4 มีนาคม 'วันปะการัง' เปิดที่มา แหล่ง 'ปะการัง' มากที่สุด ที่ไม่มีใครรู้
4 มีนาคม 'วันปะการัง' เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของ 'ปะการัง' พร้อมเปิดแหล่งปะการัง ที่มากที่สุดติดอันดับโลก อยู่ที่ไหน
นอกจาก วันที่ 1 มิ.ย. ของทุกปี จะเป็น “วันอนุรักษ์แนวปะการังโลก” (World Coral Reef Day) เพื่อให้ประชาชน ตระหนักถึงความสำคัญของ “ปะการัง” ที่มีส่วนช่วยให้ระบบนิเวศน์ทางทะเล มีความสมดุลต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว หลายคนคงไม่ทราบว่า ในทุกวันที่ 4 มีนาคม ของทุกปี ก็ยังถูกกำหนดให้เป็น “วันปะการัง” ด้วย โดยเริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2539 ในประเทศญี่ปุ่น
“วันปะการัง” ก่อตั้งขึ้น ที่เมืองโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากที่เมืองโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น เป็นที่รู้จักกัน ในฐานะทะเลที่มีปะการังมากที่สุดติดอันดับโลก ซึ่งในช่วงระหว่างเกาะอิชิกาคิ จนถึงเกาะอิริโอโมเตะ จะมีแนวปะการัง “เซคิเซโชโกะ” แนวปะการังที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น อีกทั้ง ยังมีกลุ่มปะการังสีฟ้า ที่มีคุณค่าติดระดับโลกอยู่ด้วย นอกจากนั้น ปะการังราว 200 ชนิด จากปะการังที่มีมากถึงกว่า 800 ชนิดในโลก ได้รับการยืนยันว่า มีอยู่ในโอกินาวา
แต่ในปัจจุบัน เนื่องจากอุณหภูมิของน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น, ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว, การเคลื่อนตัวของดินสีน้ำตาลแดง อันเนื่องจากการก่อสร้างแนวป้องกันชายฝั่ง รวมไปถึงการที่สิ่งมีชีวิตในทะเลอย่าง “โอนิฮิโตเดะ” หรือ “ดาวมงกุฎหนาม” และ “เรอิชิไกดามาชิ” หอยทะเลชนิดหนึ่ง ได้กัดกินปะการังเป็นอาหาร ทำให้ปะการังมีจำนวนลดลง
ประโยชน์ของ “ปะการัง” มีอะไรบ้าง
“ปะการัง” เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญบริเวณชายฝั่งทะเล เป็นที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์จำนวนมาก อีกทั้งเป็นแหล่งอาหารเพื่อการเจริญเติบโต เป็นแหล่งเพาะพันธุ์วางไข่และหลบภัย ปะการังมีความสำคัญต่อระบบนิเวศทางทะเล การประมง และมีส่วนช่วยรักษาสภาพสมดุลธรรมชาติของชายฝั่ง ช่วยลดความรุนแรงของคลื่นที่กระทบต่อชายฝั่ง ความสวยงามของแนวปะการัง ช่วยในด้านพักผ่อนหย่อนใจ และเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวได้อย่างดี สามารถนำรายได้มาสู่ท้องถิ่น
รวมทั้งในปัจจุบัน ได้มีการค้นคว้าเพื่อสกัดสารเคมีต่างๆ จากปะการัง สัตว์ และพืชที่อยู่ในแนวปะการัง เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ แต่ถ้าหากปะการังถูกทำลาย หรือตายไป จะต้องใช้เวลานานมากกว่าที่จะฟื้นตัวขึ้นมาได้ การอนุรักษ์ปะการัง จึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่ต้องทำความเข้าใจ และรู้จักใช้อย่างถูกวิธี รวมทั้งป้องกันไม่ให้เกิดการทำลาย เพื่อจะได้รับประโยชน์จากมรดกทางธรรมชาติที่มีอยู่อย่างยั่งยืน