ไลฟ์สไตล์

"วันสุนทรภู่ 2567" ตรงกับวันไหน? เปิดประวัติและผลงานของ สุนทรภู่

"วันสุนทรภู่ 2567" ตรงกับวันไหน? เปิดประวัติและผลงานของ สุนทรภู่

26 มิ.ย. 2567

"วันสุนทรภู่ 2567" ตรงกับวันไหน? เปิดประวัติและผลงาน สุนทรภู่ หรือ พระสุนทรโวหาร กวีสี่แผ่นดินของไทย ที่ได้รับการยกย่องจาก UNESCO และมีผลงานกวีนิพนธ์ที่ยาวที่สุดในโลก

"วันสุนทรภู่" 2567 ตรงกับวันพุธที่ 26 มิถุนายน 2567 

 

"แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์ มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด เหมือนเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน" หลายคนคงคุ้นหูกับโคลงบทนี้ที่ทุกรุ่นต้องเรียนผ่านบทเรียนภาษาไทย ซึ่งบทประพันธ์ดังกล่าว มาจากเรื่อง "พระอภัยมณี" ตอน พระฤาษีสอนสุดสาคร เกี่ยวกับเรื่อง การไว้วางใจคน

 

 

 

 

 

"สุนทรภู่" ได้รับการยกย่องจากยูเนสโก UNESCO

ในปี พ.ศ. 2529 "สุนทรภู่" ได้รับยกย่องจากยูเนสโก ให้เป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับโลก ในปี พ.ศ. 2530 นายเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้ดำเนินการจัดตั้งสถาบันสุนทรภู่ขึ้น เพื่อสนับสนุนการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับชีวิตและงานของสุนทรภู่ ให้แพร่หลายในหมู่เยาวชนและประชาชนชาวไทยมากยิ่งขึ้น จึงได้กำหนดให้ วันคล้ายวันเกิดของสุนทรภู่ วันที่ 26 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันสุนทรภู่

กวีนิพนธ์ที่ยาวที่สุดในโลก

พระอภัยมณี วรรณกรรมชิ้นเอกของท่าน ก็มีความยาวถึง 12,706 บท ถือได้ว่าเป็นกวีนิพนธ์ที่ยาวที่สุดในโลก ในขณะที่บทประพันธ์เรื่องอีเลียต และโอเดดซี ของฝรั่งที่ว่ายาวที่สุด ยังมีเพียง 12,500 บทเท่านั้น

 

 

 

ประวัติ "สุนทรภู่" พระสุนทรโวหาร กวีเอก 4 แผ่นดิน

 

  • วัยเด็กของ "สุนทรภู่"

สุนทรภู่ หรือ พระสุนทรโวหาร มีนามเดิม ภู่ หรือที่รู้จักกันในนาม “สุนทรภู่” (26 มิ.ย. 2329 – 2398) กวีสำคัญสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เกิดเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2329 บิดาของท่านเป็นชาวกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ตามสันนิษฐานว่ามารดาเป็นข้าหลวง อยู่ในพระราชวังหลัง บิดามารดาเลิกร้างกันตั้งแต่สุนทรภู่เกิด บิดาออกไปบวชที่วัดป่า ตำบลบ้านกร่ำ อำเภอแกลง อันเป็นภูมิลำเนาเดิม ส่วนมารดากลับเข้าไปอยู่ในพระราชวังหลัง และได้ถวายตัวเป็นนางนม ของพระธิดาในกรมฯ นั้น

 

 

ในปฐมวัยสุนทรภู่ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็ก ในพระราชวังหลัง และได้อาศัยอยู่กับมารดา สุนทรภู่ได้รับการศึกษาในพระราชวังหลัง และที่วัดชีปะขาว (วัดศรีสุดาราม) ตั้งแต่เยาว์วัยสุนทรภู่มีนิสัยรักการแต่งกลอน ยิ่งกว่างานอื่น ครั้นรุ่นหนุ่มก็ไปเป็นครูสอนหนังสืออยู่ที่วัดศรีสุดารามในคลองบางกอกน้อย ได้แต่งกลอนสุภาษิตและกลอนนิทานขึ้นไว้

 

 

 

 

  • วัยหนุ่มของ "สุนทรภู่"

เมื่ออายุราว 20 ปี ได้ลอบรักกับหญิงสาวชาววังชื่อ "จันทร์" จึงต้องเวรจำทั้งชายหญิง เมื่อกรมพระราชวังหลัง ทิวงคตจึงพ้นโทษ ต่อมาจึงได้แม่จันทร์เป็นภรรยา แต่อยู่ด้วยกันไม่นานก็เกิดระหองระแหงคงเป็นเพราะสุนทรภู่เมาสุราอยู่เป็นนิตย์

 

 

