ประวัติ 'Golden Boy' และ 'สตรีพนมมือ' จิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญทางประวัติศาสตร์
เปิดประวัติ ประติมากรรมสำริด "Golden Boy" และ "สตรีพนมมือ" วัตถุโบราณชิ้นสำคัญ จิ๊กซอว์ทางประวัติศาสตร์ไทย
ประติมากรรมสำริด "Golden Boy" และ "สตรีพนมมือ" วัตถุโบราณ ทั้งสองชิ้นที่มีความสำคัญในแง่ของหลักฐานทางประวัติศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยได้ถูกส่งกลับเข้ามายังประเทศโดยการส่งมอบคืนจาก พิพิธภัณฑ์ศิลปะ The Metropolitan Museum of Art หรือ The MET รัฐนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา
สำหรับเหตุผลที่ทาง พิพิธภัณฑ์ ส่งวัตถุโบราณ Golden Boy และ สตรีพนมมือ คืนให้ประเทศไทยเนื่องจากทั้งสองชิ้นเป็นโบราณวัตถุที่ถกลักลอบซื้อขายและนำออกจากแผ่นดินไทยอย่างผิดกฎหมาย
ทางด้านของ กรมศิลปากร มีพิธีรับมอบอย่างเป็นทางการ วันที่ 21 พ.ค. 2567 จากนั้นนำไปจัดแสดงที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เพื่อศึกษาเก็บข้อมูล และจะเปิดให้ประชาชนเข้าชมตั้งแต่ 22 พ.ค. 2567 เป็นต้นไป
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ประวัติ Golden Boy ประติมากรรมสำริด พระเจ้าชัยวรมันที่ 6
Golden Boy เป็นชื่อทางการค้าของ ประติมากรรมสำริด พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 คือรูปสำริด กษัตริย์องค์ต้นตระกูลราชวงศ์มหิธรปุระ ผู้เป็นชาวเมืองพิมายที่ลงไปปราบกบฎในกรุงยโศธรปุระ และปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ครองกรุงยโศธรปุระ (นครธมในเวลาต่อมา) ทายาทของพระองค์ที่สืบต่อมา เช่น พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2, พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ราชวงศ์ของพระองค์ยังมีความเกี่ยวข้องกับ "นเรนทราทิตย์" ผู้มีอำนาจอยู่ในเมืองพนมรุ้ง เป็นต้น
ราชวงศ์มหิธรปุระของพระองค์ (Mahidharapura) เป็นราชวงศ์ "วรมัน" สุดท้ายของกรุงกัมพูชาโบราณ ก่อนที่จะถูกล้มล้างโดยราชวงศ์ใหม่อย่าง "แตงหวาน" หรือ ตระซ็อกประแอม หลังจากนั้นเป็นต้นมา กษัตริย์เมืองพระนครธมก็มิได้มีคำว่า "วรมัน" ต่อท้ายพระนามอีกเลย
เดิมประติมากรรมสำริดองค์นี้ถูกค้นพบอยู่ที่บ้านยาง อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ ต่อมาถูกลักลอบออกไปประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเหลือแต่ฐานหินที่มีรูเสียบไว้ (ข้อมูลจาก ASEAN "มอง" ไทย)
ดร.ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระด้านโบราณคดี และหนึ่งในคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า หลักฐานชิ้นสำคัญที่ยืนยันว่า พบ Golden Boy ที่บ้านยางโป่งสะเดา ต.ตาจง อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ ประเทศไทย คือหนังสือ 2 เล่ม ได้แก่ ขแมร์บอนด์ และขแมร์โกลด์ ที่เขียนโดยดักลาส แลตช์ฟอร์ด (Douglas A.J. Latchford) นายหน้าค้าโบราณวัตถุ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำ Golden Boy ออกนอกประเทศ
โดยเป็นหลักฐานที่ระบุชัดเจนว่า วัตถุโบราณ Golden Boy พบที่ จ.บุรีรัมย์ ประเทศไทย โดยมีคำว่า "ละหาน" และ "บ้านยาง" อยู่ในพิกัด ทำให้ทีมงานนักโบราณคดีของไทย นำมาต่อจิ๊กซอว์ และใช้เวลาศึกษาอยู่นานกว่า 3 ปี จนทราบแน่ชัดว่า มีชาวบ้านขุดพบที่หมู่บ้านยางโป่งสะเดา ต.ตาจง อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ เมื่อลงพื้นที่ไปสำรวจก็พบกับครอบครัวที่ขุดวัตถุโบราณ Golden Boy ได้ จึงนำไปดูร่องรอยของฐานประติมากรรมสำริดดังกล่าว ซึ่งอยู่ในปราสาทบ้านยางโป่งสะเดา
ดร.ทนงศักดิ์ ระบุต่อว่า การค้นพบประติมากรรมสำริด Golden Boy ในครั้งนี้ มีความสำคัญมาก เป็นการพลิกหน้าประวัติศาสตร์เกี่ยวกับวัฒนธรรมและความเชื่อของอาณาจักรเขมรโบราณแบบเดิมโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะลักษณะของรูปหล่อ Golden Boy มีลักษณะเหมือนรูปสลักที่ปราสาทหินพิมาย ไม่เหมือนพระศิวะที่เคยเห็นโดยทั่วไป
ดังนั้น จึงน่าจะเป็นรูปเคารพของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ซึ่งพระองค์เป็นต้นราชวงศ์มหิธรปุระ สืบเชื้อพระวงศ์มาจากพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ที่สร้างปราสาทหินเขาพระวิหาร โดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ได้สร้างปราสาทหินพิมายขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางการปกครองของอาณาจักรเขมรโบราณทั้งหมด ทำให้เราต้องเปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์ใหม่
ประวัติ ประติมากรรมสตรีพนมมือ
ประติมากรรมสตรีนั่งชันเข่าพนมมือ สันนิษฐานว่าเป็นสตรีชั้นสูงในราชสำนัก อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 หรือประมาณ 900-1,000 ปีมาแล้ว สูง 43 ซม. หล่อด้วยสำริด
ประติมากรรมสตรีพนมมือ และ Golden Boy ไม่มีความเกี่ยวข้องกันในเรื่องของแหล่งที่มาแต่ ดร. ทนงศักดิ์ ให้ควมเห็นว่า หากโบราณวัตถุทั้งสองชิ้นมีความสัมพันธ์กัน การนั่งพนมมือไหว้อาจแสดงถึงการเคารพบูชาคนที่สำคัญ