'ออกพรรษา 2566' หยุดไหม ตรงกับวันอะไร เปิดสิ่งควรทำ วันออกพรรษา
'ออกพรรษา 2566' หยุดไหม ตรงกับวันอะไร เปิดประวัติความเป็นมา 'วันออกพรรษา' และสิ่งที่ควรปฏิบัติ เป็นที่มาของประเพณี ตักบาตรเทโว
“วันออกพรรษา” หรือ “วันปวารณาออกพรรษา” นับเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาวันหนึ่งของประเทศไทย เนื่องจากเป็นวันสิ้นสุดระยะเวลาจำพรรษา 3 เดือน ของพระสงฆ์ โดยตามปกติแล้ววันออกพรรษา จะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 โดยวัน “ออกพรรษา 2566” ปีนี้ ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 29 ต.ค. 2566 และไม่ถือเป็นวันหยุด...วันออกพรรษา มีความสำคัญอย่างไรกับพุทธศาสนิกชน และเรามักจะทำบุญอย่างไรใน วันออกพรรษา ไปหาคำตอบกัน
ประวัติวันออกพรรษา
ออกพรรษา เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วันมหาปวารณา” คือ วันที่สิ้นสุดระยะการจำพรรษาของพระเป็นเวลา 3 เดือน หรือพูดง่ายๆ ว่า วันสุดท้ายที่ต้องอยู่จำพรรษาในแต่ละปี และพระสงฆ์จะต้องอยู่ให้ครบอีกหนึ่งราตรี จึงจะครบถ้วนบริบูรณ์ ในวันออกพรรษานี้ พระสงฆ์จะประกอบพิธีทำสังฆกรรมใหญ่ เรียกว่า มหาปวารณา ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ภิกษุ ว่ากล่าวตักเตือนกันด้วยจิตที่เมตตา เพราะในช่วงระหว่างเข้าพรรษา พระสงฆ์บางรูปอาจมีข้อบกพร่องที่ต้องแก้ไข และยังเปิดโอกาสให้ซักถามข้อสงสัยซึ่งกันและกันด้วย
ซึ่งตามพระพุทธบัญญัติแล้ว หลังจาก “ออกพรรษา” พระสงฆ์มีสิทธิที่จะจาริกไปพักค้างคืนที่อื่นได้ ไม่ผิดพระพุทธบัญญัติและยังได้รับอานิสงส์ (ผลดี) คือ
- ไปไหนไม่ต้องบอกลา
- ไม่ต้องถือผ้าไตรครบชุด
- ลาภที่เกิดขึ้นแก่ท่านมีสิทธิ์รับได้
- มีโอกาสได้อนุโมทนากฐินและได้รับอานิสงส์คือได้รับการขยายเวลาของอานิสงส์นั้นออกไปอีก 4 เดือน
วันออกพรรษา ความสำคัญ
“วันออกพรรษา” ในพระไตรปิฎกกล่าวไว้ว่า เป็นวันที่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มายังโลกมนุษย์ หลังจากที่พระองค์ได้เสด็จไปจำพรรษา และแสดงพระธรรมเทศนาโปรดเทพบุตรพุทธมารดา ซึ่งอยู่สวรรค์ชั้นดุสิต แต่ลงมาฟังพระธรรมเทศนาที่ชั้นดาวดึงส์
ประเพณีวันออกพรรษา
ในวันออกพรรษา จะมีการทำบุญอันเป็นประเพณีที่นิยมกระทำกันมานานแล้ว เรียกว่า “ตักบาตรเทโว” หรือเรียกชื่อเต็มตามคำพระว่า “เทโวโรหนะ” แปลว่าการหยั่งลงจากเทวโลก หรือการตักบาตรนี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ตักบาตรดาวดึงส์” และการตักบาตรเทโวนี้ จะกระทำในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งการทำบุญตักบาตรเทโวนี้ จัดเป็นกาลนาน คือ 1 ปี มี 1 ครั้ง โดยยึดถือว่าเป็นวันคล้ายกับวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากเทวโลก
ทั้งนี้ พิธีตักบาตรเทโวโรหณะ ในปัจจุบัน จะจำลองเหตุการณ์พุทธประวัติ ตอนรุ่งเช้า พระภิกษุสามเณร ลงทำวัตรในพระอุโบสถ พอพระอาทิตย์ขึ้นก็สมมติว่า พระลงมาจากบันใดสวรรค์ บางที่ก็มีดนตรีบรรเลงเพลงไทยเดิม สมมุติว่าเป็นพวกเทวดาบรรเลง ขับกล่อมตามส่งพระพุทธเจ้า มีการแต่งเป็นพวกยักษ์ เทวดา พระอินทร์ พรหม นางเทพธิดา นำหน้าขบวนพระภิกษุสามเณร ชาวบ้านก็จะใส่บาตรด้วยอาหารหวาน อาหารคาว โดย ข้าวต้มลูกโยน และ ข้าวต้มมัด จึงเป็นสัญลักษณ์ของพิธีนี้
ที่มา : สำนักงานพระพุทธศาสนา