ไลฟ์สไตล์

เปิดวิธีรับมือเมื่อเครื่องบินตกหลุมอากาศ ทริคพิชิตอาการกลัวเครื่องบิน

เปิดวิธีรับมือเมื่อเครื่องบินตกหลุมอากาศ ทริคพิชิตอาการกลัวเครื่องบิน

21 พ.ค. 2567

นักเดินทางต้องรู้? เปิดวิธีรับมือเมื่อ'เครื่องบินตกหลุมอากาศ' พร้อมแนะเทคนิค พิชิตอาการ'กลัวเครื่องบิน'

นักเดินทางหลายคน คงเคยโดยสารเครื่องบิน แล้วประสบเหตุเครื่องบินสั่น เครื่องบินตกหลุมอากาศ หรือที่เรียกว่า "Turbulence" ทั้งระดับสั่นสะเทือนเล็กน้อย และในบางครั้งสั่นสะเทือนรุนแรงจนทำให้ข้าวของภายในที่เก็บสัมภาระเทกระจาดกระจัดกระจายได้ หากรุนแรงสุดอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้เลยทีเดียว

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข้อมูลจาก นพ.กฤตธี ภูมาศวิน จิตแพทย์ โรงพยาบาล BMHH - Bangkok Mental Health Hospital กล่าวว่า "โรคกลัวเครื่องบิน" เป็นอาการกลัวหรือวิตกกังวลอย่างรุนแรงเมื่อต้องขึ้น เครื่องบิน ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย แต่มักพบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก สาเหตุของอาการกลัวเครื่องบินนั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่เชื่อว่าอาจเกิดจากหลายปัจจัย เช่น

  • ประสบการณ์ที่ไม่ดีในการขึ้น เครื่องบิน เช่น เคยประสบอุบัติเหตุเครื่องบินตกหรือเคยรู้สึกไม่สบายขณะอยู่บนเครื่องบิน
  • การรับชมสื่อที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเครื่องบินตกหรืออุบัติเหตุทางอากาศ
  • ความกลัวความสูงหรือความกลัวการถูกจำกัดพื้นที่

 

 

 

 

สำหรับ 6 เทคนิคพิชิตอาการ "กลัวเครื่องบิน" มีดังนี้

 

1. กล้าที่จะเริ่มต้นออกเดินทาง

การมองข้ามช็อตไปถึงสถานที่ที่เราอยากจะไป การโฟกัสที่ปลายทาง หรือความตื่นเต้นที่จะได้ไปเห็นสถานที่ในฝันด้วยตัวคุณเอง ทำให้เราเริ่มมองการเดินทางเป็นจุดเริ่มต้นของความสุข ไม่ใช่สิ่งที่สร้างความวิตกกังวลหรือความกลัวให้กับตัวคุณ

 

 

2. เริ่มเดินทางด้วยเครื่องบินระยะใกล้

 จากที่เมื่อก่อนเดินทางไปเที่ยวในประเทศด้วยการขับรถส่วนตัว นั่งรถไฟ หรือนั่งรถโดยสาร ลองเปลี่ยนมาขึ้นเครื่องบินท่องเที่ยวในประเทศสักครั้ง ที่ใช้ระยะเวลาการเดินทางโดยเครื่องบินไม่เกิน 1 ชั่วโมง จะทำให้รู้สึกไม่นานหรือตึงเครียดจนเกิดความวิตกกังวลมากเกินไป ซึ่งหากมีครั้งแรกแล้วผ่านไปด้วยดี ครั้งต่อไปอาจติดใจการนั่ง เครื่องบิน แล้วก็ได้

 

 

 

3. เลือกที่นั่งให้เหมาะสม

สำหรับมือใหม่ที่มีความกังวลมาก อาจเลือกนั่งใกล้คนที่ไปด้วย เลือกที่นั่งติดกัน หรืออาจเลือกที่นั่งติดทางเดิน เพราะการที่มีคนเดินไปเดินมาใกล้ๆ และพร้อมจะลุกออกได้ง่าย อาจทำให้รู้สึกสงบใจได้ง่ายมากขึ้น และถ้าเป็นคนที่กลัวความสูงมาก ควรหลีกเลี่ยงนั่งริมหน้าต่างเพื่อเป็นการป้องกันความวิตกกังวลที่อาจจะเกิดในช่วงการเดินทาง

 

 

 

 

4. อย่าปล่อยเวลาไปเฉยๆ หาอะไรมาทำ

การนั่งนิ่งๆ เฉยๆ อาจดูน่าเบื่อหรือบางครั้งก็สร้างความกังวลมากเกินไป แนะนำให้ลองพกหนังสือที่ชอบซักเล่มขึ้นไปนั่งอ่านหรือดาวน์โหลด podcast ที่ชอบไปนั่งฟังก็จะทำให้การเดินทางในแต่ละครั้งผ่านไปได้อย่างรวดเร็ว

 

 

 

 

5. คิดในแง่บวก

หากเกิดตกหลุมอากาศขึ้นมา อย่าเพิ่งตกใจจนเกินไป เพราะกัปตันบนเครื่องบินถูกฝึกมาอย่างดี กำลังพยายามนำทุกคนกลับสู่สภาวะปกติอีกครั้ง ปัจจุบันเครื่องบินสมัยใหม่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย และยังมีอุปกรณ์ช่วยติดตามการเดินทาง ทำให้ความปลอดภัยของการเดินทางด้วยเครื่องบิน ปลอดภัยมากขึ้นกว่าเดิมและท่องคาถาในใจว่า หนึ่งในล้านหรือน้อยกว่านั้นที่จะเกิดอุบัติเหตุได้

 

 

 

6. ทำจิตใจให้สงบ

เมื่อพยายามทำทุกข้อ แต่ถ้าสุดท้ายยังมีความวิตกกังวลอยู่ ลองฝึกหายใจเข้าออกอย่างช้า ๆ จะรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น บางคนอาจลองสวดมนต์บทสั้นๆ หรือทำสมาธิเป็นช่วงๆ อาจช่วยทำให้ลดความวิตกกังวลลงไปได้

 

 

 

วิธีรับมือ เมื่อเครื่องบินตกหลุมอากาศ

  • เมื่อเกิดเหตุการณ์เครื่องงบิน บินเข้าสู่สภาพอากาศที่แปรปรวน  นักบินจะทำประกาศ และเปิดสัญญาณไฟให้ทุกคนกลับที่นั่ง และทุกคนต้อง รัดเข็มขัดให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันการตกหลุมอากาศที่รุนแรง
  • งดใช้ห้องน้ำในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อป้องกันอันตรายหากเกิดแรงกระแทกจากสภาพอากาศที่แปรปรวน
  • ผู้โดยสารต้องเชื่อฟังคำสั่งของนักบินอย่างเคร่งครัด และอย่าตื่นตกใจจนเกินไป
  • ในกรณีที่อากาศภายในเครื่องบินน้อย หรือเกิดความผิดปกติเกี่ยวกับอากาสในเครื่องบิน  หน้ากากออกซิเจนจะตกลงมาเพื่อให้สวมใช้หายใจ
  • สิ่งสำคัญที่สุดคืออย่าตระหนกจนเกินไป ต้องมีสติอยู่ตลอดเวลา