"วันแรงงาน 2567" ประวัติ ความสำคัญ ใน 1 ปี ลูกจ้าง ได้หยุดกี่วัน ลาอะไรได้บ้าง
"วันแรงงาน 2567" หรือ วัน May Day เปิดประวัติ มีความสำคัญอย่างไรกับ แรงงาน ใน 1 ปี ลูกจ้าง จะได้หยุดกี่วัน สามารถลาอะไรได้บ้าง
"วันแรงงาน 2567" (Labour Day) เป็นวันหยุดประจำปีที่เฉลิมฉลองไปทั่วโลก ซึ่งเป็นผลมาจากการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงาน เพื่อที่จะฉลองผลงานทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้ใช้แรงงาน "วันแรงงาน" มีจุดกำเนิดจากการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเคลื่อนไหวแปดชั่วโมงต่อวัน ที่สนับสนุนให้ใน 1 วัน ทำงาน 8 ชั่วโมง สันทนาการ 8 ชั่วโมง และพักผ่อน 8 ชั่วโมง ประเทศส่วนใหญ่ฉลอง "วันแรงงาน" ในวันที่ 1 พฤษภาคม หรือที่เรียกกัน May Day
"วันแรงงาน" ในประเทศไทย
เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี พ.ศ. 2475 ที่มีการจัดการบริหารแรงงานเกิดขึ้น โดยเป็นการจัดสรรและพัฒนาแรงงาน ตลอดจนคุ้มครองและดูแลสภาพการทำงานของ แรงงาน โดยมีจุดประสงค์เพื่อเป็นการสร้างรากฐานและส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างให้ดียิ่งขึ้น
ในวันที่ 20 เม.ย. 2499 คณะกรรมการจัดงานที่ระลึกแรงงานได้จัดประชุมขึ้น ก่อนที่จะมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่าควรกำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันที่ระลึกถึง แรงงานไทย ก่อนจะออกหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อให้รับรอง ทำให้จากนั้นในวันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปี จึงกลายเป็น วันกรรมกรแห่งชาติ ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนชื่อเป็น วันแรงงานแห่งชาติ จนมาถึงปัจจุบัน
ปี พ.ศ. 2500 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติกำหนดวิธีระงับข้อพิพาทแรงงาน ซึ่งได้มีการกำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิ์หยุดงานใน วันแรงงานแห่งชาติ ด้วย แต่พระราชบัญญัติด้งกล่าวกลับมีอายุเพียงแค่ 18 เดือน ก่อนจะถูกยกเลิกไป โดยมีประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 19 มาแทน ซึ่งเป็นการให้อำนาจกระทรวงมหาดไทยออกประกาศกำหนดเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน และกำหนดให้เป็นหยุดตามประเพณี แต่สถานการณ์ในขณะนั้นไม่ค่อยแน่นอน จึงมีคำสั่งชี้แจงออกมาในทุกๆ ปี เพื่อเป็นการเตือน นายจ้าง ให้ ลูกจ้าง ได้หยุดงานในวันที่ 1 พฤษภาคม แต่ก็มีการขอความร่วมมือไม่ให้มีการเฉลิมฉลอง
ปี พ.ศ. 2517 ได้เริ่มมีการผ่อนปรนให้มีการเฉลิมฉลองตามสมควร ซึ่ง กรมแรงงาน ที่ขณะนั้นสังกัดอยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทย รับผิดชอบในการจัดงานฉลองที่สวนลุมพินี โดยภายในงานมีการจัดพิธีทำบุญตักบาตร นิทรรศการให้ความรู้และกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย
วันแรงงานแห่งชาติ ไม่ถือว่าเป็นวันหยุดทางราชการ หน่วยงานราชการก็ยังคงเปิดทำงานและให้บริการตามปกติ ส่วนที่มีการหยุดงานจะเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานเอกชน
การคุ้มครองแรงงาน ที่ลูกจ้างควรรู้
วันหยุด
วันหยุดประจำสัปดาห์
