เลิกจ้างกะทันหัน มีสิทธิได้อะไร บริษัทไม่จ่าย ต้องทำอย่างไร
ทำงานอยู่ดีๆ บริษัท "เลิกจ้างกะทันหัน" ไม่แจ้งล่วงหน้า ตามสัญญางานระบุ แบบนี้ทำได้ แต่ผิด พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน นายจ้างต้องจ่ายเงินเดือนและค่าตกใจ ถ้าไม่จ่ายลูกจ้างสามารถฟ้องศาลแรงงานได้ และประกันสังคมจ่าย "ชดเชยว่างงาน" ให้อีกด้วย
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ระบุไว้ว่า เมื่อ "ถูกเลิกจ้างกะทันหัน" ในกรณีที่ลูกจ้างไม่มีความผิด เพราะบริษัทมีการปรับปรุงหน่วยงาน ทำให้ต้องลดจำนวนแรงงาน และในกรณีย้ายสถานประกอบการ โดยอย่างน้อยที่สุดลูกจ้างต้องได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน ไม่รวมค่าชดเชยพิเศษกรณีถูกเลิกจ้างโดยไม่แจ้งล่วงหน้าตามที่กฎหมายกำหนด โดยกฎหมายกำหนดต้องแจ้งล่วงหน้าที่ 60 วัน
ถ้าไม่แจ้งแก่ลูกจ้างที่จะ "เลิกจ้างกะทันหัน" ให้ทราบล่วงหน้า หรือแจ้งล่วงหน้าน้อยกว่าระยะเวลา 60 วัน นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่ลูกจ้างเท่ากับค่าจ้างตามกฎหมายกำหนด
- เลิกจ้างกะทันหันมี 2 กรณี
1. เลิกจ้างโดยลูกจ้างไม่มีความผิด ต้องจ่ายค่าจ้างตามอายุงาน ดังนี้
- มากกว่า 120 วัน แต่ไม่ถึง 1 ปี ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน
- มากกว่า 1 ปี แต่ไม่ถึง 3 ปี ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน
- มากกว่า 3 ปี แต่ไม่ถึง 6 ปี ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน
- มากกว่า 6 ปี แต่ไม่ถึง 10 ปี ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน
- มากกว่า 10 ปีขึ้นไปได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน
ตัวอย่างการคำนวณ "เลิกจ้างกะทันหัน" นายเอ ทำงานมาแล้วมากกว่า 6 ปี แต่ไม่ถึง 10 ปี ได้รับเงินเดือนจำนวน 50,000 บาท ถูกเลิกจ้างกระทันหันแบบไม่สมัครใจ เท่ากับว่า นายเอจะได้รับเงินชดเชย 50,000 x 240 วัน เท่ากับ 12,000,000 บาท
นอกจากนี้ ในกฎหมายฉบับนี้ยังระบุอีกว่า ลูกจ้างถูกเลิกจ้างโดยไม่สมัครใจ และไม่ได้มีการบอกล่วงหน้าจะได้รับเงินค่าบอกล่วงหน้าที่เรียกว่า "ค่าตกใจ" เพิ่มเติม
ค่าตกใจถูก "เลิกจ้างกะทันหัน" ที่ลูกจ้างได้รับขึ้นอยู่กับว่านายจ้างบอกเลิกจ้าง น้อยกว่า 1 งวดการจ่ายค่าจ้างหรือไม่ เรียกได้ว่า บอกผิดชีวิตเปลี่ยนจากจะต้องจ่าย 1 เดือนมีโอกาสจ่ายสูงมากกว่า 1 เดือนก็เป็นได้
ค่าเสียหายนี้เกิดในกรณีหากนายจ้าง "ไล่ออก" ทันทีโดยไม่บอกล่วงหน้า 30 - 60 วัน เพราะถือว่านายจ้างทำผิดสัญญาจ้างแรงงาน นอกจากจะต้องจ่ายค่าชดเชยตามกรณีเลิกจ้างทั่วไป ตามข้อ 1 แล้ว (มาตรา 118) ยังต้องจ่ายค่าเสียหายจากการไม่บอกกล่าวล่วงหน้า ตามมาตรา 17/1 เป็นจำนวนเท่ากับค่าจ้างในอัตราที่ลูกจ้างได้รับอยู่อัตราสุดท้าย คิดเต็มจำนวนเสมือนหนึ่งว่านายจ้างได้บอกกล่าวล่วงหน้าให้เตรียมตัวก่อนออกจากงาน แต่ค่าเสียหายจำนวนนี้จะคิดอย่างมากที่สุด ไม่เกินค่าจ้าง 3 เดือน
2. กรณีลูกจ้างมีความผิดและถูก "เลิกจ้างกะทันหัน" นายจ้างไม่ต้องจ่ายเงินเดือนหรือชดเชยใดๆ โดยลูกค้ามีความผิดทุจริตต่อหน้าที่มีกระทำความผิดอาญา, จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย, ประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง, ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่เป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว (กรณีร้ายแรง ไม่จำเป็นต้องตักเตือน) และละทิ้งหน้าที่ 3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร
พ.ร.บ.ฉบับนี้ ยังหมายรวมถึงลูกจ้างเรียกร้องค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจากนายจ้างได้อีก โดยยื่นฟ้องที่ศาลแรงงาน ศาลเป็นผู้ใช้ดุลพินิจตัดสินว่าจะได้เท่าไหร่ ซึ่งไม่มีหลักเกณฑ์กำหนดตัวเลข
เมื่อพ้นสภาพพนักงาน ให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 แห่งสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ยื่นคำร้องที่สำนักงานประกันสังคมทั่วประเทศ เพื่อรับสิทธิชดเชยกรณีว่างงาน โดยจะได้รับเงิน 50% ของค่าจ้าง เต็มเพดานที่เดือนละ 15,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน
ยกตัวอย่างการคำนวณ นายเอ ได้รับเงินเดือนจำนวน 15,000 บาท เท่ากับ 15,000÷2 = 7,500 บาท (7,500×3=22,500)
เอกสารที่ต้องใช้ในการยื่นรับสิทธิเงินชดเชยกรณีว่างงาน
1. แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (สปส. 2-01/7)
2. หนังสือรับรองการออกจากงานหรือสำเนาแบบแจ้งการลาออกจากงานของผู้ประกันตนออกจากงานของผู้ประกันตน (สปส. 6 -09) กรณีที่ไม่มีสำเนา สปส.6-09 ก็สามารถไปขึ้นทะเบียนกรณีว่างงานได้
3. หนังสือหรือคำสั่งของนายจ้างให้ออกจากงาน (ถ้ามี)
4. หนังสือรับรองการขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน เนื่องจากเหตุสุดวิสัยกรณีเป็นผู้ประกันตนกรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย
5. สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรกซึ่งมีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้ประกันตน