ไลฟ์สไตล์

เรียงความวันสุนทรภู่ 2567 แนะวิธีการเขียนเรียงความ บทความเชิดชูเกียรติ

เรียงความวันสุนทรภู่ 2567 แนะวิธีการเขียนเรียงความ บทความเชิดชูเกียรติ

25 มิ.ย. 2567

เรียงความวันสุนทรภู่ 2567 แนะวิธีการเขียนเรียงความ และตัวอย่างการเขียนที่ได้รับรางวัล ที่สุดบทความเชิดชูเกียรติฯ ครูกลอน

วันสุนทรภู่ ตรงกับวันที่ 26 มิถุนายน ของทุกปี ซึ่งวันสุนทรภู่ในปีนี้ ตรงกับวันพุธที่ 26 มิถุนายน 2567 เพื่อรำลึกถึง กวีเอกชั้นบรมครูของไทย พระสุนทรโวหาร ที่มีฝีมีการประพันธ์คำกลอน บทกลอนอย่างไพเราะเสนาะหูจนเป็นต้นแบบครูกลอนของไทยแล้ว ยังได้รับการยกย่องจากนานาชาติ "ยูเนสโก (UNESCO)" ว่ามีผลงานโดดเด่นด้านวรรณกรรม ให้เป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับโลก เมื่อปี พ.ศ. 2529

 

 

ทั้งนี้เพื่อเป็นการรำลึกถึงครูกลอน สุนทรภู่ ก่อนวันที่ 26 มิถุนายน ของทุกปี อาจารย์หมวดภาษาไทยจะมีกิจกรรมเพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ประวัติ ผลงาน รวมถึงความยกง่ายในการประพันธ์บทกลอน ผ่านกิจกรรมแข่งขันประกวดเขียนเรียนความ ประกวดแต่งกลอน เล่านิทาน เล่าประวัติสุนทรภู่ รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ มากมาย เพื่อให้ได้รำลึกถึงมหากวีของไทย

ตัวอย่างเรียงความวันสุนทรภู่

เรียงความเรื่อง สุนทรภู่ที่ฉันรู้จัก

 

ถ้าหากเราจะกล่าวถึงกวีผู้มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในสมัยรัตนโกสินทร์ ก็เห็นจะไม่พ้นพระสุนทรโวหารภู่ หรือที่เรารู้จักกันในนามของ สุนทรภู่ ศรีกวีเอกแห่งแผ่นดินสยาม ผู้เป็นอีกหนึ่งบุคคลสำคัญที่จรรโลงตัวอักษรร้อยรสเป็น ความบันเทิงแห่งโลกวรรณกรรม อันเป็นเอกลักษณ์หาท่านใดเปรียบได้ยาก ซึ่งตัวฉันเองก็ได้รับรู้ถึงประวัติและผลงานของท่านมาบ้างตั้งแต่ยังเด็ก และได้มีโอกาสร่วมงานวันสุนทรภู่ที่ทางโรงเรียนจัดขึ้นในทุกปี

 

สุนทรภู่ หรือ พระสุนทรโวหาร มีนามเดิมว่า ภู่ เป็นบุตรขุนศรีสังหาร (พลับ) และแม่ช้อย เกิดในรัชกาลที่ 1 สุนทรภู่เป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอน สันทัดทั้งสักวาและเพลงยาว “เมื่อรุ่นหนุ่มเกิดรักใคร่ชอบพอกับนางข้าหลวงในวังหลัง ชื่อแม่จัน เมื่อความทราบถึงกรมพระราชวังหลัง รับสั่งให้นำสุนทรภู่ และแม่จันไปจองจำทันที แต่ทั้งสองถูกจองจำได้ไม่นาน เมื่อกรมพระราชวังหลังเสด็จทิวงคตในปี ทั้งสองก็พ้นโทษออกมา แต่ทั้งคู่ก็ยังมิอาจสมหวังในรัก ชีวิตหลังแต่งงานของท่านไม่ค่อยราบรื่นนัก เพราะสุนทรภู่เป็นคนเจ้าชู้ ถึงแม้ว่าทั้งสองจะมีลูกด้วยกันชื่อหนูพัด แต่ไม่นานก็ต้องเลิกรากันไป”

