ไลฟ์สไตล์

'เลี้ยงสิงโตได้ไหม' เปิด หลักเกณฑ์เลี้ยงสิงโต หลังโผล่หมู่บ้านหรูพัทยา

'เลี้ยงสิงโตได้ไหม' เปิด หลักเกณฑ์เลี้ยงสิงโต หลังโผล่หมู่บ้านหรูพัทยา

25 ม.ค. 2567

ประเทศไทย 'เลี้ยงสิงโตได้ไหม' เปิด หลักเกณฑ์เลี้ยงสิงโต หลังพบหมู่บ้านหรูในพัทยาเลี้ยงเพียบ ดูข้อกฎหมายให้ดีแม้จะเลี้ยงได้แต่ถ้าทำผิดก็โดนจับ-ปรับ

กระแสข่าวแรงจนกลายเป็นไวรัลหลังจากที่มี ชาวต่างชาติพา สิงโต นั่งรถเบนท์ลีย์ เปิดประทุน ขับตระเวนในเขตพื้นที่เมืองพัทยา จ.ชลบุรีจาก นั้นมีคนถ่ายคลิปนำไปโพสต์ในโลกออนไลน์ จนเป็นกระแสฮือฮาอย่างมาก นอกจากความฮือฮาแล้วหลายคนยังสงสัยว่าประเทศไทย "เลี้ยงสิงโตได้ไหม" 
 

เลี้ยงสิงโตได้ไหม

สำหรับข้อสงสัย "เลี้ยงสิงโตได้ไหม" ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2565 เปิดทางให้สามารถครอบครอง สิงโต ได้ แต่ผู้ที่ประสงค์จะครอบครองต้องนำส่งหลักฐานการได้มาอย่างถูกกฎหมายให้กับเจ้าหน้าที่ เช่น ใบนำเข้า ใบกำกับการจำหน่าย หรือใบเสร็จจากร้านค้า

 

เลี้ยงสิงโตได้ไหม

 

การครอบครองสัตว์ป่าควบคุม จะถูกพิจารณาจากทั้งปัจจัยเรื่องสายพันธุ์ของสัตว์ป่าว่าอยู่ในบัญชีที่กฎหมายอนุญาตหรือไม่ รวมถึงพิจารณาหลักฐานการได้มาซึ่งสัตว์ป่าควบคุมที่ถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งการตรวจสอบสถานที่สำหรับการครอบครองสัตว์ป่าด้วยเช่นกัน

 

 

กฎหมายการอนุญาตให้ เลี้ยงสิงโต ยังระบุเพิ่มเติมว่า ในการพิจารณาการตรวจสอบสถานที่ครอบครองสัตว์ป่าควบคุมนั้น ให้คำนึกถึงความเหมาะสมของสถานที่ต่อชนิดสัตว์ พฤติกรรม มีความปลอดภัย มีการจัดสวัสดิภาพสัตว์อย่างเหมาะสม และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และคำนึกถึงผลกระทบต่อผู้อื่นและชุมชน” คือข้อความในระเบียบจากกรมอุทยานฯ

แม้ว่าประเทศไทยจะสามารถ เลี้ยงสิงโต ได้แต่ก็มีบทลงโทษหากไม่ปฏิบัติตาม หลักเกณฑ์เลี้ยงสิงโต โดยจะมีบทลงโทษกรณีไม่แจ้งการครอบครองนั้น ระเบียบนี้ระบุว่า ผู้ที่กระทำผิดจะต้องมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

 

อย่างไรก็ตามสำหรับ  หลักเกณฑ์เลี้ยงสิงโต กฎหมายระบุเอาไว้ว่า ต้องให้ที่อยู่อาศัยที่มีพื้นที่เพียงพอที่จะทำให้สัตว์สามารถเคลื่อนตัวได้อย่างอิสระ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความทรมาน

หากเจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้วพบว่า สถานที่ครอบครองสัตว์ป่าควบคุมหรือสถานที่เก็บรักษาซากสัตว์ป่าควบคุมดังกล่าว ไม่มีสวัสดิภาพและความเหมาะสม หรือความปลอดภัยเพียงพอ เจ้าหน้าที่สามารถสั่งให้ผู้ที่ขอแจ้งการครอบครองแก้ไขสถานที่ให้เหมาะสมกับชนิด และจำนวนของสัตว์ป่าควบคุมภายในระยะเวลาที่กำหนด

นอกจากนี้ยังมี หลักเกณฑ์เลี้ยงสิงโต และ ระเบียบจากกรมอุทยานฯ ระบุเอาไว้ว่า ในกรณีการครอบครองสัตว์ป่าชนิดเลี้ยงลูกด้วยนม ผู้ที่ขอครอบครองจะต้องดำเนินการจัดทำเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ใน 2 วิธีการ คือ การฝังไมโครชิปใต้ผิวหนังของหูด้านซ้าย หรือใต้ผิวหนังระหว่างกระดูกสะบักทางด้านซ้ายของกระดูกสันหลัง ยกเว้นสัตว์กินเนื้อให้ฝังที่โคนหางด้านซ้าย และสัตว์กลุ่มลิงให้ฝังที่หลังมือหรือหลังตีนด้านซ้าย และอีกวิธีการหนึ่งคือ ติดเครื่องหมายที่ใบหู

หลักเกณฑ์เลี้ยงสิงโต ยังมีข้อกำหนดสำหรับการเคลื่อนย้ายสัตว์ป่าควบคุม โดยระบุว่า ผู้ครอบครองต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนเคลื่อนย้ายสัตว์ออกจากสถานที่ดูแลทุกครั้ง และถ้าหากต้องการจะเปลี่ยนสถานที่ดูแลจะต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ไม่น้อยกว่า 15 วัน

สำหรับบทลงโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืน หลักเกณฑ์เลี้ยงสิงโต หรือครอบครองสิงโต รวมถึงการไม่แจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนการเคลื่อนย้ายสัตว์ป่าควบคุม จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

 

 

สำหรับ สิงโต เป็นสัตว์ป่าควบคุมที่ต้องแจ้งการครอบครอง ชนิด ก (ดุร้าย) ต้องดูแลรักษาในสถานที่ครอบครองที่แข็งแรงปลอดภัย ห้ามเคลื่อนย้ายก่อนได้รับอนุญาต ทั้งนี้ หากฝ่าฝืนมีความผิด ตามระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการแจ้งและการรับแจ้ง และการครอบครองซึ่งสัตว์ป่าควบคุมและซากสัตว์ป่าควบคุม 2565 "จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

 

การครอบครองสัตว์ป่าควบคุม จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าอย่างเคร่งครัด สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนจัดการสัตว์ป่าต่างประเทศ กองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา 02-5610777 ต่อ 2912 หรือหากพบการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับสัตว์ป่าแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วนพิทักษ์ป่า 1362 ตลอด 24 ชั่วโมง

 

 

ที่มาข้อมูล:  กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช