มาดูประโยชน์กัญชาที่ใช้ทางการแพทย์ ไขข้อสงสัย CBD และ THC ในกัญชา คืออะไร?
"กัญชา" ถือเป็นสมุนไพรที่มีประโยชน์ทางการแพทย์ แต่หากใช้ไม่ถูกต้อง ใช้เกินความจำเป็นก็ส่งผลเสียต่อสุขภาพ แล้วกัญชามีประโยชน์การแพทย์อย่างไรช่วยอะไรเราได้บ้าง พร้อมไขข้อสงสัยว่าสาร CBD และ THC ในกัญชา คืออะไรกันนะ?
หลังจากที่มีการปลดล็อก "พืชกัญชา" และ "กัญชง" จากการเป็นยาเสพติด เสมือนว่าดาบสองคม เนื่องจากกฎหมายที่ใช้ควบคุม ในเรื่องการใช้ประโยชน์จากกัญชา ยังคงไม่ครอบคลุมทุกมิติ โดยเฉพาะจากการนำไปใช้ประโยชน์ในทางที่ผิดจากเจตนารมณ์การปลดล็อกกัญชา เช่น การกัญชานำไปใช้เชิงสันทนาการ และการเข้าถึงโดยง่ายมากยิ่งขึ้น ทำให้ประชาชนจำนวนรวมถึงเยาวชนจำนวนไม่น้อย นำกัญชาไปใช้ในทางที่ผิดเพิ่มมากขึ้น จนตามมาด้วยปัญหาต่าง ๆ ทางสังคมที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น
ซึ่งล่าสุด เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2567 "นายเศรษฐา ทวีสิน" นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยให้กระทรวงสาธารณสุข เร่งแก้ไขกฎกระทรวงเพื่อให้กัญชากลับไปอยู่ในบัญชียาเสพติดประเภท 5 ที่ใช้สำหรับทางการแพทย์ ทำให้เกิดการถกเถียงในสังคมเป็นวงกว้าง ไม่ว่าจะประชาชน รวมถึงผู้ขายกัญชาเพื่อสันทนาการทั่วประเทศ กลุ่มสมาพันธ์กัญชาเพื่อประชาชน ซึ่งมียื่นหนังสือถึงพรรคการเมือง เพื่อคัดค้านแนวคิดที่จะนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด และขอให้เดินหน้าผลักดันร่างพระราชบัญญัติควบคุมกัญชา กัญชง
รู้จัก "กัญชา" หรือ "Cannabis"
"กัญชา" พืชที่มีทั้งประโยชน์และโทษในตัว โดยปัจจุบันมีหลายประเทศรวมถึงประเทศไทย ได้มีการนำเอากัญชามาใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะจากสารที่อยู่ในกัญชา มาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีประเทศอีกจำนวนไม่น้อยที่มองว่า "กัญชา" นั้นมีโทษ สามารถสร้างปัญหาให้สังคมได้มากกว่าประโยชน์ จึงยังกำหนดให้ "กัญชา" เป็นยาเสพติด ใครที่ครอบครองถือมีความผิดตามกฎหมาย ประเด็นเรื่องของประโยชน์และโทษของกัญชา แม้จะยังเป็นข้อถกเถียง แต่เชื่อหรือไม่ว่า โลกใบนี้ให้ความสำคัญต่อ "กัญชา" ถึงขนาดมีการกำหนดให้มีวันสากลของโลกสำหรับ "กัญชา" ขึ้น โดยกำหนดให้ทุกวันที่ 20 เมษายนของทุกปี เป็น "วันกัญชาโลก" หรือ "World Cannabis Day"
“กัญชา” ถือเป็นสมุนไพรมีประโยชน์ทางการแพทย์ แต่หากใช้ไม่ถูกต้อง ใช้เกินความจำเป็น หรือมีสาร THC เกิน 0.2% ซึ่งกัญชา เป็นสารที่มีผลต่อสุขภาพ ผลข้างเคียงของการบริโภคกัญชา อาจมีอาการปากแห้ง คอแห้ง ง่วงนอน วิงเวียน เกิดขึ้น 30 นาที ถึง 3 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับปริมาณที่บริโภค เเละอาจทำให้เกิดอาการวิกฤตที่ส่งผลต่อระบบสาธารณสุข และเศรษฐกิจของประเทศได้ กัญชา มีสารสำคัญหลากหลายชนิด เช่น แคนนาบินอยด์ นำมาใช้ในการรักษาหรือบรรเทาอาการปวดของโรค คำแนะนำในการใช้กัญชามาใช้ในทางการแพทย์ ปี 2564 โดยกรมการแพทย์
5 โรคที่นำประโยชน์ของกัญชามาร่วมในการรักษา
- ภาวะคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด
- โรคลมชักที่รักษายาก และโรคลมชักที่ดื้อต่อยารักษา
- ภาวะปวดประสาทส่วนกลาง ที่ใช้วิธีรักษาอื่นๆ แล้วไม่ได้ผล
- ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง ในผู้ป่วยปลอกประสาทเสื่อมแข็ง
- ภาวะเบื่ออาหารในผู้ป่วย AIDS ที่มีน้ำหนักน้อย
4 กลุ่มโรคที่น่าจะได้รับประโยชน์จากสารกัญชา แต่ยังต้องการงานวิจัยสนับสนุน
- โรคพาร์กินสัน
- โรคอัลไซเมอร์
- โรคปลอกประสาทอักเสบอื่นๆ (ที่ไม่ใช่ปลอกประสาทเสื่อมแข็ง)
- โรคอื่นๆ ที่มีข้อมูลสนับสนุนทางวิชาการว่าน่าจะได้รับประโยชน์
CBD และ THC ในพืชกัญชา คืออะไร??
