![วันสุนทรภู่ รวมผลงาน "สุนทรภู่" มหากวีเอกชั้นครูของไทย วันสุนทรภู่ รวมผลงาน "สุนทรภู่" มหากวีเอกชั้นครูของไทย](https://media.komchadluek.net/uploads/images/md/2024/06/MrdW1wE1TPSDDECPOuFx.webp?x-image-process=style/lg-webp)
วันสุนทรภู่ รวมผลงาน "สุนทรภู่" มหากวีเอกชั้นครูของไทย
วันสุนทรภู่ 26 มิ.ย. 2567 รวมผลงาน "สุนทรภู่" หรือ "พระสุนทรโวหาร" กวีชั้นบรมครูของไทย ที่ฝากผลงานระดับตำนาน ต้นแบบครูกลอนของไทย
"วันสุนทรภู่" 2567 ตรงกับวันพุธที่ 26 มิถุนายน 2567
"มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท อย่าให้ขาดสิ่งของต้องประสงค์ มีน้อยใช้น้อยค่อยบรรจง อย่าจ่ายลงให้มากจะยากนาน" หลายคนคงคุ้นหูกับโคลงบทนี้ที่ทุกรุ่นต้องเรียนผ่านบทเรียนภาษาไทย ซึ่งบทประพันธ์ดังกล่าว มาจาก สุภาษิตสอนหญิง เกี่ยวกับการสอนเรื่องการเงิน วางแผนการเงิน อดออม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- "วันสุนทรภู่ 2567" ตรงกับวันไหน? เปิดประวัติและผลงานของ สุนทรภู่
- เปิด 20 คำกลอนสุนทรภู่ คำคมสุนทรภู่ สอนใจได้ตลอดกาล กวีสี่แผ่นดินของไทย
"สุนทรภู่" ได้รับการยกย่องจากยูเนสโก UNESCO
ในปี พ.ศ. 2529 "สุนทรภู่" ได้รับยกย่องจากยูเนสโก ให้เป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับโลก ในปี พ.ศ. 2530 นายเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้ดำเนินการจัดตั้งสถาบันสุนทรภู่ขึ้น เพื่อสนับสนุนการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับชีวิตและงานของสุนทรภู่ ให้แพร่หลายในหมู่เยาวชนและประชาชนชาวไทยมากยิ่งขึ้น จึงได้กำหนดให้ วันคล้ายวันเกิดของสุนทรภู่ วันที่ 26 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันสุนทรภู่
กวีนิพนธ์ที่ยาวที่สุดในโลก
พระอภัยมณี วรรณกรรมชิ้นเอกของท่าน ก็มีความยาวถึง 12,706 บท ถือได้ว่าเป็นกวีนิพนธ์ที่ยาวที่สุดในโลก ในขณะที่บทประพันธ์เรื่องอีเลียต และโอเดดซี ของฝรั่งที่ว่ายาวที่สุด ยังมีเพียง 12,500 บทเท่านั้น
รวมผลงาน "สุนทรภู่" มหากวีเอกชั้นครูของไทย
ผลงาน "สุนทรภู่" ประเภทนิราศ
ผลงานนิราศที่โดดเด่น : นิราศเมืองแกลง,นิราศพระบาท,นิราศภูเขาทอง,นิราศเมืองเพชร
- นิราศเมืองแกลง (พ.ศ. 2349) - แต่งเมื่อหลังพ้นโทษจากคุก และเดินทางไปหาพ่อที่เมืองแกลง
- นิราศพระบาท (พ.ศ. 2350) - แต่งหลังจากกลับจากเมืองแกลง และต้องตามเสด็จพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ไปนมัสการรอยพระพุทธบาทที่จังหวัดสระบุรีในวันมาฆบูชา
- นิราศภูเขาทอง (ประมาณ พ.ศ. 2371) - แต่งโดยสมมุติว่า เณรหนูพัด เป็นผู้แต่ง ไปนมัสการพระเจดีย์ภูเขาทองที่จังหวัดอยุธยา
- นิราศสุพรรณ (ประมาณ พ.ศ. 2374) - แต่งเมื่อครั้งยังบวชอยู่ และไปค้นหายาอายุวัฒนะที่จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นผลงานเรื่องเดียวของสุนทรภู่ที่แต่งเป็นโคลง
- นิราศวัดเจ้าฟ้า (ประมาณ พ.ศ. 2375) - แต่งเมื่อครั้งยังบวชอยู่ และไปค้นหายาอายุวัฒนะตามลายแทงที่วัดเจ้าฟ้าอากาศ (ไม่ปรากฏว่าที่จริงคือวัดใด) ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เทพ สุนทรศารทูลเสนอว่า นิราศดังกล่าวเป็นผลงานของพัด ภู่เรือหงส์ บุตรของสุนทรภู่
- นิราศอิเหนา (ไม่ปรากฏ, คาดว่าเป็นสมัยรัชกาลที่ 3) - แต่งเป็นเนื้อเรื่องอิเหนารำพันถึงนางบุษบา เทพ สุนทรศารทูลเสนอว่า นิราศดังกล่าวเป็นผลงานของกรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์
