รู้จักพิธีเดือนสิบสอง จาก 'พิธีจองเปรียง' สู่งาน 'ลอยกระทง' ในปัจจุบัน
'พิธีจองเปรียง' เป็นพิธีบูชาไฟถวายสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทางพุทธศาสนาในสมัยอยุธยา โดยจะจัดขึ้นในเดือนสิบสองของทุกปี เทียบได้กับพิธี 'ลอยกระทง 2566' นั่นเอง
จากละครดังเรื่อง "พรหมลิขิต" ในตอนที่จะออกอากาศวันจันทร์ที่ 20 พ.ย. นี้ ตัวละครจะพูดถึง พิธีจองเปรียง ซึ่งเป็นพิธีโบราณ ปัจจุบันหลายคนอาจไม่เคยได้ยินมาก่อน วันนี้ คมชัดลึก จะพาย้อนไปรู้จักพิธีดังกล่าวว่า จองเปรียง คือ พิธีอะไร และมีความเป็นมาอย่างไร
พิธีจองเปรียง เป็นพิธีบูชาไฟถวายสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทางพุทธศาสนาในสมัยอยุธยา โดยจะจัดขึ้นในเดือนสิบสองของทุกปี ในช่วงเวลาที่น้ำนองเต็มตลิ่งที่เราคุ้นหูกันนั่นเอง โดยพิธีนี้มีต้นแบบมาจาก ทิวาลี พิธีบูชาไฟของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ซึ่งว่ากันว่าเป็นพิธีที่สืบเนื่องมาจากบ้านเมืองดั้งเดิม คือเมืองพระนครหลวง หรือ นครธม ในกัมพูชา ตั้งแต่ก่อนสมัยอยุธยา
ในสมัยอยุธยา พิธีจองเปรียง ลดชุดลอยโคมลงน้ำ ซึ่งอาจเข้าใจได้ว่าเป็นพิธีเดียวกันทั้งหมด แต่จริงๆ แล้วคือพิธีนี้มี 2 กิจกรรมในคราวเดียวกัน คือ จองเปรียง หรือ ลดชุด โดย จอง มาจากคำเขมรว่า “จง” (อ่าน จอง) แปลว่า ผูก, โยง ในที่นี้หมายถึงดูแลประคับประคองให้มีแสงสว่าง เช่น เลี้ยงไฟไม่ให้ดับ ตรงกับ “ตาม” ในคำว่า “ตามไฟ” (ผู้รู้ภาษามอญว่าจอง แปลว่า เผา) เปรียง มาจากคำเขมรว่า “เปฺรง” (อ่านว่า เปรง) แปลว่า น้ำมัน
จองเปรียง จึงหมายถึง ดวงไฟตามประทีปสว่างไสวที่ได้จากการจุดไฟเผาน้ำมัน แล้วชักด้วยสายรอกยกโคมไฟขึ้นไปแขวนตามเสา ระเบียง ชายคา ส่วน ลดชุด หมายถึง ชุดดวงไฟที่ลดขนาดเล็กลง แล้วจัดวางเรียงเป็นแถว โดยจะวางเรียงไว้ที่ช่องที่เจาะไว้ตามผนังกำแพงเมือง หรือกำแพงวัง และจะมีการการลอยโคมในน้ำ หรือเทียบได้กับ ลอยกระทง แบบในปัจจุบันนั่นเอง
สำหรับพิธี ลอยกระทง เป็นประเพณีของไทยที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาแต่โบราณ งานลอยกระทงเริ่มทำตั้งแต่กลางเดือน 11 ถึงกลางเดือน 12 ซึ่งเป็นฤดูน้ำหลาก น้ำจะเต็มสองฝั่งแม่น้ำ ที่นิยมมากคือ ช่วงวันเพ็ญเดือน 12 เพราะพระจันทร์เต็มดวงทำให้แม่น้ำใสสะอาด แสงจันทร์ส่องเวลากลางคืน เป็นบรรยากาศที่สวยงาม เหมาะแก่การลอยกระทง
เดิมพิธีลอยกระทงเรียกว่า พระราช พิธีจองเปรียง ชักโคม ลอยโคม ซึ่งเป็นพิธีของพราหมณ์ เพื่อบูชาพระเป็นเจ้าทั้งสาม คือ พระอิศวร พระนารายณ์และพระพรหมครั้นคนไทยรับนับถือพระพุทธศาสนาก็ทำพิธียกโคมเพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุพระจุฬามณี ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ลอยโคมบูชาพระพุทธบาท ณ หาดทรายแม่น้ำนัมมทานที ประเทศอินเดีย
ปัจจุบัน ประเพณีลอยกระทง มีการจัดงานกันแทบทุกจังหวัด ถือเป็นงานประจำปีที่สำคัญ ส่วนการลอยโคม ชาวบ้านทางภาคเหนือและภาคอีสานยังนิยมทำกัน ชาวบ้านจะนำกระดาษ มาทำเป็นโคมขนาดใหญ่สีต่างๆ ถ้าลอยตอนกลางวัน จะทำให้โคมลอยโดยใช้ควันไฟ ถ้าเป็นเวลากลางคืน ก็จะใช้คบจุด ที่ปากโคม ให้ควันพุ่งเข้าในโคม ทำให้ลอยไปตามกระแสลมหนาว เวลากลางคืนแลเห็นแสงไฟโคม บนท้องฟ้า พร้อมกับแสงจันทร์และดวงดาวสวยงามมากทีเดียว