13 ก.พ. 'วันรักนกเงือก' ร่วมมอบความรักให้ นกเงือก สัญลักษณ์ของคำว่า รักแท้
13 กุมภาพันธ์ 'วันรักนกเงือก' ร่วมมอบความรักให้ 'นกเงือก' สัญลักษณ์ของคำว่า รักแท้ เปิด 13 สายพันธุ์ที่พบในไทย มีอะไรบ้าง
เรียกว่าเป็นพรีวาเลนไทน์ สำหรับ 'วันรักนกเงือก' ซึ่งจะตรงกับวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ของทุกปี จะมาก่อน วันวาเลนไทน์ เพียง 1 วัน 'นกเงือก' หรือ 'Hornbill' เป็นสัญลักษณ์ของคำว่า "รักแท้" เพราะนกเงือกจะมีลักษณะการครองคู่แบบ "รักเดียว ใจเดียว" หรือ "แบบผัวเดียวเมียเดียว" จนแก่จนเฒ่า หรืออยู่ครองคู่กันจนตายจากกัน
'วันรักนกเงือก' เริ่มมีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา ภายใต้แนวคิดที่ว่า "ชักชวนผู้คนร่วมมอบความรักให้แก่นกเงือกร่วมกัน ก่อนที่จะมอบความรักให้แก่กันในวันวาเลนไทน์" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้ ความสำคัญของนกเงือก ธรรมชาติ และการอนุรักษ์ เพื่อสร้างจิตสำนึกและความตระหนักในการอนุรักษ์นกเงือกให้กับสังคมและประชาชน
'นกเงือก' หรือ 'Hornbills' เป็นนกขนาดใหญ่ ที่อยู่ในวงศ์ Bucerotidae ในอันดับ นกตะขาบ (บางข้อมูลซึ่งเป็นข้อมูลเก่าจะจัดให้อยู่ในอันดับ Bucerotiformes ซึ่งเป็นอันดับเฉพาะของนกเงือกเอง แต่ปัจจุบันนับเป็นชื่อพ้อง โดยนับรวมนกเงือกดินเข้าไปด้วย) ในโลกมี 'นกเงือก' อยู่หลากหลายพันธุ์ถึง 52 ชนิด บวกกับ Ground Hornbills อีก 2 ชนิดเป็น 54 ชนิด 'นกเงือก' ส่วนใหญ่พบอาศัยอยู่ตามทุ่งหญ้าและป่าดิบเขตร้อนของทวีปแอฟริกาและเอเชีย เขตร้อนของทวีปเอเชียมีนกเงือกหลากหลายถึง 31 ชนิด ในประเทศไทยเรามีนกเงือกให้จดจำกันถึง 13 ชนิด อย่าได้สับสนกับ 'นกทูแคน' ของอเมริกาใต้
'นกเงือก' มีรูปร่างหน้าตาโบราณที่ถือกำเนิดมาไม่น้อยกว่า 50 ล้านปี ไม่มีสีสันสะดุดตา ขนมักมีสีดำ-ขาว บางชนิดมีขนสีน้ำตาล หรือ เทา ส่วนที่มีสีฉูดฉาดอยู่บ้างก็เป็นหนังเปลือย เช่น หนังบริเวณคอ หนัง ขอบตา แต่สีเหลืองสดจัดจ้านที่ปรากฎบนส่วนขนสีขาว หรือบริเวณปากและโหนกของ นกกก นกเงือกหัวแรด และนกชนหินนั้น มาจากสีของน้ำมันที่นกทาและแต่งแต้มขึ้น หรืออีกนัยหนึ่ง พวกมันรู้จักใช้ เครื่องสำอาง น้ำมันนี้ผลิตโดยต่อมน้ำมัน ซึ่งอยู่บนโคนหาง อันที่จริงนกใช้น้ำมันทาขนเพื่อรักษาสภาพของขน
บทบาทเด่นของ 'นกเงือก' ในระบบนิเวศป่าคือ ช่วยกระจายพันธุ์ไม้กว่า 200 ชนิดที่มีประสิทธิภาพมาก เนื่องจากพฤติกรรมการเลือกกินผลไม้ที่สุก และนำพาเมล็ดไปทิ้งในพื้นที่ต่างๆ จึงเป็นตัวช่วยปลูกป่าและปลูกแหล่งอาหาร ทั้งของนกเงือกและสัตว์ป่าอื่นๆ และยังรักษาความหลากหลายของพืชและสัตว์ จึงจัดเป็นชนิดพันธุ์ที่เป็นร่มเงาให้กับสัตว์ชนิดอื่น ทำให้สังคมพืชเกิดความสมดุล และช่วยควบคุมประชากรสัตว์ขนาดเล็ก เช่น แมลงและหนูเป็นต้น จากความสัมพันธ์ของนกเงือกมีความอ่อนไหวต่อพื้นที่ป่าที่เปลี่ยนแปลงไป จึงเหมาะที่จะจัด นกเงือก เป็นชนิดพันธุ์ที่เป็นดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของป่า แต่ละแบบได้อีกด้วย
ลักษณะของ 'นกเงือก'
'นกเงือก' มีลักษณะที่สำคัญ คือ มีปากขนาดใหญ่โค้ง มี โหนก ประดับเหนือปากยกเว้น นกเงือกคอแดง ที่ไม่มีโหนก ลักษณะของโหนก เป็นโพรงมีเนื้อเยื่อคล้ายฟองน้ำอยู่ภายใน แต่โหนกของ นกชนหิน นั้นกว่าครึ่งความยาวของโหนกตันดุจเดียวกับงาช้าง โหนกของนกเงือกมีขนาดและรูปร่างหลากหลาย บ้างก็มีขนาดใหญ่ แบน กว้าง ดังโหนกของนกกก บ้างก็มีรูปทรงกระบอก ทอดนอนตามความยาวของจงอยปาก มีปลายงอนดูคล้ายกับนอของแรด ดังโหนกของนกเงือกหัวแรด อันเป็นที่มาของชื่อ Hornbill
บางชนิดมีโหนกขนาดเล็ก เป็นลอนดูคล้ายฟันกรามของช้าง เช่น โหนกของ นกเงือกกรามช้าง นกเงือกเป็นนกที่บินเสียงดังมาก โดยเฉพาะนกเงือกขนาดใหญ่ เช่น นกกก นกเงือกกรามช้าง เพราะด้านใต้ปีกของนกเงือกไม่มีขนปกคลุม เมื่อกระพือปีกแต่ละครั้งอากาศจะผ่านช่องว่างโคนขนปีกจึงเกิดเสียงดัง
การทำรัง
นกเงือก มีลักษณะการทำรังที่แปลกจากนกอื่น คือ เมื่อถึงฤดูกาลทำรัง นกคู่ผัวเมียจะพากันหารัง ซึ่งได้แก่ โพรงไม้ตามต้นไม้ใหญ่ เช่น ต้นยาง ที่อยู่ในที่ลับตา เมื่อตัวเมียเข้าไปอยู่ในโพรง จะทำความสะอาดแล้วเริ่มปิดปากโพรง ด้วยวัสดุต่างๆ เช่น ดิน เปลือกไม้ ตัวเมียจะขังตัวเองอยู่ภายในเพื่อออกไข่และเลี้ยงลูก
13 สายพันธุ์ที่พบในประเทศไทย
- นกเงือกคอแดง (Rufous-necked Hornbill)
- นกเงือกปากดำ (Black Hornbill)
- นกเงือกสีน้ำตาล (Brown Hornbill)
- นกเงือกสีน้ำตาลคอขาว (White-throated Brown Hornbill)
- นกเงือกดำ (Black Hornbill)
- นกเงือกหัวหงอก (White-crowned Hornbill)
- นกแก๊ก (Oriental Pied Hornbill)
- นกเงือกกรามช้างปากเรียบ (Plain-pouched Hornbill)
- นกเงือกกรามช้าง (Wreathed Hornbilll)
- นกเงือกปากย่น (Wrinkled Hornbill)
- นกกก (Great Hornbill)
- นกเงือกหัวแรด (Rhinoceros Hornbill)
- นกชนหิน (Helmeted Hornbill)
ข้อมูล : มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก / มูลนิธิสืบนาคะเสถียร