ไลฟ์สไตล์

รู้จัก 'ชุดไทย' 8 แบบ หลัง ครม.เคาะเสนอยูเนสโก เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

รู้จัก 'ชุดไทย' 8 แบบ หลัง ครม.เคาะเสนอยูเนสโก เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

26 มี.ค. 2567

ในปี 2503 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ศึกษาวิวัฒนาการรูปแบบการแต่งกายของสตรีไทย และสร้างสรรค์ 'ชุดไทย' ขึ้น 8 แบบ เรียกว่า ชุดไทยพระราชนิยม

ชุดไทย เป็นเครื่องแต่งกายที่แสดงถึงอัตลักษณ์ความเป็นไทย ได้รับการพัฒนามาเป็นเวลานาน พบหลักฐานมีการนุ่ง และการห่ม มากว่า 1400 ปี ตั้งแต่สมัยทวารวดี อยุธยาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ ภาพการแต่งกายจึงเป็นหลักฐานสำคัญที่บอกเล่าให้คนรุ่นหลัง ได้รับรู้และสืบทอด ในปี 2503 ชุดไทยได้รับการพัฒนารูปแบบครั้งสำคัญ เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ศึกษาวิวัฒนาการรูปแบบการแต่งกายของสตรีไทย และสร้างสรรค์ชุดไทยขึ้น 8 แบบ เรียกว่า ชุดไทยพระราชนิยม ส่วนของสุภาพบุรุษ มี 3 แบบ คนไทยทุกภูมิภาคมักสวมใส่ชุดไทยในวาระโอกาสต่างๆ และเมื่อมีโอกาสสำคัญในชีวิต ทั้งงานรัฐพิธี งานพิธีการทางศาสนา ถือเป็นแนวปฏิบัติทางสังคมและยังเป็นกระบวนการผลิตของช่างฝีมือไทยทั้งในเรื่องของการทอผ้าที่ใช้เป็นวัตถุดิบ และงานช่างตัดเย็บ ตลอดจนการปักประดับลวดลายบนผืนผ้าอีกด้วย

สำหรับ ชุดไทย 8 แบบ หรือ ชุดไทยพระราชนิยม ประกอบด้วย

 

ชุดไทยจักรพรรดิ

 

1. ชุดไทยจักรพรรดิ ตั้งชื่อตามพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ใช้ซิ่นไหมหรือยกทอง เอวจีบ จีบหน้า มีชายพก ห่มแพรจีบแบบไทย เป็นชั้นที่หนึ่งก่อนแล้วจึงใช้สไบปักอย่างสตรีบรรณาศักดิ์สมัยโบราณ ห่มทับแพรจีบอีกชั้นหนึ่ง ใช้เข็มขัดไทยคาด ใช้ในโอกาสพิเศษที่กำหนดให้แต่งกายแบบเต็มยศ

 

ชุดไทยจักรี

 

2. ชุดไทยจักรี ตั้งชื่อตามพระที่นั่งจักรีมหาประสาท (ชุดไทยห่มสไบ) ซิ่นมีจีบยกข้างหน้า มีชายพก ใช้ผ้ายกมีเชิงหรือยกทั้งตัวคาดเข็มขัดไทย ท่อนบนเป็นสไบ จะเย็บติดกับซิ่นหรือท่อนเดียวกัน หรือจะมีสไบห่มต่างหากก็ได้เปิดบ่าข้างหนึ่ง ชายสไบคลุมทิ้งชายด้านหลังยาวตามเห็นสมควร ใช้สำหรับงานตอนค่ำ สวมใส่เครื่องประดับให้งดงามตามโอกาส

 

ชุดไทยดุสิต

 

3. ชุดไทยดุสิต ตั้งชื่อตามพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ตัวเสื้อไม่มีแขน คอด้านหน้า-หลัง คว้านกว้าง มีลวดลายสวยงาม เหมาะกับการสวมสายสะพายในพระราชพิธีเต็มยศ ใช้ผ้ายกไหมหรือยกทอง จีบหน้า มีชายพก จีบเอว ใช้เข็มขัดไทยคาด เป็นเสื้อผ่าหลัง และปักเป็นลวดลายด้วยไข่มุก ลูกปัดหรือเลื่อม ใช้ในงานพระราชพิธีตอนค่ำ ที่กำหนดให้แต่งกายเต็มยศ

 

ชุดไทยบรมพิมาน

 

4. ชุดไทยบรมพิมาน ตั้งชื่อตามพระที่นั่งบรมพิมาน ใช้ผ้ายกไหมหรือยกทองมีเชิง หรือยกทองทั้งตัวก็ได้ตัดติดกันกับตัวเสื้อ หรือเป็นเสื้อคนละท่อนก็ได้ซิ่นจีบหน้ามีชายพก ยาวจรดข้อเท้า ใช่เข็มขัดไทยคาดเสื้อคอกลม ขอบตั้ง ผ่าด้านหน้าหรือด้านหลังก็ได้แขนยาว ใช้สำหรับงานพิธีตอนค่ำ เหมาะสำหรับงานพิธีเต็มยศและครึ่งยศ เช่น งานอุทยานสโมสร งานพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำอย่างเป็นทางการ หรือเป็น ชุดเจ้าสาว

 

ชุดไทยบรมพิมาน

 

5. ชุดไทยอมรินทร์ ตั้งชื่อตามพระที่นั่งอมรินทร์วินิจฉัย แบบเหมือนไทยจิตรลดา ต่างกันที่ใช้ผ้าและเครื่องประดับหรูหรากว่าไทยจิตรลดา ใช้ผ้าไหมยกดอกที่มีทองแกมหรือยกทองทั้งตัว เสื้อคนละท่อนกับซิ่น ไม่มีเข็มขัด ใช้สำหรับพิธีตอนค่ำ เหมาะสมสำหรับงานเลี้ยงรับรองรับเสด็จ ไปดูละครตอนค่ำ และ เฉพาะในงานพระราชพิธีสวนสนามในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ หรือ ใช้ในโอกาสพิเศษที่กำหนดให้แต่งกายเต็มยศหรือครึ่งยศ เช่น ในงานพระราชพิธีหรืองานสโมสรสันนิบาต

 

ชุดไทยศิวาลัย

 

6. ชุดไทยศิวาลัย ตั้งชื่อตามพระที่นั่งศิวาลัย ซิ่นแบบไทยจักรพรรดิ ใช้ซิ่นไหมหรือยกทอง มีชายพกเสื้อตัดแบบแขนยาว ผ่าหลัง เย็บติดกับผ้าซิ่นคล้ายไทบรมพิมาน แต่ห่มปักลายไทยอย่างแบบไทยจักรพรรดิทับโดยไม่ต้องมีแพรจีบรองพื้นก่อน ใช้ในโอกาสพิเศษที่กำหนดให้แต่งกายเต็มยศ เหมาะสำหรับเวลาที่มีอากาศค่อนข้างเย็น

 

ชุดไทยจิตรลดา

 

7. ชุดไทยจิตรลดา ตั้งชื่อตามพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ใช้ผ้าไหมเกลี้ยงมีเชิง หรือทอยกดอกทั้งตัวก็ได้ตัดเป็นซิ่นยาว ป้ายหน้า เสื้อคนละท่อนกับซิ่น คอกลมมีขอบตั้งน้อยๆ ผ่าอก แขนยาว เป็นชุด ไทยที่ใช้ในพิธีกลางวัน ใช้ในโอกาสพิเศษ เช่น งานพระราชพิธีต่างๆ รับประมุขจากต่างประเทศที่มาเยือนอย่างเป็นทางการ ไม่ต้องประดับ เครื่องราชอิสริยาภรณ์

 

ชุดไทยเรือนต้น

 

8. ชุดไทยเรือนต้น ตั้งชื่อตามเรือนต้น ใช้ผ้าไหมมีลายริ้ว ตามขวางหรือตามยาว หรือใช้ผ้าเกลี้ยงมีเชิงซิ่น ยาวจรดข้อเท้า ป้ายหน้า เสื้อใช้ผ้าสีตามริ้วซิ่นหรือเชิงซิ่น จะตัดกับวิ่นหรือสีเดียวกันก็ได้ เสื้อคนละท่อนกับซิ่น แขนสามส่วน กว้างพอสบาย ผ่าอก กระดุม 5 เม็ด คอกลมตื้นไม่มีขอบตั้งที่คอ ใช้แต่งในงานที่ไม่เป็นพิธีการหรือในโอกาสปกติและต้องการความสบาย เรียบง่าย เช่น งานกฐิน เที่ยวเรือ งานทำบุญ วันสำคัญทางศาสนา ข้อสำคัญต้องเลือกใช้ผ้าที่ใช้ตัดให้เหมาะสมกับเวลาและสถานที่