จากประวัติที่ได้ยกมาแค่บางส่วนของสุนทรภู่ เราจะเห็นได้ว่าชีวิตของท่านนั้นยากลำบากเพียงใด กว่าจะมาเป็นบทประพันธ์แต่ละบทนั้นต้องผ่านเหตุการณ์ต่างๆมามากมาย อาทิเช่น การเดินทางไปเมืองแกลงเพื่อไปหาพ่อที่จากกันกว่า 20 ปี สุนทรภู่ก็เกิดล้มเจ็บหนักเกือบถึงชีวิต ท่านก็ได้แต่งนิราศเมืองแกลงเอาไว้ เป็นต้น

 

เมื่อเวลาผ่านไป อายุของท่านก็เพิ่มขึ้นมากเรื่อยๆ แต่ท่านก็ยังรักการเดินทางและบทกลอนเป็นที่สุด สุนทรภู่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “พระสุนทรโวหาร” ขณะที่ท่านมีอายุได้ 65 ปี และถึงแก่อนิจกรรมเมื่อปี พ.ศ.2398 รวมอายุได้ 69 ปี

 

ทั้งชีวิตของท่านได้แต่งมหานิราศและบทประพันธ์ไว้มากมาย อันได้แก่ นิราศเมืองแกลง นิราศพระบาท นิราศภูเขาทอง นิราศเมืองเพชร นิราศสุพรรณ นิราศพระประธม พระอภัยมณี ฯลฯ โดยเฉพาะเรื่องพระอภัยมณี นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงคุณค่าความงามทางภาษา และวรรณศิลป์ มีการใช้ถ้อยคำเพื่อให้เกิดภาพพจน์อันเป็นเลิศแล้ว จะเห็นได้ว่ามีคุณค่าต่อการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง

 

ดังตอนที่พระฤๅษีได้กล่าวสอนสุดสาครไว้ว่า "รู้สิ่งใดไม่สู้รู้วิชา รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี" ซึ่งจากตัวอย่างที่ได้ยกขึ้นมากล่าว เราจะสังเกตได้ว่าผลงานของท่านมักจะสอดแทรกข้อคิด คติธรรมที่เหมาะสมกับกาลเวลา รวมทั้งในบทประพันธ์ของท่านยังแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมประเพณีความเชื่อในสมัยนั้นได้อย่างชัดเจน ซึ่งทั่วโลกเองต่างก็ยอมรับในผลงานของท่าน

 

แม้ว่าตอนนี้ตัวท่านจะได้เสียชีวิตไปนานแล้ว แต่คุณงามความดีและคุณประโยชน์ของกวีสี่แผ่นดินผู้นี้ก็ยังคงอยู่ ตัวท่านสุนทรภู่ก็ถือได้ว่าเป็นกวีสามัญชนที่สร้างผลงานอันทรงคุณค่ามากที่สุด บทกลอนของท่านได้เป็นแบบอย่างที่คนไทยยึดถือมาจนถึงปัจจุบันนี้ นอกจากนั้นท่านยังได้ชื่อว่าเป็นกวีเอกของโลกท่านหนึ่ง โดยองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือที่รู้จักกันในนามของ ยูเนสโก ( UNESCO ) ได้ประกาศเกียรติคุณให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกเมื่อปี พ.ศ. 2529

 

ในวาระที่ครบรอบ 200 ปีเกิดของท่าน และในบ้านเรานี้เองก็ได้มีวันสำคัญซึ่งเกี่ยวข้องกับตัวท่านสุนทรภู่โดยตรง ซึ่งก็คือวันที่ 26 มิถุนายน ของทุกปี เพื่อเป็นการรำลึกถึงความสำคัญและได้กล่าวความยกย่องในความเป็นอัจฉริยะในงานนิพนธ์ของท่านด้วย

 

ตัวฉันในฐานะชาวไทยคนหนึ่ง รู้สึกภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก เพราะมันได้แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยของเราไม่สิ้นคนดี คนเก่ง ที่มากด้วยความสามารถ บทประพันธ์ของท่านทำให้ผู้อ่านทุกคนล้วนแต่ประทับใจและก็ยิ่งมั่นใจได้เลยว่าท่านสุนทรภู่สมควรแล้วที่ได้รับการยกย่องว่าท่านคือกวีเอกอย่างแท้จริง ดั่งเช่นหลักฐานที่ท่านได้ทำให้เห็นเช่นปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นแบบอย่างและแนวทางในการประพฤติดีของพวกเราสืบต่อไป

