ไลฟ์สไตล์

3 ก.พ. 'วันทหารผ่านศึก' 6 สงคราม วีรกรรม ความกล้าหาญ และเสียสละของ ทหารไทย

3 ก.พ. 'วันทหารผ่านศึก' 6 สงคราม วีรกรรม ความกล้าหาญ และเสียสละของ ทหารไทย

03 ก.พ. 2567

3 กุมภาพันธ์ 'วันทหารผ่านศึก' ประวัติความเป็นมา องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก จัดตั้งขึ้นมาเพื่ออะไร - 6 สงคราม วีรกรรมความกล้าหาญและเสียสละของ ทหารไทย

'วันทหารผ่านศึก' ตรงกับวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เนื่องจากเป็นวันที่รัฐบาลได้จัดตั้ง องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ขึ้นเพื่อให้เป็นหน่วยงานถาวร ทำหน้าที่ให้การสงเคราะห์แก่ "ทหารผ่านศึก" และครอบครัวทหารผ่านศึกโดยตรง โดยมีการร่างพระราชบัญญัติองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก และประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา จึงถือว่าวันนี้เป็นวันทหารผ่านศึกตลอดมา

 

 

วันนี้ของทุกปี องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก และครอบครัวทหารผ่านศึก ทหารนอกประจำการ และผู้ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาความมั่นคงของชาติ จะร่วมกันจัดพิธีวางพวงมาลาที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อเป็นการแสดงความคารวะต่อดวงวิญญาณของเหล่านักรบผู้กล้า และยังมีพิธีสวนสนามเชิดชูเกียรติที่ลานอเนกประสงค์ กรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ อีกด้วย

 

 

องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก

 

องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก เป็นองค์กรของรัฐเพื่อการกุศล จัดตั้งขึ้นเพื่อให้การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ครอบครัวทหารผ่านศึก และทหารนอกประจำการ เพื่อเป็นการตอบแทนคุณงามความดี ความเสียสละในการปกป้องเอกราชอธิปไตยของชาติ โดยมีคำนิยมคือ "มีจิตสำนึกในการทำงาน บริการด้วยความรอบรู้ มู่งสู่การสงเคราะห์ที่มีคุณภาพ" ซึ่งแตกต่างจากการสงเคราะห์โดยทั่วไปที่ต้องการช่วยเหลือผู้ยากไร้หรือผู้ด้อยโอกาสให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ตามสถานะโดยไม่เป็นภาระหรือปัญหาของสังคม

 

 

องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก เรียกโดยย่อว่า "อผศ." จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก พ.ศ. 2491 และปรับปรุงโดยพระราชบัญญัติองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก พ.ศ. 2510 มีฐานะเป็นองค์การของรัฐเพื่อการกุศล และเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย ได้รับเงินอุดหนุนของกระทรวงกลาโหม

 

 

แนวทางการสนับสนุนกิจกรรม 'วันทหารผ่านศึก'

 

  • สงเคราะห์ทางด้านสวัสดิการ
  • การสงเคราะห์ทางด้านอาชีพ
  • การสงเคราะห์ด้านนิคมเกษตรกรรม
  • การสงเคราะห์ด้านกองทุน
  • การสงเคราะห์ด้านการรักษาพยาบาลให้แก่สมาชิก โดยไม่คิดมูลค่า
  • ให้มีการส่งเสริมสิทธิของทหารผ่านศึก โดยการขอสิทธิพิเศษในด้านต่างๆ ให้แก่ทหารผ่านศึก เช่น การขอลดค่าโดยสาร เป็นต้น

 

 

6 สงคราม วีรกรรมและความกล้าหาญและเสียสละของ ทหารไทย

 

สงครามโลกครั้งที่ 1 (พ.ศ. 2457-2461) 

 

วันที่ 21 ก.ค. 2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตัดสินพระทัยประกาศสงครามกับฝ่ายเยอรมนี และส่งทหารอาสาเข้าร่วมรบอยู่ในฝ่ายสัมพันธมิตร โดยจัดตั้งเป็นกองทหารอาสา แบ่งกำลังเป็น กองทหารบกรถยนต์ กองบินทหารบก และกองพยาบาลเดินทางไปร่วมรบที่ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งนับเป็นประวัติศาสตร์ครั้งแรกที่ทหารไทยเดินทางไปร่วมรบในต่างแดน

 

นอกจากจะเป็นการเผยแพร่ชื่อเสียง และเกียรติคุณของประเทศแล้ว ยังมีการแก้ไขสนธิสัญญาต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย รวมทั้งประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกริเริ่มในองค์การสันนิบาตชาติ ตลอดจนได้นำประสบการณ์จากสงครามในครั้งนี้มาปรับปรุงวิชาการทหารให้เจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น