ไม่น้อยกว่า 1 วัน/สัปดาห์ โดยให้มีระยะห่างกันไม่เกิน 6 วัน สำหรับงานโรงแรม งานขนส่ง งานในป่า งานในที่ทุรกันดาร หรืองานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงอาจตกลงกันสะสมและเลื่อนวันหยุดประจำ สัปดาห์ไปหยุดเมื่อใดก็ได้ภายในระยะเวลา 4 สัปดาห์ติดต่อกัน
วันหยุดตามประเพณี
ไม่น้อยกว่า 13 วัน/ปี โดยรวมวันแรงงานแห่งชาติ โดยพิจารณาจากวันหยุดราชการประจำปี วันหยุดทางศาสนาหรือขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งท้องถิ่น ถ้าวันหยุดตามประเพณีตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ให้หยุดชดเชยวันหยุดตาม ประเพณีในวันทำงานถัดไป สำหรับงานในกิจการโรงแรม สถานมหรสพ ร้านขายอาหาร ร้านขายเครื่องดื่ม ฯลฯ อาจตกลงกันหยุดวันอื่นชดเชยวันหยุดตามประเพณี หรือจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้ก็ได้
วันหยุดพักผ่อนประจำปี
ไม่น้อยกว่า 6 วันทำงาน/ปี สำหรับลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาครบ 1 ปี อาจตกลงกันล่วงหน้าสะสมและเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปี ไปรวมหยุดในปีต่อๆ ไปได้
วันลา
วันลาป่วย
ลูกจ้าง ลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง การลาป่วยตั้งแต่ 3 วันทำงานขึ้นไปนายจ้างอาจให้ลูกจ้างแสดงใบรับรองของแพทย์แผนปัจจุบันชั้น หนึ่งหรือของสถานพยาบาลของทางราชการได้ หากลูกจ้างไม่อาจแสดงได้ให้ลูกจ้างชี้แจงให้นายจ้างทราบ วันที่ลูกจ้างไม่อาจทำงานได้เนื่องจากประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยซึ่งเกิดจาก การทำงาน หรือวันลาเพื่อคลอดบุตรไม่ถือเป็นวันลาป่วย
วันลากิจ
ลูกจ้างลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นได้ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน
วันลาทำหมัน
ลูกจ้างลาเพื่อทำหมันและเนื่องจากการทำหมันได้ตามระยะเวลาที่แพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งกำหนดและออกใบรับรอง
วันลารับราชการทหาร
ลูกจ้างลาเพื่อรับราชการทหารในการเรียกพล เพื่อตรวจสอบฝึกวิชาทหาร หรือทดลองความ พรั่งพร้อมตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหารได้
วันลาคลอดบุตร
ลูกจ้างหญิงมีครรภ์ลาเพื่อคลอดบุตรได้ครรภ์หนึ่งไม่เกิน 90 วัน โดยนับรวมวันหยุด
วันลาฝึกอบรม
ลูกจ้าง มีสิทธิลาเพื่อการฝึกอบรมหรือพัฒนาความรู้ความสามารถเพื่อประโยชน์ต่อการแรง งานและสวัสดิการสังคมหรือการเพิ่มทักษะความชำนาญเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการ ทำงานของลูกจ้างตามโครงการหรือหลักสูตร ซึ่งมีกำหนดช่วงเวลาที่แน่นอนและชัดเจน และเพื่อการสอบวัดผลทางการศึกษาที่ทางราชการจัดหรืออนุญาตให้จัดขึ้น ลูกจ้างต้องแจ้งเหตุในการลาโดยชัดแจ้ง พร้อมทั้งแสดงหลักฐานที่เกี่ยวข้อง (ถ้ามี) ให้นายจ้างทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วันก่อนวันลา นายจ้างอาจไม่อนุญาตให้ลาหากในปีที่ลาลูกจ้างเคยได้รับอนุญาตให้ลามาแล้วไม่ น้อยกว่า 30 วัน หรือ 3 ครั้งหรือแสดงได้ว่าการลาของลูกจ้างอาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือกระทบต่อ การประกอบธุรกิจของนายจ้าง
ข้อมูล การคุ้มครองแรงงาน แบบเต็ม คลิก