ในกัญชานั้นมีสารทั้ง 2 ชนิดอยู่ ซึ่งตอนแรกค้นพบ THC ก่อน และภายหลังจึงรู้จัก CBD คือทั้งสองชนิดนี้คล้ายคลึงกันมากๆ (แต่มันให้ผลลัพธ์ต่างกัน) อธิบายตามหลักวิทยาศาสตร์ก็คือ ทั้งสองประกอบด้วย คาร์บอน 21 อะตอม ไฮโดรเจน 30 อะตอม และอ็อกซิเจน 2 อะตอม แต่ที่มันต่างกันก็เพราะ “การเรียงตัวของอะตอม” ไม่เหมือนกัน
ความแตกต่างระหว่าง THC และ CBD
คิดภาพง่ายๆ เหมือนกับเราต่อเลโก้สร้างบ้านของเล่น 2 หลัง ใช้ตัวต่อแบบเดียวกัน แถมมีจำนวนชิ้นตัวต่อเท่ากัน แต่ต่อคนละแบบ มันก็เลยออกมาไม่เหมือนกันนั่นเอง ในอดีต เมื่อมนุษย์รู้จักการสูบกัญชา พวกเขาก็เข้าใจว่ากัญชาทำให้ผ่อนคลาย และ “เก็ทไฮ” ได้ตั้งแต่ยังไม่รู้จักสารของมัน พอภายหลังรู้ว่ามีส่วนประกอบของ THC ก็เริ่มเข้าใจว่าสารนี้แหละทำให้ผ่อนคลาย และยังมีผลต่อระบบประสาท แต่พอศึกษาไปอีก ก็พบว่ามีสาร CBD อีกตัว ที่ช่วยให้ผ่อนคลายเหมือนกัน แต่สารนี้ไม่ส่งผลให้ “เก็ทไฮ” แต่อย่างใด ซึ่งพอยิ่งศึกษาต่อไปเรื่อยๆ ทั้งการเพิ่มปริมาณ (Dose) ของ CBD ให้มากขึ้นไปอีก ก็พบว่าเจ้าสารตัวนี้มันแทบไม่มีผลข้างเคียงต่อร่างกายของมนุษย์ แต่ที่มีผลข้างเคียงของ THC อย่างชัดเจนแทน โดยอาการที่สามารถพบได้ มีตั้งแต่ อาการปากแห้ง กระหายน้ำ หัวใจเต้นเร็ว ตอบสนองช้า ตาแดง หรือความทรงจำลดลง เหล่านี้ล้วนเป็นผลของการได้รับ THC ที่มากเกินไปแทบทั้งสิ้น
สรุปประเด็น THC และ CBD
เนื่องจากในกัญชา จะมี THC ประกอบอยู่ถึง 12% และมี CBD เพียงไม่ถึง 0.30% เท่านั้น การสูบโดยตรงเพื่อรักษาโรคที่ CBD ทำได้นั้น ล้วนแต่ทำให้ร่างกายได้รับแต่ THC มากเกินไปเสียเปล่าๆ การจะใช้งาน CBD ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงต้องอาศัยการสกัดมันออกมา นั่นหมายถึงการนำกัญชาเข้าสู่กระบวนการอุตสาหกรรมแปรรูปเสียก่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่คนทั่วไปนั้นแทบจะทำไม่ได้
ผลเสีย
1. (THC) อาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการโรคจิตเภท โดยเฉพาะสําหรับผู้ที่มี ปัจจัยเสี่ยงเช่น ผู้ที่มีปัญหาโรคจิตในครอบครัว หรือพันธุกรรม ผู้ป่วยโณคจิตจากสารเสพติดและแอลกอฮอล์ เป็นต้น
2. (THC) หากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน จะชลอการทํางานของสมองและทําให้สมองหยุดสร้างสารเคมีที่ทําให้รู้สึกดี และทําให้รู้สึกหงุดหงิดง่ายเวลาไม่ได้ใช้
3. (THC) มีผลต่อการพัฒนาในด้านลบของสมองที่ยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ กัญชาจึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อการพัฒนาสมองของเยาวชน
ผลทางการรักษาของ CBD
1. (CBD) ลดอาการทางจิตประสาทของ THC
2. (CBD) ป้องกันการสูญเสียของความจําระยะสั้นจาก THC
3. (CBD) ป้องกันอาการจิตเสื่อม โรคประสาท ลดความเป็นไปได้ในการพัฒนาโรคทางจิตที่มาจากการใช้ THC,
4. (CBD) ลดอาการวิตกกังวล
5. (CBD) ลดอาการคลื่นใส้อาเจียน
6. (CBD) อาจช่วยรักษาโรคโรคจิตเภท (Schizophrenia)
7. (CBD) ป้องกันโรคนอนไม่หลับ (Anti-Insomnia)
8. (CBD) ลดอาการชักจากโรคปลอกประสาทเสื่อม (Multiple Sclerosis) และจากโรคลมชักต่างๆ (Epilepsy)
อ้างอิงที่มา / กรมสุขภาพจิต / healthline.com / ncbi.nlm.nih.gov