 

 

กรณีพิพาทอินโดจีน - ฝรั่งเศส (พ.ศ. 2483-2484)

 

ในกรณีพิพาทอินโดจีน ทหารไทยได้ประกอบวีรกรรมที่สำคัญเป็นจำนวนมาก และได้สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยมากที่สุด คือ การรบที่ห้วยยาง ตำบลบ้านพร้าว ในเขตเขมร โดยกองพันทหารราบที่ ๓ พระนคร กองพลพระนคร กองพลผสมอรัญ และกองทัพบูรพา ได้ปะทะกับข้าศึกจนได้รับชัยชนะ ได้รับสมญานามว่า กองพันทหารเสือ วันที่ 28 พ.ย. 2487 ฝรั่งเศสได้ส่งเครื่องบิน จำนวน 5 ลำจากท่าแขกมาทิ้งระเบิดที่นครพนม ฝ่ายไทยได้นำเครื่องบินขับไล่ 3 ลำขึ้นต่อสู้ขับไล่เครื่องบินข้าศึกหลบหนีกลับไป วันที่ 5 ม.ค. 2484 กองทัพสนามของไทย ได้เคลื่อนกำลังรุกเข้าไปในดินแดนลาวและเขมร ประสบชัยชนะตลอดแนว โดยกองทัพบูรพายึด ศรีโสภณ ไพลิน และพระตะบองได้ กองทัพอิสานยึดจำปาศักดิ์ได้ และกองทัพพายัพยึดปากลาย หงสา และเชียงฮอนได้ วันที่ 17 ม.ค. 2484 เกิดยุทธนาวีเกาะช้าง ระหว่างราชนาวีไทยกับกองเรือรบฝรั่งเศส ฝ่ายไทยเสียเปรียบด้านกำลัง และอาวุธยุทโธปกรณ์ แต่ได้พยายามต่อสู้อย่างไม่ลดละ ผลการรบได้รับความเสียหายอย่างหนักทั้งสองฝ่ายแต่ราชนาวีไทยก็สามารถต้านทานข้าสึกไว้ได้

 

 

สงครามทหาเอเชียบูรพา (พ.ศ. 2484-2488)

 

สงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้นปี 2482 เมื่ออังกฤษและฝรั่งเศสประกาศสงครามกับเยอรมนี ญี่ปุ่นเป็นพันธมิตรกับเยอรมนีและต้องการมีอิทธิพลในแถบเอเชียอาคเนย์ จึงได้แผ่อำนาจครอบคลุมและยึดครองอาณาเขตประเทศต่างๆ มากขึ้นตามลำดับ สหรัฐอเมริกาได้ยื่นคำขาดให้ญี่ปุ่นยุติบทบาทขณะที่อยู่ในระหว่างการเจรจา ในวันที่ 7 ธ.ค. 2584 ญี่ปุ่นถือโอกาสส่งกองบินไปทิ้งระเบิดเพิร์ลฮาร์เบอร์ เพื่อทำลายฐานทัพเรือและกำลังทางอากาศของสหรัฐอเมริกา และในวันที่ 8 ธ.ค. 2584 ญี่ปุ่นได้ยื่นข้อเสนอต่อไทย เพื่อขอเดินทัพผ่านไปยังพม่าและมลายูของอังกฤษ รวมทั้งขอให้ไทยทำอนุสัญญาเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น และทำอนุสัญญาร่วมรบกับญี่ปุ่น 

 

ขณะที่รัฐบาลยังไม่ตัดสินใจ กำลังทหาร ตำรวจ ยุวชนทหาร และพลเรือนที่ประจำการตามจังหวัดต่างๆ ได้ต่อสู้กับญี่ปุ่นอย่างดุเดือด รัฐบาลไทยจึงสั่งยุติการรบ และจำเป็นต้องทำสนธิสัญญาเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น ทำให้อังกฤษประท้วงด้วยการส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดในประเทศไทย ไทยจึงประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกา และอังกฤษ แต่มีคนไทยจำนวนมากไม่เห็นด้วยและได้ก่อตั้งขบวนการเสรีไทยทำการต่อต้านญี่ปุ่นและให้ความช่วยเหลือแก่ฝ่ายสัมพันธมิตร 

 

ภายหลังสงครามจบลง ในวันที่ 16 ส.ค. 2488 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลมีพระบรมราชโองการว่า การประกาศสงครามของรัฐบาลไทยต่ออังกฤษและสหรัฐอเมริกานั้นเป็นโมฆะ เพราะเป็นการกระทำผิดความจำนงของประชาชนชาวไทย และฝ่าฝืนขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายบ้านเมือง อีกทั้ง บรรดาดินแดนที่ญี่ปุ่นมอบให้ดูแลนั้น ประเทศไทยก็ไม่มีความประสงค์จะได้ไว้ ต่อมารัฐบาลอังกฤษและสหรัฐอเมริกาได้ออกประกาศรับรองประกาศสันติภาพของรัฐบาลไทย

