ไลฟ์สไตล์

'สารทจีน 2566' เตรียม ของไหว้ อย่างไรให้ถูกต้อง เสริมมงคลชีวิต 'วันสารทจีน'

'สารทจีน 2566' เตรียม ของไหว้ อย่างไรให้ถูกต้อง เสริมมงคลชีวิต 'วันสารทจีน'

29 ส.ค. 2566

การเตรียม ของไหว้ 'สารทจีน 2566' แนะจัดชุดไหว้อย่างไรให้ถูกต้อง แต่ละชุดจุดธูปกี่ดอก อาหารและเครื่องไหว้ที่สำคัญห้ามขาด ห้ามลืมสำหรับไหว้เสริมมงคลชีวิต 'วันสารทจีน'

 

เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญที่ลูกหลานจะแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ ใน วันสารทจีน สำหรับปีนี้ สารทจีน 2566 ตรงกับวันพุธที่ 30 ส.ค. 2566 วันนี้ลูกหลานชาวจีน หรือชาวไทยเชื้อสายจีนจะมีการนัดรวมญาติ เพื่อตั้งโต๊ะไหว้บรรพบุรุษ นอกจากนี้ยังมีความเชื่ออีกว่า วันสารทจีน  คือวันที่ เปิดประตูนรก หรือการเปิดทางให้ดวงวิญญาณมารับส่วนบุญได้ จึงมีพิธีกรรมและความเชื่อหลายอย่างที่ทำกันในวันนี้เพื่อดวงวิญญาณที่ล่วงลับไปแล้ว และเพื่อความสุขความเจริญของผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ และอีกสิ่งสำคัญที่ต้องจัดเตรียมใน วันสารทจีน 2566 คือ การเตรียมของไหว้ โดยปกติแล้วจะมีการจัดเตรียมไว้ทั้งหมด 3 ชุด ได้แก่ ชุดไหว้เจ้าที่, ชุดไหว้บรรพบุรุษ และชุดไหว้วิญญาณ ซึ่ง ของไหว้ สามารถจัดเตรียมได้ด้วยตัวเอง ดังนี้

 

สำหรับ ของไหว้ "สารทจีน 2566" ประกอบด้วย

 

อาหารคาว :  ได้แก่ เป็ด ไก่ ต้มทั้งตัว หมูพะโล้ ปลานึ่งหรือต้มทั้งตัว กุ้งลวกสุก ปู ปลาหมึก หรือในบางครั้งก็อาจจะมีของต้ม 2 - 3 อย่างนี้ ร่วมกับข้าวสวย ผัดหมี่ซั่ว หรือหมูพะโล้ และแกงที่มีน้ำ ตามแต่บ้านไหนจะสะดวกหรือเป็นอาหารที่บรรพบุรุษชอบ 

 

อาหารหวานและผลไม้ : หลังอาหารคาวจะมีของหวานและผลไม้เพื่อไหว้ ซึ่งนอกจากจะมีขนมเทียน ขนมเข่ง ขนมกุยช่าย ถ้วยฟู ซาลาเปา ขนมเปี๊ยะ จันอับ ขนมโก๋ ก็มักจะผลไม้ที่มีชื่อเป็นมงคล 3 - 5 อย่าง ส้ม กล้วย องุ่นแดง ลูกพลับ แก้วมังกร แอปเปิ้ลแดง สาลี่ ทับทิม และอาจมีฟักทองตามความเชื่อแต่ละบ้าน

 

เครื่องดื่ม :  น้ำชา น้ำเปล่า เหล้า 

 

อุปกรณ์ของไหว้ :  กระถางธูป เชิงเทียน กระดาษเงิน กระดาษทอง ธูป เทียนแดงสำหรับไหว้เจ้า แจกันใส่ดอกไม้

 

 

การไหว้ วันสารทจีน จะเริ่มจากไหว้เจ้าที่เจ้าทางก่อน แล้วต่อมาจึงไหว้บรรพบุรุษ และสุดท้ายคือชุดสำหรับไหว้วิญญาณ

 

 

ไหว้เจ้าที่

การไหว้เจ้าที่จะเริ่มไหว้ในตอนเช้า โดยจัด ชุดไหว้ วางไว้บนโต๊ะหน้าเจ้าที่หรือตี่จู่เอี้ย ถ้าหากวางบนพื้นควรปูเสื่อแล้วรองด้วยผ้าขาวก่อนนำ ของไหว้ มาวาง จากนั้นจัดวางกระถางธูป และเชิงเทียน

 

  • จัดอาหารคาว เช่น หมู เป็ด ไก่ ปลา ไข่ ข้าวสวยหรือผัดหมี่ รวม 3-5 อย่าง
  • จัดชุดขนมมงคล ที่แต้มจุดสีแดง อาทิ ขนมเข่ง ขนมเทียน ขนมเปี๊ยะ ขนมถ้วยฟู
  • วางผลไม้มงคล อาทิ ส้ม กล้วย สับปะรด องุ่น แก้วมังกร สาลี่
  • วางถ้วยน้ำชา 5 ถ้วย และอาจมีเหล้า 5 ถ้วยตามแต่ความเชื่อของแต่ละบ้าน
  • ชุดกระดาษไหว้เจ้าที่ แจกันใส่ดอกไม้ เชิงเทียนและเทียนแดง 1 คู่
  • จุดธูป 5 ดอก  เสร็จแล้วตั้งจิตอธิษฐานขอพร จากนั้นจึงค่อยทำการเผากระดาษเงินกระดาษทอง

 

 

ไหว้บรรพบุรุษ

หลายๆ ครอบครัวอาจจะทำการไหว้บรรพบุรุษพร้อมกับการไหว้เจ้าที่ หรือจัดไหว้บรรพบุรุษในตอนบ่าย

 

  • จัดอาหารคาว ประกอบด้วย หมู เป็ด ไก่ ปลา ไข่ ประมาณ 3-5 อย่าง
  • จัดวางอาหารที่บรรพบุรุษชอบ พร้อมข้าวสวย และตะเกียบ ตามจำนวนบรรพบุรุษ
  • วางชุดขนมมงคล และ ผลไม้มงคล
  • ชุดน้ำชา 5 ถ้วย และเหล้า 5 หรือตามจำนวนบรรพบุรุษ
  • วางแจกันใส่ดอกไม้ เชิงเทียนและเทียนแดง 
  • จุดธูป 3 ดอก เสร็จแล้วไหว้บรรพบุรุษ และมีการเผากระดาษเงินกระดาษทอง

 

 

ไหว้วิญญาณ

การไหว้วิญญาณเร่ร่อนหรือวิญญาณที่ไม่มีญาติให้ได้รับผลบุญเสริมมงคลแก่ตัวเอง โดยการไหว้จะทำที่นอกบ้าน โดยมีทั้งอาหารคาวและอาหารหวาน พร้อมน้ำชา และจะมีขนมหวานและผลไม้ตามต้องการ และที่พิเศษคืออาจมีข้าวหอมแบบจีนโบราณ คอปึ่ง เผือกนึ่งผ่าซีกเป็นเสี้ยวใส่ถาด เส้นหมี่ห่อใหญ่ ส่วนใหญ่จะจุดธูป 1 ดอก หรือตามแต่ความเชื่อ และมีกระดาษเงินกระดาษทองแบบเฉพาะเรียกว่า อ่วงแซจิว เชื่อว่าเป็นใบเบิกทางสวรรค์สำหรับวิญญาณเร่ร่อนผู้ล่วงลับ