กรมทรัพยากรธรณีไขปม! เมล็ดข้าวประหลาดในหิน ที่เชื่อว่าเป็น ข้าวตอกพระร่วง
กรมทรัพยากรธรณีไขปม! เผย เมล็ดข้าวประหลาดในหิน คืออะไร? หลังจากเป็นกระแสในโลกโซเชี่ยล กับความเชื่อว่าสิ่งนี้เป็นหินศักดิ์สิทธิ์ที่เรียกกันว่า "ข้าวตอกพระร่วง" แห่งเมืองเก่ากรุงสุโขทัย โดยเกิดจากอำนาจวาจาสิทธิ์ของพระร่วง
ตามที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อโซเชียลเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา ที่มีการเผยแพร่ภาพก้อนหินประหลาด ลักษณะคล้ายฟอสซิลเมล็ดข้าวสารจำนวนมากฝังตัวอยู่ในหิน เมื่อนำมาผ่าเจียระไนแล้วจะดูคล้ายเมล็ดข้าวสุกที่ฝังตัวในหินสีดำ และหินสีน้ำตาล นิยมทำเป็นเครื่องประดับของขลัง ซึ่งมีความเชื่อว่าหินประหลาดนี้เป็นหินศักดิ์สิทธิ์หายากของจังหวัดสุโขทัย เกิดจากอำนาจวาจาสิทธิ์ของพระร่วง นั้น ชาวบ้านเชื่อใครมีบูชากันคุณไสยมนต์ดำ ค้าขายขึ้น-เกิดโชคลาภ-แคล้วคลาดปลอดภัย
กรมทรัพยากรธรณี โดยกองคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ ให้ข้อมูลว่าก้อนหินที่ปรากฎในข่าวเป็นซากดึกดำบรรพ์สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง "ฟอแรมมินิเฟอรา (Foraminifera)" ที่สามารถมองเห็นโครงร่างขนาดเล็กภายในหินได้ด้วยตาเปล่า เป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวที่สูญพันธุ์ไปแล้ว เมื่อสิ้นสุดยุคเพอร์เมียน (ประมาณ 252 ล้านปีก่อน) จัดอยู่ในอันดับฟิวซูลินิดา (Order Fusulinida) มีชื่อเรียกโดยทั่วไปว่า "ฟิวซูลินิด (Fusulinids)" ส่วนใหญ่มีขนาดมากกว่า 2 มิลลิเมตร บางชนิดมีความยาวมากถึง 5 เซนติเมตร
ลักษณะรูปร่างเป็นทรงรี คล้ายเม็ดข้าวสาร ทำให้ถูกเรียกว่า "ข้าวสารหิน" หรือ "คตข้าวสาร" มักพบตามภูเขาหินปูนยุคเพอร์เมียน (ประมาณ 299 -252 ล้านปี) ซึ่งกระจายตัวอยู่หลายแห่งทั่วประเทศไทย โดยฟิวซูลินิดมีช่วงเวลาการกระจายตัวและอาศัยในมหาสมุทรโบราณทั่วโลก ตั้งแต่ยุคคาร์บอนิเฟอรัสตอนกลาง - ยุคเพอร์เมียน (ประมาณ 359 - 252 ล้านปี) หากจะระบุชนิดจำเป็นต้องทำแผ่นหินบางแล้วนำมาศึกษาโครงสร้างภายในอย่างละเอียดภายใต้กล้องจุลทรรศน์
ภาพตัดขวางของซากดึกดำบรรพ์สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง "ฟอแรมมินิเฟอรา (Foraminifera)" ที่สามารถมองเห็นโครงร่างขนาดเล็กภายในหินได้ด้วยตาเปล่า จัดเป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวที่สูญพันธุ์ไปแล้วในกลุ่ม "ฟิวซูลินิด (Fusulinids)" ส่วนใหญ่มีขนาดมากกว่า 2 มิลลิเมตร บางชนิดมีความยาวมากถึง 5 เซนติเมตร มีลักษณะรูปร่างเป็นทรงรี คล้ายเม็ดข้าวสาร ทำให้ถูกเรียกว่า "ข้าวสารหิน" หรือ "คตข้าวสาร" หากจะระบุชนิดจำเป็นต้องอาศัยการศึกษาภายใต้กล้องจุลทรรศน์ เพื่อศึกษาโครงสร้างภายในต่อไป
ซากดึกดำบรรพ์ฟิวซูลินิด มักพบกันเกาะกลุ่มหนาแน่นในหินปูน ประเทศไทยสามารถพบได้ตามภูเขาหินปูนยุคเพอร์เมียน ซึ่งกระจายตัวอยู่หลายแห่ง เช่น จังหวัดลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ลพบุรี สระบุรี สระแก้ว นครสวรรค์ กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี กระบี่
ที่มาข้อมูล - กรมทรัพยากรธรณี