 

 

สงครามเกาหลี (พ.ศ. 2493-2496)

 

กองทัพบก จัดชุดกรมผสมที่ 21 ไปปฏิบัติหน้าที่ท่ามกลางภูมิประเทศที่ทุรกันดาร และสภาพอากาศที่หนาวเหน็บ ด้วยความกล้าหาญอดทนจนได้รับฉายาว่า "พยัคฆ์น้อย" กองทัพเรือได้ส่งเรือหลวงประแส และเรือหลวงบางปะกง ไปปฏิบัติหน้าที่เรือคุ้มกันและลำเลียงทหารท่ามกลางลมพายุ  และคลื่นขนาดใหญ่ทั้งกลางวันและกลางคืน กองทัพอากาศได้ส่ง  หน่วยบินลำเลียงไปปฏิบัติหน้าที่บินลำเลียงทหารและยุทธสัมภาระให้กองทหารภาคพื้นดินท่ามกลางการโจมตีของข้าศึก  ความสามารถของทหารไทยทั้งสามเหล่าทัพได้เป็นที่ประจักษ์ และได้รับการยกย่องจากประเทศพันธมิตรที่เข้าร่วมรบ ทหารไทยถูกส่งไปปฏิบัติหน้าที่ในสมรภูมิเกาหลีรวม 23 ผลัด จำนวน 11,776 นาย เสียชีวิต 125 นาย บาดเจ็บ 318 นาย ป่วย 503 นาย และสูญหาย 5 นาย

 

 

สงครามเวียดนาม (พ.ศ. 2507-2515)

 

เวียดนามใต้ได้ขอความร่วมมือจากรัฐบาลไทยให้ช่วยเหลือทางด้านการทหารและการเศรษฐกิจซึ่งในระยะแรกรัฐบาลไทยมีมติให้ความช่วยเหลือเฉพาะการฝึกนักบินไอพ่น โดยจัดส่งหน่วยบินลำเลียงทหารอากาศไทยในสาธารณรัฐเวียดนาม หรือ "หน่วยบินวิกตอรี่" ไปทำการฝึกให้กับนักบินสาธารณรัฐเวียดนาม ต่อมารัฐบาลสหรัฐอเมริกาตัดสินใจส่งกำลังทหารเข้าปฏิบัติการพร้อมกับกำลังของประเทศพันธมิตรอีก 7 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สเปน ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ สาธารณรัฐประชาชนจีน และไทย สงครามเวียดนามจึงได้เริ่มขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ในปี 2507 กองทัพเรือส่งกำลังทางเรือไปปฏิบัติการลำเลียงและเฝ้าตรวจการณ์ตามชายงั่งชื่อว่า "หน่วยเรือซีฮอร์ส" ปี 2510 กระทรวงกลาโหมจัดส่งกรมทหารอาสาสมัครหน่วยแรกไปปฏิบัติการรบได้รับสมญานามว่า "จงอางศึก" จากนั้นในปี 2511 คณะกรรมการพิจารณาความพร้อมรบของทหารและจัดส่งหน่วยทหารได้จัดส่ง "กองพลเสือดำ" ไปเวียดนามใต้เพิ่มเติม จำนวน 3 ผลัด ผลัดละ 1 ปี

 

 

การต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ (พ.ศ. 2508-2518)

 

การแพร่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยเริ่มขึ้นในราวปี 2470 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีการเคลื่อนไว้ของคอมมิวนิสต์จีนและก๊กมินตั๋งที่เข้ามาในประเทศไทย ภายหลังได้มีการต่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์สยามขึ้น เมื่อปี 2473 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อ "ปฏิวัติโค่นล้มจักรวรรดินิยาม และศักดินา" การเคลื่อนไหวครั้งแรกเริ่มขึ้นเมื่อปี 2475 โดยมีการผลิตใบปลิวทั้งภาษาไทย จีน และอังกฤษ แจกจ่ายในวันสำคัญต่างๆ รัฐบาลไทยจึงตรากฎหมายเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์ฉบับแรก คือ พระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ พ.ศ.2476 และดำเนินการปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์สยามอย่างจริงจัง

 

 

ดอกป๊อปปี้

 

ดอกป๊อปปี้ ในทางสากลถือว่าเป็นดอกไม้ที่สื่อความหมายถึง ทหารผ่านศึก ผู้พลีเลือดเนื้อเพื่อปกป้องมาตุภูมิอันเป็นที่รัก

 

 

ข้อมูล : วิกิพีเดีย / องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก