ไลฟ์สไตล์

13 มีนาคม "วันช้างไทย" รักช้าง หวงแหนช้าง ช่วยเหลืออนุรักษ์ช้างมากขึ้น

13 มีนาคม "วันช้างไทย" รักช้าง หวงแหนช้าง ช่วยเหลืออนุรักษ์ช้างมากขึ้น

13 มี.ค. 2567

13 มีนาคม "วันช้างไทย" เพื่อประชาชนคนไทยหันมาสนใจช้าง รักช้าง หวงแหนช้าง พร้อมช่วยเหลืออนุรักษ์ช้างมากขึ้น

"วันช้างไทย" ตรงกับวันที่ 13 มีนาคม ของทุกปี เริ่มมาจากคณะอนุกรรมการประสานงานการอนุรักษ์ช้างไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานประสานงาน องค์การภาครัฐและเอกชนที่ทำงานเกี่ยวกับการ อนุรักษ์ช้างไทย คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเล็งเห็นว่าหากมีการสถาปนา วันช้างไทย ขึ้น จะช่วยให้ประชาชนคนไทย หันมาสนใจช้าง รักช้าง หวงแหนช้าง ตลอดจนให้ความสำคัญต่อการให้ความช่วยเหลืออนุรักษ์ช้างมากขึ้น

 

 

คณะอนุกรรมการฯ จึงได้พิจารณาหาวันที่เหมาะสม ซึ่งครั้งแรกได้พิจารณาเอาวันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทำยุทธหัตถี มีชัยชนะเหนือพระมหาอุปราชา แต่วันดังกล่าวถูกใช้เป็นวันกองทัพไทยไปแล้ว จึงได้พิจารณาวันอื่น และเห็นว่าวันที่ 13 มีนาคม ซึ่งเป็นวันที่คณะกรรมการคัดเลือกสัตว์ประจำชาติ มีมติให้ ช้างเผือก เป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทยนั้นมีความเหมาะสม จึงได้นำเสนอมติตามลำดับขั้นเข้าสู่คณะรัฐมนตรี โดยได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อีกทางหนึ่ง ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2541 เห็นชอบให้ วันที่ 13 มีนาคม ของทุกปี เป็น "วันช้างไทย" และได้ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2541 ลงใน ราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2541

 

 

ผลจากการที่ประเทศไทยมี "วันช้างไทย" เกิดขึ้น นับเป็นการยกย่องให้เกียรติว่าเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญอีกครั้ง นอกเหนือจากเกียรติที่ช้างเคยได้รับในอดีต ไม่ว่าจะเป็นช้างเผือกในธงชาติ หรือช้างเผือกที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศ หรือสัตว์คู่พระบารมีของพระมหากษัตริย์

 

 

ช้างไทย

 

"ช้าง" เป็นสัตว์ที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับคนไทยมาอย่างช้านาน มีบทบาททั้งในทางเศรษฐกิจ สังคม และ วัฒนธรรม คนไทยใช้ช้างเป็นสัตว์พาหนะ ใช้เพื่อศึกสงคราม และยังเป็นสัตว์คู่พระบารมีของพระมหากษัตริย์ ไทย ซึ่งสะท้อนความสำคัญด้านจิตใจ ความเป็นสัตว์สูงส่ง และแทนสัญญะที่เป็นมงคล ด้วยความสำคัญและ สง่างาม ช้างไทย นี้เอง หน่วยงานทั้งทางภาครัฐและเอกชนจึงได้กำหนดวันที่ 13 มีนาคม เป็น "วันช้างไทย" เพื่อ ช่วยให้ประชาชนคนไทย เข้าใจถึงความสำคัญของช้าง

 

 

แต่ด้วยความเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศทางธรรมชาติ พื้นที่ป่าที่ลดลงกว่าในอดีต และการขยายตัวของ พื้นที่เกษตรกรรม ทำให้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างเพิ่มมากขึ้นในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ข้อมูล ล่าสุดจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่าประเทศไทยเป็นบ้านของช้างป่าที่ใหญ่ที่สุดใน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีจำนวนประชากรช้างป่าประมาณ 4,013 - 4,422 ตัว อย่างไรก็ตาม ช้างป่าต้อง เผชิญกับความท้าทายที่สำคัญอันเนื่องมาจากสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัย กิจกรรมการพัฒนาของมนุษย์ การเพิ่ม พื้นที่ทางการเกษตร และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับช้างเพิ่ม มากขึ้น

 

 

จากข้อมูลของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ระหว่างปี 2563 - 2566 เกิดเหตุการณ์ของ ความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง มากกว่า 3,800 ครั้ง สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของมนุษย์ ขณะเดียวกันช้างป่าก็บาดเจ็บและเสียชีวิตอันเนื่องมาจากความขัดแย้ง ปรากฎการณ์ความขัดแย้งส่งผล กระทบต่อการดำรงชีวิตของชุมชนและลดพลังการสนับสนุนการ อนุรักษ์ช้างป่า ของประชาชนรอบพื้นที่อนุรักษ์

 

 

สมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน ประเทศไทย (ZSL Thailand) สมาคมนิเวศยั่งยืน (Ecoexist Society) มูลนิธิช้างแห่งประเทศไทย องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS) และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ภาคีหลักการจัดงาน ร่วมกับภาคีหนุนเสริมจากมูลนิธิช้าง แห่งประเทศไทย (Asian Elephant Foundation of Thailand) จึงเล็งเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ช้าง ในวันที่ช้างไทยอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศที่ส่งผลกระทบต่อช้างและผู้คน จนนำมาซึ่ง ความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง ความท้าทายต่อพลวัตการเปลี่ยนแปลงเพื่อแสวงหาสมดุลให้คนรอบพื้นที่และ ช้างป่ามีสิทธิในการดำรงชีพอย่างปลอดภัยและเป็นสุข ไปพร้อมกับการรักษาช้างป่าเอเชียที่เป็นมรดกทาง ธรรมชาติที่ใกล้สูญพันธุ์

 

 

เดือนมีนาคมที่เป็นหมุดหมายของ "วันช้างไทย" ปี 2567 ทางคณะผู้จัดงานวันช้างไทย จึงอยากร่วมสื่อสารกับประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เห็นถึงสถานการณ์ของช้างและการจัดการช้างของประเทศ ไทยบนสถานการณ์ใหม่ โดยการจัดงานวันช้างไทยในวันที่ 16 มีนาคม 2567 ในชื่องาน "งานวันช้างไทย การอนุรักษ์และอยู่ร่วมกัน : ความหวังของวิถีชีวิตที่ยั่งยืนท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลก"

 

 

ข้อมูล : humanelephantvoices.org