ไลฟ์สไตล์

แก๊สหัวเราะ สนุกชั่วคราวที่วัยรุ่นมองข้ามอันตราย สูดดมนานถึงเสียชีวิต

แก๊สหัวเราะ สนุกชั่วคราวที่วัยรุ่นมองข้ามอันตราย สูดดมนานถึงเสียชีวิต

06 มิ.ย. 2567

แก๊สหัวเราะ คืออะไร หาื้อได้ที่ไหน ทำไมวัยรุ่นไทยถึงมองข้ามอันตราย ใช้สำหรับเสพความสุขชั่วคราว ทั้งที่อันตรายถึงชีวิต

แก๊สหัวเราะ สิ่งที่นักท่องราตรีสายปาร์ตี้ต่างรู้จักกันดี เพียงแค่เป่าแก๊สหัวเราะอัดเข้าไปในลูกโป่ง แล้วสูดเข้าสู่ระบบหายใจ เท่านี้ก็จะทำให้ได้รับความรู้สึกที่พวกเขาต้องเสพเพียงชั่วคราวจากแก๊สหัวเราะ แต่ความสุขเหล่านี้แฝงไปด้วยอันตรายที่ส่งผลเสียต่อระบบประสาทอย่างไม่ทันได้รู้ตัว  

 

แก๊สหัวเราะ คืออะไร 

 

แก๊สหัวเราะ คือ แก๊สไนตรัสออกไซด์ (N2O) เป็นหนึ่งในสารเสพติดใช้เพื่อผ่อนคลายในวัยรุ่น ซึ่งมีความนิยมใช้กันในกลุ่มของนักท่องเที่ยวมาเป็นระยะเวลาหนึ่งเนื่องจากมีราคาถูกและสามารถหาซื้อได้ง่าย เพราะมีใช้อยู่ในอุตสาหกรรมอาหาร โดยวัยรุ่นไทยได้ลอกเลียนพฤติกรรมนี้มาจากวัยรุ่นตะวันตก 

 

"แก๊สไนตรัสออกไซด์" (Nitrous Oxide) เป็นแก๊สที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น และไม่ติดไฟ ในทางการแพทย์นำมาใช้สำหรับเป็นแก๊สดมสลบก่อนการผ่าตัด หรือถอนฟัน ลดอาการปวด ซึ่งจะออกฤทธิ์เร็วและหมดฤทธิ์เร็วเช่นกัน 

 

ในทางอุตสาหกรรม แก๊สหัวเราะ หรือ แก๊สไนตรัสออกไซด์ ถูกนำมาใช้สำหรับบรรจุในถุงลมนิรภัยในรถ หรือในอุตสาหกรรมอาหารเองก็นำแก๊สชนิดนี้มาใช้เป็น สารขับดันในกระป๋องสำหรับฉีดพ่นวิปครีม สเปรย์น้ำมันกันอาหารติดกระทะ สารป้องกันการเกิดออกซิเดชั่น สารช่วยให้เกิดฟองและเป็นก๊าซช่วยในการบรรจุ

แก๊สหัวเราะ ออกฤธิ์อย่างไร 

 

แก๊สหัวเราะ ออกฤทธิ์โดยจะไปกระตุ้น GABA-A receptor ทำให้เกิดอาการผ่อนคลายและลดความวิตกกังวล นอกจากนี้ แก๊สหัวเราะยังช่วยเพิ่มระดับโดปามีนในสมอง ที่เกี่ยวข้องกับความสุขและความเพลิดเพลิน เมื่อสูดดมแก๊สหัวเราะเข้าไป จะรู้สึกถึงความผ่อนคลายและสบายตัวอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่วินาที เพราะเป็นสารกดประสาทที่ออกฤทธิ์คล้ายกับ เฮโรอีน (endogenous opioid releasing) และเคตามีน (NMDA inhibition) ผู้เสพจึงรู้สึกเคลิบเคลิ้ม

 

หลังจากนั้นจะเริ่มรู้สึกหัวเราะอย่างรุนแรงและควบคุมไม่ได้ อาการหัวเราะนี้อาจกินเวลาประมาณ 30 วินาทีถึง 1 นาที หลังจากนั้นจะรู้สึกผ่อนคลายและสบายตัวอีกครั้ง

 

แก๊สหัวเราะ อันตรายไหม 

 

การใช้ แก๊สหัวเราะ ส่งผลอันตรายต่อร่างกาย เช่น อาจทำให้เกิดภาวะขาดออกซิเจนในสมอง ซึ่งอาจนำไปสู่ความเสียหายของสมองหรือเสียชีวิตได้ และการใช้แก๊สหัวเราะติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้เกิดการติดยาได้ อีกทั้งยังส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น 

 

  • มึนงง เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน
  • ชาตามปลายมือปลายเท้า
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ขาดสติ
  • หมดสติ
  • เสียชีวิต

 

นอกจากนี้ การสูดดมแก๊สหัวเราะซ้ำๆ เป็นเวลานาน ทำให้เกิดการยับยั้งการสังเคราะห์ B12 ซึ่งมีความจำเป็นต่อกการสร้างเซลล์ของระบบประสาท ซึ่งอาจส่งผลต่อระบบประสาทส่วนปลาย ทำให้มีอาการชา อ่อนแรง ปลายประสาทอักเสบ เป็นอัมพฤกษ์หรืออาจทำให้สูญเสียการทรงตัวและการเคลื่อนไหวได้จนอาจขาดออกซิเจนจนเสียชีวิต

 

วิธีรักษาเมื่อมีอาการผิดปกติจากการใช้แก๊สหัวเราะ

 

ภาวะฉุกเฉิน เช่น เกิดการขาดออกซิเจน ให้ตรวจสอบสัญญาณชีพจร และตรวจสอบว่าผู้ป่วยยังได้สติอยู่หรือไม่ สามารถช่วยเหลือได้โดยวิธีช่วยหายใจ และให้ออกซิเจนหากมีอาการชัก โคม่าหรือหัวใจเต้นผิดปกติเกิดขึ้น

 

ภาวะที่เกิดในระยะยาว จำเป็นต้องให้ผู้ป่วยหยุดการสูดดมแก๊สหัวเราะเข้าไปในร่างกายอีก โดยควรจะให้วิตามินบี12 และกรดโฟลิกเสริม กรณียังไม่ได้เกิดโรคร้ายแรง ประมาณ 2-3 เดือน มักจะกลับมาเป็นปกติ

 

การรักษาอาการผิดปกติจากแก๊สหัวเราะอย่างมีประสิทธิภาพ ยังไม่สามารถทำได้โดยวิธีการขับสารพิษด้วยวิธีใดๆได้

 

แก๊สหัวเราะ ผิดกฎหมาย

 

แก๊สหัวเราะ หรือ แก๊สไนตรัสออกไซด์ จัดเป็นยาตามมาตรา 4(4) แห่งพระราชบัญญัติยา พ.ศ 2510 ตามกฎหมายถือเป็นยาที่ใช้ในทางการแพทย์ กรณีมีผู้ผลิตหรือนำลูกโป่งอัดแก๊สไนตรัสออกไซด์ (แก๊สหัวเราะ) ไปจำหน่าย ถือว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติยา ในข้อหาจำหน่ายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท หากพบในกรณีที่แก๊สไนตรัสออกไซด์ที่นำบรรจุนั้นเป็นยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

ข้อมูลจาก