'วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก' เปิดจุดเริ่มต้น ความสำคัญ ทำไมต้องมีวันนี้
3 มีนาคม 'วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก' หรือ วันอนุรักษ์สัตว์ป่าโลก เปิดจุดเริ่มต้น และความสำคัญ ทำไมต้องมีวันนี้ แนวคิดหลักของปีนี้คืออะไร
'วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก' (World Wildlife Day) หรือ วันอนุรักษ์สัตว์ป่าโลก ตรงกับวันที่ 3 มีนาคม ของทุกปี มีจุดเริ่มต้นเมื่อครั้งการประชุมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่าง ประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ครั้งที่ 16 (CITES CoP16) เมื่อปี พ.ศ. 2556 ณ ประเทศไทย ซึ่งตรงกับวาระครบรอบ 40 ปี ของการรับรองอนุสัญญาดังกล่าว สิ่งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์และความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศ ที่วันสำคัญข้างต้นถูกพลักดันและเกิดขึ้น ในประเทศไทย
ดังนั้น กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในฐานะหน่วยงานกลางระดับประเทศของ อนุสัญญาไซเตส (Focal Point of CITES National Authorities) จึงได้ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรจัดงานและกิจกรรมเพื่อเฉลิมฉลองเนื่องในวันดังกล่าวต่อเนื่องเป็น ประจำทุกปีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 จนถึงปัจจุบัน ภายใต้แนวคิดหลัก ที่สำนักเลขาธิการไซเตสกำหนด
จากข้อมูลของ International Union for Conservation of Nature (IUCN) Red List of Threatened Species พบว่า สัตว์ป่า และ พืชป่า มากกว่า 8,400 สายพันธุ์ กำลังใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง ในขณะที่อีกเกือบ 30,000 สายพันธุ์ กำลังใกล้สูญพันธุ์หรือมีความเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ จากประมาณการนี้ เป็นไปได้ว่า มากกว่าหนึ่งล้านชนิดพันธุ์กำลังถูกคุกคามจากการสูญพันธุ์
การสูญเสียของชนิดพันธุ์ แหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ และระบบนิเวศอย่างต่อเนื่องดังกล่าว นับเป็นภัยคุกคามต่อทุกชีวิตบนโลก โดยเฉพาะมนุษย์จากทุกที่ที่ต้องพึ่งพาทรัพยากรจากสัตว์ป่าและความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อตอบสนองความต้องการทุกอย่างของเรา ตั้งแต่อาหาร เชื้อเพลิง ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย และเป็นเครื่องนุ่งห่ม รวมทั้งผู้คนหลายล้านคนที่ต้องพึ่งพาอาศัยทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ เพื่อเป็นแหล่งทำมาหากินและโอกาสทางธุรกิจ
ด้วยเหตุผลข้างต้น ที่ประชุมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ครั้งที่ 16 (CITES CoP16) เมื่อวันที่ 3 - 14 มีนาคม 2556 ณ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย จึงมีมติเห็นชอบข้อเสนอของประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุม ให้วันที่ 3 มีนาคม ของทุกปี ซึ่งตรงกับวาระครบรอบ 40 ปี วันลงนามรับรอง อนุสัญญาไซเตส เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2516 ณ กรุงวอชิงตัน ดี ซี ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็น 'วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก' (World Wildlife Day) เพื่อเฉลิมฉลองในความสวยงามและรูป แบบที่หลากหลายของ สัตว์ป่า และ พืชป่า และเพื่อให้สาธารณชนได้ตระหนักถึงคุณค่าและประโยชน์ของสัตว์ป่าและพืชป่าที่มีต่อมวลมนุษยชาติ ตลอดจนความจำเป็นเร่งด่วนในการต่อสู้กับอาชญากรรมด้านสัตว์ป่าและพืชป่าที่สร้างผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
ต่อมาที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 68 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2556 ณ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีมติประกาศอย่างเป็นทางการ ให้วันที่ 3 มีนาคม ของทุกปี เป็น "วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลกภายใต้องค์การสหประชาชาติ (United Nations World Wildlife Day)" พร้อมทั้งเชิญชวนให้รัฐสมาชิก และองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับโลก ภูมิภาค และอนุภูมิภาค ร่วมจัดกิจกรรมเนื่องในวันสำคัญดังกล่าว โดยผ่านแนวคิดหลัก ที่จะมีการกำหนดขึ้นในแต่ละปี
นอกจากนี้ ที่ประชุมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่า และพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ครั้งที่ 18 (CITES CoP18) ได้มีมติกำหนดแนวทางการดำเนินกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างการมีส่วนรวมเนื่องใน 'วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก' แก่ประเทศสมาชิกและองค์กรต่างๆ ที่สนใจ เพื่อให้สอดคล้องตามมติของที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติดังกล่าวอีกด้วย
เพื่อให้เป็นไปตามมติที่ประชุมต่างๆ ข้างต้น ประเทศไทยโดย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในฐานะหน่วยงานกลางระดับประเทศของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ จึงได้จัดงานเนื่องในวันสำคัญดังกล่าวขึ้นเป็นประจำทุกปี เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2557
ขณะที่ปี 2567 ภาคีทั่วโลกจะจัดงาน 'วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก' ในวันจันทร์ที่ 4 มีนาคม 2567 ภายใต้แนวคิดหลัก "Connecting People and Planet: Exploring Digital Innovation in Wildlife Conservation : เชื่อมโยงโลกกว้าง ร่วมสร้างนวัตกรรม นำสู่การอนุรักษ์สัตว์ป่าและพืชป่าอย่างยั่งยืน" มุ่งเน้นเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ในการอนุรักษ์สัตว์ป่าและพืชป่า การค้า และรวมถึงตระหนักผลกระทบของเทคโนโลยีดิจิทัลนั้นๆ ต่อระบบนิเวศ และประชาชน ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี ค.ศ. 2030 โดยมีเว็บไซต์กลาง https://wildlifeday.org/en เผยแพร่ข้อมูลการจัดงาน
ข้อมูล : wildlifedaythailand