- รำพันพิลาป (พ.ศ. 2385) - แต่งเมื่อครั้งจำพรรษาอยู่ที่วัดเทพธิดาราม แล้วเกิดฝันร้ายว่าชะตาขาด จึงบันทึกความฝันพร้อมรำพันความอาภัพของตัวไว้เป็น "รำพันพิลาป" จากนั้นจึงลาสิกขาบท
- นิราศพระประธม (พ.ศ. 2385) - เชื่อว่าแต่งเมื่อหลังจากลาสิกขาบทและเข้ารับราชการในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปนมัสการพระประธมเจดีย์ (หรือพระปฐมเจดีย์) ที่เมืองนครชัยศรี
- นิราศเมืองเพชร (พ.ศ. 2388) - แต่งเมื่อเข้ารับราชการในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เชื่อว่าไปธุระราชการอย่างใดอย่างหนึ่ง นิราศเรื่องนี้มีฉบับค้นพบเนื้อหาเพิ่มเติมซึ่ง อ.ล้อม เพ็งแก้ว เชื่อว่า บรรพบุรุษฝ่ายมารดาของสุนทรภู่เป็นชาวเมืองเพชรบุรี
ผลงาน "สุนทรภู่" ประเภทนิทาน
ผลงานนิทานที่โดดเด่น : พระอภัยมณี,พระไชยสุริยา,สิงหไกรภพ
- โคบุตร : เชื่อว่าเป็นงานประพันธ์ชิ้นแรกของสุนทรภู่ เป็นเรื่องราวของ "โคบุตร" ซึ่งเป็นโอรสของพระอาทิตย์กับนางอัปสร แต่เติบโตขึ้นมาด้วยการเลี้ยงดูของนางราชสีห์
- พระอภัยมณี : คาดว่าเริ่มประพันธ์ในสมัยรัชกาลที่ 2 และแต่ง ๆ หยุด ๆ เรื่อยมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นผลงานชิ้นเอกของสุนทรภู่ ได้รับยกย่องจากวรรณคดีสโมสรให้เป็นสุดยอดวรรณคดีไทยประเภทกลอนนิทาน
- พระไชยสุริยา : เป็นนิทานที่สุนทรภู่แต่งด้วยฉันทลักษณ์ประเภทกาพย์หลายชนิด ได้แก่ กาพย์ยานี 11 กาพย์ฉบัง 16 และกาพย์สุรางคนางค์ 28 เป็นนิทานสำหรับสอนอ่าน เนื้อหาเรียงลำดับความง่ายไปยาก จากแม่ ก กา แม่กน กง กก กด กบ กม และเกย เชื่อว่าแต่งขึ้นประมาณ พ.ศ. 2383 - 2385
- ลักษณวงศ์ : เป็นนิทานแนวจักรๆ วงศ์ๆ ที่นำโครงเรื่องมาจากนิทานพื้นบ้าน แต่มีตอนจบที่แตกต่างไปจากนิทานทั่วไปเพราะไม่ได้จบด้วยความสุข แต่จบด้วยงานสมโภชศพนางทิพเกสร ชายาของลักษณวงศ์ที่สิ้นชีวิตด้วยการสั่งประหารของลักษณวงศ์เอง
- สิงหไกรภพ : เชื่อว่าเริ่มประพันธ์เมื่อครั้งถวายอักษรแด่เจ้าฟ้าอาภรณ์ ภายหลังจึงแต่งถวายกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ และน่าจะหยุดแต่งหลังจากกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพสิ้นพระชนม์ สิงหไตรภพเป็นตัวละครเอกที่แตกต่างจากตัวพระในเรื่องอื่นๆ เนื่องจากเป็นคนรักเดียวใจเดียว
ผลงาน "สุนทรภู่" ประเภทสุภาษิต
ผลงานสุภาษิตที่โดดเด่น : สวัสดิรักษา,สุภาษิตสอนหญิง
- สวัสดิรักษา : คาดว่าประพันธ์ในสมัยรัชกาลที่ 2 ขณะเป็นพระอาจารย์ถวายอักษรแด่เจ้าฟ้าอาภรณ์
- เพลงยาวถวายโอวาท : คาดว่าประพันธ์ในสมัยรัชกาลที่ 3 ขณะเป็นพระอาจารย์ถวายอักษรแด่เจ้าฟ้ากลางและเจ้าฟ้าปิ๋ว
- สุภาษิตสอนหญิง : เป็นหนึ่งในผลงานซึ่งยังเป็นที่เคลือบแคลงว่า สุนทรภู่เป็นผู้ประพันธ์จริงหรือไม่ เทพ สุนทรศารทูลเสนอว่าน่าจะเป็นผลงานของภู่ จุลละภมร ศิษย์ของสุนทรภู่เอง
ผลงาน "สุนทรภู่" ประเภทบทละคร
มีการประพันธ์ไว้เพียงเรื่องเดียวคือ อภัยนุราช ซึ่งเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เพื่อถวายพระองค์เจ้าดวงประภา พระธิดาในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
ผลงาน "สุนทรภู่" ประเภทบทเสภา
- ขุนช้างขุนแผนตอนกำเนิดพลายงาม
- เสภาพระราชพงศาวดาร
ผลงาน "สุนทรภู่" ประเภท บทเห่กล่อมพระบรรทม
น่าจะแต่งขึ้นสำหรับใช้ขับกล่อมหม่อมเจ้าในพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ กับพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เท่าที่พบมี 4 เรื่องคือ
- เห่เรื่องพระอภัยมณี
- เห่เรื่องโคบุตร
- เห่เรื่องจับระบำ
- เห่เรื่องกากี