ย้อนเส้นทาง 'วันชาติ' ก่อนจะกำหนดใช้ 5 ธ.ค. เป็น 'วันชาติไทย' นานกว่า 6 ทศวรรษ
ย้อนเส้นทาง 'วันชาติ' ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร ก่อนประเทศไทยจะกำหนดใช้ วันที่ 5 ธ.ค. ของทุกปี เป็น 'วันชาติไทย' มานานกว่า 60 ปี
จากเหตุที่ รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคก้าวไกลเสนอให้เปลี่ยน "วันชาติ" จากวันที่ 5 ธ.ค. กลับไปเป็นวันที่ 24 มิ.ย. แม้จะมีผู้ออกมาชี้แจงแล้วว่าเป็นเพียงการแสดงความเห็นส่วนตัวไม่ใช่นโยบายพรรคขอให้สบายใจ แต่หลายคนเกิดคำถามว่าต้องการเปลี่ยน “วันชาติ” เพื่ออะไร วันนี้ คมชัดลึก จะพาไปย้อนอนรู้จัก “วันชาติ” ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร ก่อนจะกำหนดใช้ วันที่ 5 ธ.ค. เป็น “วันชาติไทย” มานานกว่า 60 ปี
วันชาติ เป็นวันสำคัญและวันหยุดราชการในประเทศไทย เคยกำหนดใช้หลายวัน คือ ตั้งแต่ปี 2463 เป็นอย่างน้อย ใช้วันที่ 6 เม.ย. ตรงกับวันจักรี กระทั่งปี 2481 จึงใช้วันที่ 24 มิ.ย. ตรงกับวันปฏิวัติสยาม 2475 จนในปี 2503 จึงยกเลิกไปและแทนที่ด้วย วันเฉลิมฉลองของชาติ ซึ่งตรงกับวันที่ 5 ธ.ค. วันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) แทน ต่อมาในปี 2560 จึงรื้อฟื้น วันชาติไทย ขึ้นอีกครั้ง โดยกำหนดให้ตรงกับวันที่ 5 ธ.ค. วันพระบรมราชสมภพของรัชกาลที่ 9
6 เมษายน
ในปี 2463 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร อัครราชทูตสยามในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส มีโทรเลข ลงวันที่ 2 ก.ค. แจ้งกระทรวงการต่างประเทศสยามว่า รัฐบาลสเปนขอทราบถึง วันชาติสยาม เพื่อจะลงไว้ในหนังสือทางการทูต และพระองค์เจ้าจรูญฯ ไม่ทราบจะตอบอย่างไรดี เพราะสถานทูตในกรุงปารีสเคยฉลองอยู่ 3 วัน คือ วันเฉลิมพระชนมพรรษา วันขึ้นปีใหม่ และวันขึ้นครองราชย์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จึงทูลถามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) และหม่อมเจ้าธานีนิวัต ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนราชเลขาธิการ มีหนังสือตอบกลับมาว่า รัชกาลที่ 6 ทรงเห็นว่า "ควรบอกไป วันที่ 6 เม.ย. ซึ่งเป็นวันที่เราเรียกกันว่าวันจักรี”
24 มิถุนายน
ต่อมาเมื่อเกิดการปฏิวัติสยามในวันที่ 24 มิ.ย. 2475 แล้ว รัฐบาลซึ่งมี พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) นายกรัฐมนตรี ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 18 ก.ค. 2481 ให้ใช้วันที่ 24 มิ.ย. เป็นวันชาติ เพื่อรำลึกถึงการที่คณะราษฎรเปลี่ยนแปลงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยในการปฏิวัติสยามนั้น
ในปีถัดมา มีการจัดงานเฉลิมฉลองวันชาติ 24 มิ.ย. เป็นครั้งแรก ซึ่งดำเนินไปอย่างยิ่งใหญ่ภายใต้รัฐบาลอันมี จอมพล แปลก พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี
ใน วันชาติ ปี 2482 นั้น จอมพล แปลก ยังประกาศเปลี่ยนชื่อประเทศจาก "สยาม" เป็น "ไทย" และให้เผยแพร่ "เพลงวันชาติ" เป็นครั้งแรก อันเป็นเพลงที่มนตรี ตราโมท แต่ง และชนะการประกวดซึ่งรัฐบาลจัดขึ้น
จอมพล แปลก ยังออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 28 ก.พ. 2482 ให้หยุดราชการ 3 วันเนื่องในวันชาติ ได้แก่ วันที่ 23, 24 และ 25 มิ.ย. ของทุกปี ต่อมา ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 6 ส.ค. 2491 ให้เปลี่ยนเป็นหยุดวันเดียว คือ 24 มิ.ย. ของทุกปี
5 ธันวาคม
เมื่อ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อรัฐประหารใน พ.ศ. 2501 และขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ได้ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 21 พ.ค. 2503 ให้แทนที่วันชาติด้วย "วันเฉลิมฉลองของชาติ" ซึ่งตรงกับวันที่ 5 ธ.ค. วันพระบรมราชสมภพของรัชกาลที่ 9 ประกาศดังกล่าวระบุว่า การกำหนดวันที่ 24 มิ.ย. เป็นวันชาติ มีข้อที่ไม่เหมาะสมหลายประการ คณะรัฐมนตรีจึงตั้งคณะกรรมการขึ้นพิจารณา โดยมี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ เป็นประธาน และได้ข้อสรุปว่า ให้กำหนดวันที่ 5 ธ.ค. วันพระบรมราชสมภพ เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติแทน เพื่อให้เป็นไปตามขนบประเพณีของประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และเป็นการสมัครสมานสามัคคีรวมจิตใจของบุคคลในชาติโดยทั่วกัน
ในโอกาสเดียวกัน จอมพล สฤษดิ์ ยังออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 8 มิ.ย. 2503 ให้ยกเลิกการหยุดราชการในวันชาติด้วย
หลังเกิดรัฐประหาร 2557 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหารซึ่งขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ได้ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 7 ก.พ. 2560 ว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ (รัชกาลที่ 10) มีพระราชโองการให้กำหนดวันที่ 5 ธ.ค. วันพระบรมราชสมภพของรัชกาลที่ 9 พระราชบิดา เป็นวันสำคัญของประเทศ 3 วัน คือ วันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของรัชกาลที่ 9 วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 6 ก.พ. 2560 ประกาศดังกล่าวระบุเหตุผลว่า เพื่อ "น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและตระหนักถึงความสำคัญของวันที่ 5 ธ.ค. ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษา และยังออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 9 ก.พ. 2560 ว่า ให้หยุดราชการในวันชาติ ของทุกปี นับตั้งแต่วันที่ 7 ก.พ. ปีนั้นเป็นต้นมา
ต่อมาในวันที่ 21 พ.ค. 2562 รัชกาลที่ 10 ทรงออกประกาศซ้ำ มีเนื้อความอย่างเดียวกัน คือ ให้กำหนดวันที่ 5 ธ.ค. เป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของรัชกาลที่ 9 วันชาติไทย และวันพ่อแห่งชาติ