'วันอนุรักษ์เสือโลก' ร่วมอนุรักษ์ เสือโคร่ง ผู้ล่าสูงสุดของ ระบบนิเวศ
'วันอนุรักษ์เสือโคร่งแห่งชาติ' หรือ 'วันอนุรักษ์เสือโลก' สร้างความตระหนักในการอนุรักษ์ เสือโคร่ง ผู้ล่าอันดับสูงสุดของ ระบบนิเวศ
'วันอนุรักษ์เสือโคร่งแห่งชาติ' (International Tiger Day) หรือ 'วันอนุรักษ์เสือโลก' (Global Tiger Day) เป็นวันระลึกประจำปี เพื่อสร้างความตระหนักในการอนุรักษ์ เสือโคร่ง ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 29 ก.ค. ของทุกปี วันดังกล่าวได้รับการกำหนดขึ้นจากการประชุมว่าด้วยเรื่องเสือโคร่งที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ใน ค.ศ. 2010
โดยมีเป้าหมายคือส่งเสริมให้ทั้งโลกได้มีการปกป้องที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ และเพื่อสร้างความตระหนักของประชาชน ตลอดจนการสนับสนุนสำหรับการอนุรักษ์เสือโคร่ง
เสือโคร่ง (Panthera tigris) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม อยู่ในอันดับสัตว์กินเนื้อ (Carnivora) ในวงศ์ Felidae เสือโคร่งจัดเป็น เสือ ชนิดที่ใหญ่ที่สุด และเป็นสัตว์กินเนื้อที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในไทยอีกด้วย
เสือโคร่ง มีบทบาทสำคัญใน ระบบนิเวศ คือ เป็นผู้ล่าอันดับสูงสุดของระบบนิเวศ และเป็นหนึ่งใน Keystone species ที่คอยควบคุมประชากรสัตว์กินพืช (Herbivore) ไม่ให้ประชากรของสัตว์กินพืชที่เป็นเหยื่อมีมากเกินไป รวมถึงสัตว์ผู้ล่าขนาดกลางและขนาดเล็ก เพื่อรักษาสมดุลในระบบนิเวศป่า การมีอยู่ของเสือโคร่งจึงถือเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าและระบบนิเวศได้เป็นอย่างดี
ช่วงครึ่งทศวรรษที่ผ่านมา เสือโคร่ง ในผืนป่าของไทยมีจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการทำงานอย่างหนักของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ที่นำเอาระบบการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart patrol) เข้ามาใช้ โดยพบเสือโคร่งมากที่สุดในบริเวณผืนป่าตะวันตก ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง จึงเป็นแหล่งอนุรักษ์เสือโคร่งที่สำคัญของประเทศไทย
ถ้ารวมผืนป่าตลอดแนวด้านตะวันตกของไทยเข้ากับป่าตามแนวชายแดนของพม่า จะทำให้พื้นที่นี้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของเสือโคร่งมากเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากอินเดีย
ถึงแม้ว่าในไทยแนวโน้มของประชากร เสือโคร่ง จะเพิ่มมากขึ้น แต่ปัจจุบันเสือโคร่งอินโดจีน (Panthera tigris corbetti) ยังอยู่ในสถานะภาพใกล้สูญพันธุ์ (Endangered) ของ IUCN รวมถึง อนุสัญญา CITES กำหนดให้เสือโคร่งอยู่ในบัญชีที่ 1 คือห้ามทำการค้าโดยเด็ดขาด ซึ่งภัยคุกคามที่สำคัญของเสือโคร่ง ล้วนเกิดจากน้ำมือมนุษย์ทั้งสิ้น ทั้งการทำลายหรือเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าที่เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของเสือโคร่ง การล่าเพื่อการค้า การซื้อขายครอบครอง รวมถึงการล่าสัตว์ป่าที่เป็นเหยื่อของเสือโคร่งอีกด้วย
ข้อมูล : มูลนิธิสืบนาคะเสถียร