  • ตำแหน่งขุนสุนทรโวหาร

สมัยรัชกาลที่ 2 สุนทรภู่ได้เข้ารับราชการในกรมพระอาลักษณ์ และเป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จนได้รับแต่งตั้งเป็นขุนสุนทรโวหาร เป็นกวีที่ปรึกษาและคอยรับใช้ ใกล้ชิด ระยะนี้สุนทรภู่ได้หญิงชาวบางกอกน้อย ชื่อ นิ่ม เป็นภริยาอีกหนึ่งคน ต่อมาในราว พ.ศ. 2364 สุนทรภู่ต้องติดคุกเพราะเมาสุรา อาละวาดและทำร้ายท่านผู้ใหญ่ แต่ติดอยู่ไม่นานก็พ้นโทษ เพราะความสามารถในทางกลอนเป็นที่พอพระราชหฤทัยของ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

 

 

  • ตำแหน่งพระสุนทรโวหาร

สมัยรัชกาลที่ 3 สุนทรภู่ถูกกล่าวหาด้วยเรื่องเสพสุรา และเรื่อง อื่นๆ จึงถูกถอดออกจากตำแหน่งขุนสุนทรโวหาร ต่อมาสุนทรภู่ออกบวชที่วัดราชบูรณะ (วัดเลียบ) และเดินทางไปจำพรรษาตามวัดต่างๆ และได้รับการอุปการะจากพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ จนพระองค์ประชวร สิ้นพระชนม์ สุนทรภู่จึงลาสิกขาบท รวมอายุพรรษาที่บวชได้ 10 พรรษา สุนทรภู่ออกมาตกระกำลำบากอยู่พักหนึ่งจึงกลับเข้าไปบวชอีกครั้ง แต่อยู่ได้เพียง 2 พรรษาก็ลาสิกขาบท และถวายตัวอยู่กับเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ณ พระราชวังเดิม รวมทั้งได้อุปการะ จากกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพอีกด้วย

 

 

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ครองราชย์ ทรงสถาปนาเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ เป็นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับอยู่วังหน้า (พระบวรราชวัง) สุนทรภู่จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระสุนทรโวหาร ตำแหน่งเจ้ากรม พระอาลักษณ์ฝ่ายบวรราชวัง ในปี พ.ศ. 2394 และรับราชการต่อมาได้ 4 ปี ก็ถึงแก่มรณกรรม ใน พ.ศ. 2398 รวมอายุได้ 69 ปี

 

 

 

ผลงาน "สุนทรภู่" พระสุนทรโวหาร กวีเอก 4 แผ่นดิน

 

นิราศ

  • นิราศเมืองแกลง (พ.ศ. 2349) - แต่งเมื่อหลังพ้นโทษจากคุก และเดินทางไปหาพ่อที่เมืองแกลง
  • นิราศพระบาท (พ.ศ. 2350) - แต่งหลังจากกลับจากเมืองแกลง และต้องตามเสด็จพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ไปนมัสการรอยพระพุทธบาทที่จังหวัดสระบุรีในวันมาฆบูชา
  • นิราศภูเขาทอง (ประมาณ พ.ศ. 2371) - แต่งโดยสมมุติว่า เณรหนูพัด เป็นผู้แต่ง ไปนมัสการพระเจดีย์ภูเขาทองที่จังหวัดอยุธยา
  • นิราศสุพรรณ (ประมาณ พ.ศ. 2374) - แต่งเมื่อครั้งยังบวชอยู่ และไปค้นหายาอายุวัฒนะที่จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นผลงานเรื่องเดียวของสุนทรภู่ที่แต่งเป็นโคลง
  • นิราศวัดเจ้าฟ้า (ประมาณ พ.ศ. 2375) - แต่งเมื่อครั้งยังบวชอยู่ และไปค้นหายาอายุวัฒนะตามลายแทงที่วัดเจ้าฟ้าอากาศ (ไม่ปรากฏว่าที่จริงคือวัดใด) ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เทพ สุนทรศารทูลเสนอว่า นิราศดังกล่าวเป็นผลงานของพัด ภู่เรือหงส์ บุตรของสุนทรภู่
  • นิราศอิเหนา (ไม่ปรากฏ, คาดว่าเป็นสมัยรัชกาลที่ 3) - แต่งเป็นเนื้อเรื่องอิเหนารำพันถึงนางบุษบา เทพ สุนทรศารทูลเสนอว่า นิราศดังกล่าวเป็นผลงานของกรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์
  • รำพันพิลาป (พ.ศ. 2385) - แต่งเมื่อครั้งจำพรรษาอยู่ที่วัดเทพธิดาราม แล้วเกิดฝันร้ายว่าชะตาขาด จึงบันทึกความฝันพร้อมรำพันความอาภัพของตัวไว้เป็น "รำพันพิลาป" จากนั้นจึงลาสิกขาบท
  • นิราศพระประธม (พ.ศ. 2385) - เชื่อว่าแต่งเมื่อหลังจากลาสิกขาบทและเข้ารับราชการในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปนมัสการพระประธมเจดีย์ (หรือพระปฐมเจดีย์) ที่เมืองนครชัยศรี
  • นิราศเมืองเพชร (พ.ศ. 2388) - แต่งเมื่อเข้ารับราชการในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เชื่อว่าไปธุระราชการอย่างใดอย่างหนึ่ง นิราศเรื่องนี้มีฉบับค้นพบเนื้อหาเพิ่มเติมซึ่ง อ.ล้อม เพ็งแก้ว เชื่อว่า บรรพบุรุษฝ่ายมารดาของสุนทรภู่เป็นชาวเมืองเพชรบุรี

