พบตัวยาก "เห่าช้าง" สัตว์ป่าคุ้มครอง สัตว์เลื้อยคลานที่อยู่ในวงศ์เหี้ย!
ใช่เหี้ยไหม? ใช่เหี้ยหรือเปล่า? ภาพที่เห็นมันคือ "เห่าช้าง" สัตว์เลื้อยคลานที่อยู่ในวงศ์เหี้ย สัตว์ป่าคุ้มครอง เอกลักษณ์คือเสียงขู่ศัตรูที่ฟังแล้วคล้ายกับเสียงงูเห่า ขู่ดัง ฟ่อๆ เป็นสัตว์ที่ขี้อายและขี้กลัวจึงไม่ค่อยมีคนพบเห็นหรือพบเห็นได้น้อยมาก
เห่าช้าง …ไม่ใช่เหี้ย!!! แต่เป็นสัตว์วงศ์เหี้ย เห่าช้าง Varanus rudicollis สัตว์เลื้อยคลาน 4 ขา ที่อยู่วงศ์เหี้ย บางคนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นงู เพราะชื่อคล้ายงูเห่า มีขนาดเล็กกว่าเหี้ย สีดำเข้ม มีลายขวางจางๆ ที่ลำตัว เกล็ดบนคอเป็นแหลมๆ คล้ายหนามทุเรียน อาศัยอยู่ในป่าชื้นรกทึบ และมีความอุดมสมบูรณ์ หากินบนพื้นดิน ปีนต้นไม้เก่ง ว่องไวทั้งบนบกและในน้ำ มีความดุร้ายกว่าเหี้ย เมื่อเจอศัตรูจะขู่เสียงฟ่อ ๆ คล้ายงูเห่า เป็นที่รู้กันดีว่าสัตว์ตระกูลนี้กินเนื้อเป็นอาหาร และเห่าช้างก็นิยมกินสัตว์ปีกอย่างพวก ไก่ เป็ด หรือสัตว์เลี้ยวลูกด้วยนมขนาดเล็ก บางครั้งก็กิน ปลา กบ เขียด และซากต่าง ๆ เป็นต้น
ถึงมันจะได้ชื่อว่า เห่าช้าง แต่ก็ไม่ได้เป็นสัตว์มีพิษ อย่างที่ใคร ๆ คิดกัน แต่ถ้าเป็นเชื้อโรค หรือแบคทีเรียที่อยู่ในน้ำลายก็ไม่แน่ ถ้าถูกกัดอาจจะติดเชื้อในแผลขึ้นมาคนเลยคิดว่ามันมีพิษ พอเจอก็ทำร้าย หรือเผลอฆ่าโดยไม่รู้ตัว ความจริงแล้วเห่าช้างเป็นสัตว์ที่ขี้อายและขี้กลัวจึงไม่ค่อยมีคนพบเห็นหรือพบเห็นน้อยมาก และยังมีการศึกษาเกี่ยวกับสัตว์ชนิดนี้น้อยมาก ข้อมูลที่มีเลยน้อยตามไปด้วย
รู้จัก...เห่าช้าง สัตว์เลื้อยคลานที่อยู่ในวงศ์เหี้ย
เห่าช้าง Rough-neck Monitor
ชื่อวิทยาศาสตร์ : 𝙑𝙖𝙧𝙖𝙣𝙪𝙨 𝙧𝙪𝙙𝙞𝙘𝙤𝙡𝙡𝙞𝙨
วงศ์ : 𝗩𝗔𝗥𝗔𝗡𝗜𝗗𝗔𝗘
• เป็นสัตว์เลื้อยคลานที่อยู่ในวงศ์เหี้ย ถูกจัดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ที่มาของชื่อเห่าช้างนั้นมาจากเสียงขู่ศัตรูที่ฟังแล้วคล้ายกับเสียงงูเห่า ขู่ดัง ฟ่อ ๆ
• ลักษณะตัวสีดำเข้ม มีขนาดเล็กกว่าตัวเหี้ย มีลายเลือน ๆ ขวางลำตัว ปากแหลม แผงคอมีเกล็ดหนาแหลม ๆ คล้ายหนามทุเรียน
• อาหาร กินทั้งสัตว์บก สัตว์นํ้าและสัตว์ปีก เช่น ไก่ นก ปลา ปู กบ เขียดและหนูเป็นต้น กินทั้งสัตว์สด ๆ และเน่าตายแล้ว
• ฤดูผสมพันธุ์ ประมาณเดือนมกราคม-มีนาคม และจะขุดหลุมหรือหาโพรงเป็นที่สำหรับวางไข่ มันจะไม่กกไข่เลย เมื่อออกไข่แล้วแม่จะทิ้งไข่ไปเลย ลูก ๆ เมื่อออกจากไข่แล้วจะหากินเอง
• ถิ่นอาศัย กระจายตัวอยู่ในภาคใต้ บริเวณที่พบคือต้นไม้ในป่าทึบ ส่วนใหญ่ทำให้พบตัวได้ยาก
ภาพจากอุทยานแห่งชาติทะเลบัน
ที่มาข้อมูล : สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานฯ