เช็กด่วน 'ติดแอร์หัวเตียง' เจอ เชื้อราในสมอง เปิดวิธี ติดตั้งแอร์ที่ถูกต้อง
'ติดแอร์หัวเตียงดีไหม' ติดแอร์หัวเตียง ทำให้เกิด เชื้อราในสมอง จริงหรือไม่ พร้อมเปิดวิธี 'ติดตั้งแอร์ที่ถูกต้อง'
มาแล้วฤดูร้อน ที่คาดการณ์ว่า อุณหภูมิจะพุ่งแตะ 40 องศาฯ หลายบ้านที่ไม่มีแอร์ หรือ เครื่องปรับอากาศ ก็เตรียมที่จะติดแอร์ เพื่อช่วยระบายความร้อน แต่การเลือกตำแหน่งติดตั้งเครื่องปรับอากาศ ก็เป็นเรื่องสำคัญมากอย่างหนึ่ง ทั้งเรื่องประหยัดไฟ และ เรื่องของสุขภาพ โดยเฉพาะเมื่อมีการเผยแพร่ข้อมูลเรื่อง “ติดแอร์หัวเตียง” จะทำให้เกิดเชื้อราในสมอง เป็นเรื่องจริงหรือไม่ พร้อมเปิดวิธีติดตั้งแอร์ที่ถูกต้อง
จากกรณีที่มีการส่งต่อข้อมูลโดยระบุว่า ห้ามติดแอร์หัวเตียง เพราะอาจก่อให้เกิดเชื้อราในสมองได้ ทางสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า ตำแหน่งในการติดตั้งแอร์ไม่มีผลต่อการเกิดเชื้อราในสมอง หรือ เนื้องอกในสมอง ซึ่งการเกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับเชื้อรานั้น มีหลากหลายชนิดในสมอง มักเกิดจากการสัมผัสโดยตรง เช่น อุบัติเหตุทางศีรษะ มีเศษดิน เศษพืช หรือน้ำในคลอง ปะปนเข้าไปตามบาดแผล เข้าไปในระบบประสาทส่วนกลาง หรือมีการติดเชื้อราในบริเวณฐานกะโหลกศีรษะ โดยเฉพาะในโพรงไซนัส ซึ่งมักพบในผู้ที่เป็นไซนัสอักเสบเรื้อรังจากเชื้อรา
นอกจากนี้ อาจจะพบการติดเชื้อราในสมองในผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือรับประทานยากดภูมิคุ้มกัน ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้ อาจจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อราในสมอง จากการสูดหายใจเอาสปอร์ของเชื้อราเข้าไปได้เช่นกัน แต่มักไม่ก่อโรคในผู้ที่มีสุขภาพ หรือระบบภูมิคุ้มกันปกติ ส่วนเนื้องอกในสมอง ก็ไม่ได้เกิดจากตำแหน่งในการติดตั้งแอร์แต่อย่างใด
ติดแอร์หัวเตียงดีไหม
การติดตั้งแอร์ไว้เหนือศรีษะและปลายเตียง จะทำให้ห้องเย็นเพียงแค่บางส่วน ไม่ครอบคลุมบริเวณทั่วทั้งห้อง และหากลมแอร์เป่าลงมาปะทะกับร่างกายโดยตรงอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวได้ เพราะเมื่อร่างกายได้รับลมเย็นมากๆ ทำให้อากาศถ่ายเทความร้อนและความชื้นออกจากร่างกาย ในอัตราที่เร็วขึ้น ไม่เพียงแต่จะทำให้รู้สึกไม่สบายขณะนอนหลับเท่านั้น แต่ยังส่งผลเสียเรื่องระบบทางเดินหายใจ อย่างโรคภูมิแพ้ โรคหวัด และปัญหาอื่นๆ อย่างผิวแห้งกร้าน ขาดความชุ่มชื้น ปวดศรีษะหลังจากตื่นนอน ทำให้รู้สึกไม่สดชื่น และส่งผลต่อคุณภาพการนอนในท้ายที่สุด
การติดตั้งแอร์ที่ถูกต้อง
1. เลือกติดตั้งตามขนาดของห้อง
การติดตั้งแอร์นั้น ควรคำนึงถึงขนาดและรูปทรงของห้อง เพื่อให้สัมพันธ์กับทิศทางการกระจายลมของแอร์ วิธีการเลือกตำแหน่งเบื้องต้น ให้ดูว่าจุดไหนของห้องสามารถมองเห็นส่วนต่างๆ ได้อย่างทั่วถึง ซึ่งจุดนั้นจะบ่งบอกถึงความสามารถในการกระจายลมของแอร์ เช่น หากห้องมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ควรติดแอร์ในตำแหน่งแนวยาว จะทำให้ลมจากแอร์กระจายความเย็นได้ทั่วถึงกว่าตำแหน่งแนวขวาง และไม่ควรติดแอร์ไว้ในมุมที่อับ หรือมุมขวางของห้อง เพราะแอร์จะกระจายความเย็นได้แค่จุดใดจุดหนึ่งเท่านั้น ทำให้อุณหภูมิภายในห้องเย็นไม่สม่ำเสมอ
อีกทั้งการเลือก BTU แอร์ให้เหมาะสมกับขนาดของห้องก็เป็นสิ่งจำเป็น เพราะหากเลือกแอร์ที่มีขนาด BTU น้อยกว่าขนาดห้อง ก็จะทำให้การกระจายความเย็นไม่ทั่วถึง แต่หากเลือกขนาด BTU มากกว่าห้อง จะทำให้เปลืองไฟโดยเปล่าประโยนช์
2. ไม่ควรติดตั้งแอร์ไว้เหนือประตู
การติดตั้งแอร์ไว้เหนือประตูของห้อง จะทำให้ความเย็นไหลออกจากห้องได้ง่าย เพราะบริเวณประตูมีการเปิดเข้า-เปิดออกบ่อยครั้ง อากาศหรือความเย็นที่ลดลงบ่อย ส่งผลให้อุณหภูมิภายในห้องเย็นไม่สม่ำเสมอ และแอร์ต้องทำงานหนักมากขึ้น ดังนั้น เพื่อรักษาอุณหภูมิภายในห้องให้เย็นอยู่ตลอดเวลา และไม่เป็นการเปลืองไฟโดยใช่เหตุ จึงไม่ควรติดตั้งแอร์ไว้เหนือประตูของห้องนอน
3.ไม่ควรติดตั้งแอร์ให้โดนแสงแดดโดยตรง
เพราะแสงแดดจะส่งผลให้แอร์ได้รับความร้อน อีกทั้ง ห้องที่มีแสงแดดส่องถึง จะมีอุณหภูมิที่สูงกว่าปกติ ส่งผลให้แอร์ต้องทำงานหนักมากขึ้น และให้ความเย็นช้า ทำให้เราต้องลดอุณหภูมิลงให้ต่ำกว่าปกติ เพื่อเร่งความเย็น สิ่งที่ตามมาคือ ต้องจ่ายค่าไฟเพิ่มมากขึ้น
บทสรุป : ติดแอร์หัวเตียง ไม่มีผลต่อการเกิดเชื้อราในสมอง หรือเนื้องอกในสมอง ซึ่งการเกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับเชื้อรานั้น มีหลากหลายชนิดในสมอง มักเกิดจากการสัมผัสโดยตรง เช่น อุบัติเหตุทางศีรษะ มีเศษดิน เศษพืช หรือน้ำในคลอง ปะปนเข้าไปตามบาดแผล เข้าไปในระบบประสาทส่วนกลาง หรือมีการติดเชื้อราในบริเวณฐานกะโหลกศีรษะ
อย่างไรก็ตาม การทำความสะอาดแอร์สม่ำเสมอ จะช่วยลดการสะสมของฝุ่นละออง และเชื้อโรคชนิดอื่นๆ ซึ่งอาจจะมีผลต่อระบบทางเดินหายใจได้ และผลกระทบจะเกิดขึ้นได้ แม้ว่าจะติดตั้งแอร์ในตำแหน่งใด เพราะจะมีการกระจายของลมและอากาศจากแอร์ไปทั่วตำแหน่งของห้องที่เป็นระบบปิด