 

 

 

นิทาน

  • โคบุตร : เชื่อว่าเป็นงานประพันธ์ชิ้นแรกของสุนทรภู่ เป็นเรื่องราวของ "โคบุตร" ซึ่งเป็นโอรสของพระอาทิตย์กับนางอัปสร แต่เติบโตขึ้นมาด้วยการเลี้ยงดูของนางราชสีห์
  • พระอภัยมณี : คาดว่าเริ่มประพันธ์ในสมัยรัชกาลที่ 2 และแต่ง ๆ หยุด ๆ เรื่อยมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นผลงานชิ้นเอกของสุนทรภู่ ได้รับยกย่องจากวรรณคดีสโมสรให้เป็นสุดยอดวรรณคดีไทยประเภทกลอนนิทาน
  • พระไชยสุริยา : เป็นนิทานที่สุนทรภู่แต่งด้วยฉันทลักษณ์ประเภทกาพย์หลายชนิด ได้แก่ กาพย์ยานี 11 กาพย์ฉบัง 16 และกาพย์สุรางคนางค์ 28 เป็นนิทานสำหรับสอนอ่าน เนื้อหาเรียงลำดับความง่ายไปยาก จากแม่ ก กา แม่กน กง กก กด กบ กม และเกย เชื่อว่าแต่งขึ้นประมาณ พ.ศ. 2383 - 2385
  • ลักษณวงศ์ : เป็นนิทานแนวจักรๆ วงศ์ๆ ที่นำโครงเรื่องมาจากนิทานพื้นบ้าน แต่มีตอนจบที่แตกต่างไปจากนิทานทั่วไปเพราะไม่ได้จบด้วยความสุข แต่จบด้วยงานสมโภชศพนางทิพเกสร ชายาของลักษณวงศ์ที่สิ้นชีวิตด้วยการสั่งประหารของลักษณวงศ์เอง
  • สิงหไกรภพ : เชื่อว่าเริ่มประพันธ์เมื่อครั้งถวายอักษรแด่เจ้าฟ้าอาภรณ์ ภายหลังจึงแต่งถวายกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ และน่าจะหยุดแต่งหลังจากกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพสิ้นพระชนม์ สิงหไตรภพเป็นตัวละครเอกที่แตกต่างจากตัวพระในเรื่องอื่นๆ เนื่องจากเป็นคนรักเดียวใจเดียว

 

 

สุภาษิต

  • สวัสดิรักษา : คาดว่าประพันธ์ในสมัยรัชกาลที่ 2 ขณะเป็นพระอาจารย์ถวายอักษรแด่เจ้าฟ้าอาภรณ์
  • เพลงยาวถวายโอวาท : คาดว่าประพันธ์ในสมัยรัชกาลที่ 3 ขณะเป็นพระอาจารย์ถวายอักษรแด่เจ้าฟ้ากลางและเจ้าฟ้าปิ๋ว
  • สุภาษิตสอนหญิง : เป็นหนึ่งในผลงานซึ่งยังเป็นที่เคลือบแคลงว่า สุนทรภู่เป็นผู้ประพันธ์จริงหรือไม่ เทพ สุนทรศารทูลเสนอว่าน่าจะเป็นผลงานของภู่ จุลละภมร ศิษย์ของสุนทรภู่เอง

 

 

บทละคร

  • มีการประพันธ์ไว้เพียงเรื่องเดียวคือ อภัยนุราช ซึ่งเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เพื่อถวายพระองค์เจ้าดวงประภา พระธิดาในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

 

บทเสภา

  • ขุนช้างขุนแผนตอนกำเนิดพลายงาม
  • เสภาพระราชพงศาวดาร

 

 

 

 บทเห่กล่อมพระบรรทม

น่าจะแต่งขึ้นสำหรับใช้ขับกล่อมหม่อมเจ้าในพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ กับพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เท่าที่พบมี 4 เรื่องคือ

  • เห่เรื่องพระอภัยมณี
  • เห่เรื่องโคบุตร
  • เห่เรื่องจับระบำ
  • เห่เรื่องกากี