ไลฟ์สไตล์

ไขสงสัย นักศึกษาฝึกงาน ต้องได้ค่าตอบแทนไหม ทำงานล่วงเวลา วันหยุด ได้หรือไม่

ไขสงสัย นักศึกษาฝึกงาน ต้องได้ค่าตอบแทนไหม ทำงานล่วงเวลา วันหยุด ได้หรือไม่

25 มี.ค. 2567

ตอบทุกข้อสงสัย นักศึกษาฝึกงาน เด็กฝึกงาน ต้องได้รับค่าตอบแทนจากบริษัทหรือไม่ ถูกใช้งานล่วงเวลา ทำงานวันหยุด บริษัทมีความผิดไหม

"นักศึกษาฝึกงาน ต้องได้รับค่าตอบแทนจากบริษัทหรือไม่" ข้อถกเถียงของสังคมที่ผุดขึ้นมาทุกครั้งเมื่อเข้าสู่ช่วงที่นักศึกษาต้องออกไปเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ทำงานจริง หลายคนตั้งเป้าหมายเป็นบริษัทในฝัน เพื่อเปิดประตูบานแรกก่อนก้าวเข้าสู่โลกของการทำงานจริง บางคนไม่ได้รับประสบการณ์ที่เหมาะสม เหมือนเข้าไปเรียนรู้วิธีการชงกาแฟ หรือถ่ายเอกสารเท่านั้น กลับกันอีกขั้ว บางคนถูกใช้งานหนักเหมือนเป็นพนักงานคนหนึ่งที่ ไม่ได้ค่าตอบแทน จนอาจเรียกได้ว่าเป็น แรงงานฟรี 

 

การไม่มีกฎหมาย ระบุขอบเขตการทำงานของ นักศึกษาฝึกงาน เอาไว้อย่างชัดเจน บางครั้งทำให้กลายเป็นช่องโหว่ของนายจ้าง หรือหัวหน้างานบางคนให้สามารถเอาเปรียบนักศึกษาจนเกินไป เห็นว่าเป็นแรงงานที่ไม่ต้องให้ค่าตอบแทน ก็ใช้แรงงานสะจนเกินคำว่าคุ้ม ทำให้บางคนไม่ได้รับประสบการณ์ทำงานที่ดี แถมยังได้รับบาดแผลทางจิตใจหลับเข้ารั้วมหาวิทลายับอีกด้วย 

เด็กฝึกงาน หรือ นักศึกษาฝึกงาน

 

นักศึกษาฝึกงาน ตามกฎหมายกำหนดว่าเป็นผู้มีอายุ 15 ปีขึ้นไป เข้ามาทำงานกับบริษัทหรือองค์กร โดยมีทั้งแบบที่ทำข้อตกลงกันเป็นสัญญามีลายลักษณ์อักษรชัดเจน และแบบที่ไม่มีการทำสัญญาชัดเจน ต่างจากการทำงานพาร์ทไทม์ที่จะต้องมีการทำสัญญาว่าจ้างให้ชัดเจน นอกจากนี้ นักศึกษาฝึกงาน หรือเด็กฝึกงานยังมีระยะเวลากำหนดอย่างชัดเจนว่าสามารถฝึกงานได้ไม่ต่ำกว่า 2 เดือน แต่ห้ามเกิน 1 ปีเท่านั้น และ ห้ามทำงานล่วงเวลา


นักศึกษาฝึกงาน เป็นลูกจ้างตามกฎหมายแรงงานหรือไม่ ? 

 

หากพิจารณาตามมาตรา 5 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ ได้กำหนดไว้ว่า "ลูกจ้าง" หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้างไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร

 

ดังนั้นหากพิจารณาตามความหมายดังกล่าว สามารถสรุปได้ดังนี้

 

สิ่งที่สำคัญจะทำให้เป็นนายจ้างกับลูกจ้างกันคือ "ค่าจ้าง" นั่นเอง กล่าวคือ หากการทำงานของนักศึกษาฝึกงานคนนั้นเป็นไปเพื่อให้ได้รับจ้างเพื่อเป็นการตอบแทนการทำงานให้แก่นายจ้าง สัญญาจ้างย่อมเกิดขึ้นตามกฎหมาย ทำให้นักศึกษาฝึกงานคนดังกล่าวอยู่ในฐานะ "ลูกจ้าง"

 

