ไลฟ์สไตล์

ไม่ระบุศาสนาในบัตรประชาชนทำได้แล้วนะ ทำอย่างไรเช็กได้ที่นี่

ใครไม่นับถือศาสนา หรือนับถือ 5 ศาสนานี้ แต่ไม่อยากเปิดเผย เพราะกลัวข้อมูลหลุดไปใช้ในทางเสียหาย สามารถขอให้เจ้าหน้าที่ "ไม่ระบุศาสนาในบัตรประชาชน" ได้ เป็นสิทธิบุคคล และศาสนาเป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความอ่อนไหว

เมื่อ "การนับถือศาสนา" กับคนรุ่นใหม่คิดว่าไม่มีผลต่อการใช้ชีวิต ทำให้มีผู้ไม่นับถือศาสนามากขึ้นเรื่อยๆ ข้อมูลสำรวจสำมะโนประชากรของอังกฤษและเวลส์ ค.ศ. 2022 พบว่า จำนวนผู้ไม่นับถือศาสนาเพิ่มเป็น 37% จาก 25% ในระยะเวลา 11 ปี (ตั้งแต่ ค.ศ. 2011) รองจากผู้นับถือศาสนาคริสต์ที่อยู่ที่ 46.2% ลดลงจาก 59.3% จากการสำรวจครั้งก่อน 

 

กฎกระทรวงฉบับ 23 (ปี 2554)

 

 

ขณะที่หลายคนกลับเรียกร้องบรรจุศาสนาให้ครอบคลุม เพื่อจะได้มีสิทธิแสดงความเชื่อทางศาสนาบนหน้าบัตรประจำตัวประชาชน เพราะกฎหมายไทยสามารถระบุการนับถือศาสนาได้เพียง 5 ศาสนาเท่านั้น ได้แก่ ศาลนาพุทธ คริสต์ อิสลาม ฮินดู และศาสนาซิกซ์

 

 

 

เพื่อแก้ปัญหานี้ กระทรวงมหาดไทยจึงเพิ่มเติมกฎกระทรวงฉบับที่ 23 (พ.ศ. 2554) ออกตามความใน พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526 จะระบุหรือ "ไม่ระบุศาสนาในบัตรประชาชน" ก็ได้

 

 

 

ดูเหมือนว่าการเพิ่มเติมกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว กลับเป็นผลดีสำหรับผู้ที่ "ไม่ระบุศาสนาในบัตรประชาชน" เพราะ "พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562" (PDPA) ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2565 ระบุว่า "ศาสนา" เป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความอ่อนไหว (ทางกฎหมาย) จึงต้องได้รับการคุ้มครอง หากหลุดออกไปอยู่กับผู้ใดโดยไม่ได้รับความยินยอม มีโทษทางแพ่ง อาญา และปกครอง 

 

ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยของข้อมูล รวมถึงเพื่อความปรองดองให้ทุกศาสนา ประชาชนสามารถเลือก "ไม่ระบุศาสนาในบัตรประชาชน" ได้ โดยแจ้งเจ้าหน้าที่ว่า "ไม่ระบุศาสนา" เจ้าหน้าที่จะเว้นว่างไว้ให้ หรือกรอกแบบฟอร์มแจ้งขอถ่ายบัตรประชาชนให้ระบุว่า "ไม่ระบุ" ตรงช่อง "นับถือศาสนา" 

 

 

แบบฟอร์มแจ้งความประสงค์ขอทำบัตรประจำตัวประชาชน

 

 

 

"ไม่ระบุศาสนาในบัตรประชาชน" อ้างอิงตาม พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน มาตรา 7 ขนาด สี และลักษณะของบัตร ตลอดจนรายการในบัตร และรายละเอียดของรายการในบัตร ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่ในบัตรอย่างน้อยต้องมีชื่อตัว ชื่อสกุล วันเดือนปีเกิด ที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน รูปถ่ายและเลขประจำตัวของผู้ถือบัตร

 

 

 

ส่วนรายการศาสนา หรือนิกายของศาสนา หรือลัทธินิยมในทางศาสนา ซึ่งผู้ถือบัตรนับถืออยู่ด้วยหรือไม่ก็ได้ 

 

 

 

กรณีอยากเปลี่ยนศาสนาก็สามารถไปแจ้งทำบัตรใหม่ได้เลย แต่จะมีเสียค่าธรรมเนียมฉบับละ 100 บาท ตามกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและยกเว้น ค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2559

 

 

 

 

สำหรับข้อมูลอ่อนไหว เช่น ศาสนา กรุ๊ปเลือด โรคประจำตัว เป็นต้น ตามมาตรา 26 แห่ง PDPA ได้กำหนดรายละเอียดข้อมูลอ่อนไหวไว้ว่า ข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ความคิดเห็นทางการเมือง ความเชื่อในลัทธิ ศาสนาหรือปรัชญา พฤติกรรมทางเพศ ประวัติอาชญากรรมข้อมูลสุขภาพ ความพิการ ข้อมูลสหภาพแรงงาน ข้อมูลพันธุกรรม ข้อมูลชีวภาพ หรือข้อมูลอื่นใด ซึ่งกระทบต่อเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลในทำนองเดียวกันตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนดนั้นจัดเป็นข้อมูลอ่อนไหว

 

 

 

 

อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะเพิ่มเติมกฎกระทรวงมหาดไทยฉบับ 23 มีคนเห็นต่างในเวลานั้น อย่างสมาคมพุทธศาสน์สัมพันธ์ เรียกร้องผ่านคณะอนุกรรมาธิการกิจการพระพุทธศาสนา ในคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎรเรียกร้องให้มีการระบุศาสนาไว้ในบัตรประชาชน 

 

 

 

ด้านผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ในขณะนั้นได้ให้ความเห็นส่วนตัวเห็นว่า การระบุศาสนาพุทธในบัตรประชาชนควรจะคงไว้ เพราะจะทำให้รู้ว่า บุคคลนับถือศาสนาใดและจะได้รู้วิธีปฏิบัติ ยกตัวอย่างเวลาเดินทางโดยเครื่องบิน การรับประทานอาหารต้องแยกตามหลักศาสนา แต่ในที่สุดกระทรวงมหาดไทยก็ออกประกาศจะระบุหรือ "ไม่ระบุศาสนาในบัตรประชาชน" ก็ได้ 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ข่าวยอดนิยม