate) จัดเป็นสารประกอบอนินทรีย์ ที่มีลักษณะเป็นผลึกไม่มีสี สามารถละลายน้ำได้ดี มีประโยชน์ในทางคลินิก คือ การนำมาใช้ต้านพิษของสารไซยาไนด์ (Cyanide) โดยมีรูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้ในรูปของสารละลายสำหรับฉีด และใช้ควบคู่ไปกับโซเดียมไนไตรท์ (Sodium nitrite) นอกจากนี้ ยังมีการนำโซเดียมไทโอซัลเฟต มาใช้เป็นยาป้องกันเชื้อราในรูปแบบของยาทาภายนอกอีกด้วย

 

รูปแบบของยาโซเดียมไทโอซัลเฟต

 

  • ยาฉีด ที่เป็นสารละลาย ขนาด 12.5 กรัม/50 มิลลิลิตร (สำหรับรักษาอาการของผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากสารไซยาไนด์)
  • ยาน้ำ ชนิด 20-25% (สำหรับทารักษาเกลื้อน) เป็นยาน้ำที่ทาง่าย ไม่เหนียวเหนอะหนะ มีราคาถูก และใช้ได้ผลดี แต่มีข้อเสียคือ มีกลิ่นคล้ายก๊าซไข่เน่า

 

โซเดียมไทโอซัลเฟต

สรรพคุณของโซเดียมไทโอซัลเฟต

 

  • ใช้เป็นยารักษา และบำบัดอาการของผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากสารไซยาไนด์ (Cyanide poisoning) โดยในทางคลินิก จะใช้ยานี้ควบคู่ไปกับยาโซเดียมไนไตรท์ (Sodium nitrite) แต่หากได้รับพิษจากสารไซยาไนด์ที่ไม่รุนแรงมาก ก็อาจใช้แค่ยาโซเดียมไทโอซัลเฟต (Sodium thiosulfate) เพียงตัวเดียวก็ได้
  • ใช้เป็นยาทาเพื่อรักษาโรคเชื้อราที่ผิวหนัง โดยเฉพาะการใช้รักษาเกลื้อน

 

ใครบ้างไม่ควรใช้ยาโซเดียมไทโอซัลเฟต

 

แม้โซเดียมไทโอซัลเฟต จะมีสรรพคุณ เป็นยาแก้ไซยาไนด์ แต่ก็มีข้อห้าม และ ข้อควรระวัง โดยห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่เคยมีประวัติการแพ้ยาโซเดียมไทโอซัลเฟต (Sodium thiosulfate) ห้ามเก็บ และใช้ยาที่หมดอายุ ควรระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง, ผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลว, ผู้ป่วยโรคตับแข็ง, ผู้ป่วยโรคไต, หญิงตั้งครรภ์ที่ป่วยด้วยภาวะครรภ์เป็นพิษ ซึ่งเน้นย้ำว่า ควรระวังการใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร

 

                      ยาโซเดียมไทโอซัลเฟต

 

วิธีการใช้ยาโซเดียวไทโอซัลเฟต

 

การใช้สำหรับรักษาอาการของผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษจากไซยาไนด์ แพทย์จะมีแนวทางในการรักษา ดังนี้

 

  • ในผู้ใหญ่ แพทย์จะใช้ยาโซเดียมไนไตรท์ (Sodium nitrite) ในรูปของสารละลาย ฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำอย่างช้าๆ ภายในช่วง 5-20 นาที ในขนาด 300 มิลลิกรัม จากนั้น จะใช้ยาโซเดียมไทโอซัลเฟต (Sodium thiosulfate) ในขนาด 12.5 กรัม ในรูปของสารละลาย 25% จำนวน 50 มิลลิลิตร โดยฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำอย่างช้าๆ เป็นเวลาประมาณ 10 นาที และแพทย์อาจพิจารณาให้ยาโซเดียมไนไตรท์ และโซเดียมไทโอซัลเฟตซ้ำอีก หลังจากการให้ยาครั้งแรกไปแล้วประมาณ 30 นาที โดยอาจลดปริมาณยาทั้งสองตัวเหลือเพียงครึ่งหนึ่ง
  • ในเด็ก แพทย์จะใช้ยาโซเดียมไนไตรท์ (Sodium nitrite) ในรูปของสารละลายฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ ในขนาด 4-10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (สูงสุดไม่เกิน 300 มิลลิกรัม) หลังจากนั้น จะให้ยาโซเดียมไทโอซัลเฟต (Sodium thiosulfate) ในขนาด 400 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ในรูปของสารละลาย (สูงสุดไม่เกิน 12.5 กรัม) และแพทย์อาจพิจารณาให้ยาซ้ำ หลังจากการให้ยาครั้งแรกประมาณ 30 นาที โดยอาจลดปริมาณยาเหลือเพียงครึ่งหนึ่ง

 

ผลข้างเคียงยาโซเดียมไทโอซัลเฟต

 

สำหรับยาโซเดียมไทโอซัลเฟตแบบฉีด อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง (อาการอันไม่พึงประสงค์) ได้ เช่น การมีอาการกระสับกระส่าย กล้ามเนื้อเป็นตะคริว ตาพร่า ประสาทหลอน คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปัสสาวะมาก ความดันโลหิตต่ำ มีอาการปวดบริเวณข้อต่อต่างๆ ของร่างกาย และอาจพบภาวะหูดับ เป็นต้น

 

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับในประเทศไทย คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้บรรจุให้ยาโซเดียมไทโอซัลเฟต อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นยาแก้พิษไซยาไนด์ และใช้เป็นยาทาเพื่อรักษาโรคเชื้อราที่ผิวหนัง ซึ่งการใช้ยานี้ได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย และเกิดประโยชน์สูงสุดจะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น

 

 

 

 

 

ที่มา : MEDTHAI