แต่ในทางกลับกัน หาก นักศึกษาฝึกงาน ทำงานเพื่อหาประสบการณ์หรือฝึกงานเพื่อให้เป็นตามเงื่อนไขที่กำหนดในหลักสูตร โดยสาระสำคัญไม่ได้อยู่ที่การได้รับค่าจ้างเป็นการตอบแทนในการทำงาน กล่าวคือ แม้ว่าไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่นักศึกษาฝึกงาน แต่นักศึกษาฝึกงานก็ยังอยากเข้าทำงานที่นั่นอยู่ดี ในกรณีนี้จึงทำให้นักศึกษาฝึกงานคนดังกล่าวไม่มีคุณสมบัติตามบทนิยามของคำว่า "ลูกจ้าง" ตามที่กฎหมายกำหนด พูดง่าย ๆ ไม่ใช่ลูกจ้างตามกฎหมายนั่นเอง

 

ข้อมูลจาก : คลินิกกฎหมายแรงงาน

นักศึกษาฝึกงาน ต้องได้รับค่าตอบแทนจากบริษัทหรือไม่ ?

 

กรณีของเด็กฝึกงานหรือ นักศึกษาฝึกงาน บริษัทสามารถที่จะ ให้หรือไม่ให้ค่าตอบแทนก็ได้แบ่งเป็น 2 กรณี ดังนี้ 

 

แบบไม่จ่ายค่าตอบแทน

 

ตามที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ชี้แจงไว้ คือ ไม่ว่าจะเป็นการฝึกงานตามกฎหมายของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน หรือตามที่สถาบันการศึกษาส่งมาฝึกงาน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการศึกษา “ไม่ว่าแบบใดก็ตาม บริษัทจะไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าจ้าง และส่งเงินสมทบประกันสังคม

 

แบบจ่ายค่าตอบแทน

 

ตามกฎหมายไม่ได้บังคับว่าจะต้องจ่ายค่าตอบแทนนักศึกษาฝึกงาน แต่ถ้าบริษัทเลือกที่อยากจะให้ค่าตอบแทนเอง เรทค่าตอบแทนดังกล่าว ก็จะขึ้นอยู่กับว่าสัญญาฝึกงานนั้นระบุไว้ว่าอย่างไรบ้าง  หากระบุไว้ว่าเป็นสัญญาจ้างงาน ก็ต้องอิงตามกฎหมายแรงงาน มีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามจังหวัด เหมือนพนักงานปกติ

 

ซึ่งค่าตอบแทนที่บริษัทหรือนายจ้างมักให้กับนักศึกษาฝึกงานจะเป็นรูปแบบของ เบี้ยเลี้ยง เป็นส่วนใหญ่ โดยเมื่อในสัญญาฝึกงาน ระบุไว้แล้วว่าจะได้เงินเป็นเบี้ยเลี้ยง บริษัทก็ต้องจ่ายเงินตามกฎหมายเบี้ยเลี้ยงปกติ ซึ่งก็คือ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในจังหวัดนั้นๆ

 

แต่ถ้าหากนักศึกษามาขอฝึกเอง ไม่ได้มาเพราะส่วนหนึ่งของหลักสูตร หรือไม่ได้มีจดหมายจากสถาบันมาขอฝึกงาน แบบนี้ จะนับว่าเป็นการทำงานปกติ มีฐานะเป็นนายจ้างลูกจ้างกัน ต้องทำทุกอย่างตามกฎหมายแรงงานเหมือนพนักงานปกติคนหนึ่งทุกประการ จะให้เป็นนักศึกษาฝึกงานไม่ได้

 

นักศึกษาฝึกงาน ทำงานล่วงเวลาได้หรือไม่ ? 

 

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ระบุว่า การทำงานล่วงเวลาของนักศึกษาฝึกงาน เป็นการกระทำที่ไม่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 โดยห้ามไม่ให้ทำงานล่วงเวลา ห้ามทำงานในวันหยุด และให้มีการกำหนดเวลาฝึกงาน ที่สำคัญวันเวลาการพัก วันหยุด ควรอยู่ในกรอบกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เช่น ไม่เกิน 8 ชั่วโมง มีวันหยุดต่างๆ ให้เขาได้หยุด เป็นต้น

 

นอกจากนี้ กฎหมายแรงงาน สำหรับ นักศึกษาฝึกงาน ระบุไว้ว่า ทำได้ไม่เกิน 8 ชั่วโมง/วัน และเช่นเดียวกับพนักงานทั่วไป นักศึกษาฝึกงานต้องมีเวลาพัก อย่างน้อย 1 ชม./วันด้วยเช่นกัน

 

ข้อมูลจาก : flash-hr