 

รางวัลรองชนะเลิศการประกวดสุนทรพจน์ ผลงานเรียนความสุนทรภู่  วันสุนทรภู่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2552 โดย นักเรียนระดับม.4 โรงเรียนอัมพรไพศาล อ.ปากเกร็ด จ. นนทบุรี

 

 

 

ตัวอย่างเรียงความวันสุนทรภู่

เรียงความเรื่อง มหากวีเอกของโลกกับเศรษฐกิจพอเพียง

 

จากมหากวีผู้ยิ่งใหญ่ในช่วงต้นของกรุงรัตนโกสินทร์ ที่มีชื่อเสียงเลืองลือไปด้วยทั่วโลกด้วยผลงานการประพันธ์ที่สุดแสนจะซาบซึ้งกินใจผู้อ่าน ด้วยเรื่องราวรักสามเส้าของพระอภัยมณี นางเงือก และนางผีเสื้อสมุทร ด้วยเรื่องราวที่แฝงความจริงในของโลกยุคปัจจุบัน ที่มีเรื่องราวของการชู้สาวเพิ่มมากขึ้นและเป็นเรื่องธรรมดาของสังคม และเรื่องราวของสุดสาครต้องผจญภัยไปในดินแดนหลายแคว้น หลายเมือง เพื่อออกตามบิดาของตน วันนี้เราจะพาท่านไปเจาะลึกถึงการดำเนินชีวิตของกวีผู้นี้ว่าเป็นอย่างไร? ตรงตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงมากน้อยเพียงใด

 

สุนทรภู่ นั้นเดิมเป็นคนบ้านกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง เป็นลูกของหญิงที่ถือได้ว่ามีเชื้อสายผู้ดี แม่นั้นเป็นนางนมในกรมพระราชวังหลัง และพ่อนั้นได้บวชอยู่ที่วัดบ้านกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง สุนทรภู่นี้ถือได้ว่าเป็นที่มีโอกาสได้รับการศึกษาเป็นอย่างดี โดยที่ได้มีโอกาสได้เรียนหนังสือที่วัดชีปะขาว หลังจากนั้นได้มีโอกาสเข้าทำงานในกรมพระราชวังหลัง แต่ไม่มีความเจริญห้าวหน้าในหน้าที่การงาน จึงตัดสินใจลาออก ด้วยเพราะตัวสุนทรภู่เองนั้นเป็นคนที่มีความชอบในการแต่งกลอน และสุนทรภู่ได้มีโอกาสเจริญรุ่งเรืองที่สุดก็คือในสมัยรัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ที่ถือได้ว่าช่วงนี้เป็นยุคทองของงานวรรณคดี ทำให้สุนทรภู่ได้รับบรรดาศักดิ์ "ขุนสุนทรโวหาร" และได้รับบรรดาศักดิ์สูงสุดจาก รัชกาลที่ 4 เป็น "พระสุนทรโวหาร"

 

เรื่องที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งในชีวิตของสุนทรภู่ คือ เรื่องของความรักระหว่างสุนทรภู่และแม่จันที่ไม่ได้โรยไปด้วยกลีบกุหลาบ จนทำให้ทั้งคู่ต้องเข้าไปอยู่ในคุก ด้วยความรักที่ผิดจารีตประเพณี และสุนทรภู่นี้ถือได้ว่าเป็นคนที่เจ้าชู้อยู่พอสมควร ทำให้ต้องร้างลากับแม่จันไป และสำหรับคนที่สืบเชื้อสายมาจากสุนทรภู่นั้นจะใช้นามสกุลว่า "ภู่เรือหงส์"

 

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้นได้กล่าวไว้ว่า เศรษฐกิจพอเพียงนั้น เป็นหลักการสำหรับการปฏิบัติตน และดำรงอยู่ประชาชนทุกระดับ รวมทั้งรัฐบาลที่จะใช้เป็นแนวทางในการบริหารงานและพัฒนา ประเทศ โดยยึดหลักของทางสายกลาง เพื่อจะเป็นการฝึกฝนให้คนเรานั้นสามารถที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปในโลกโลกาภิวัตน์  ซึ่งปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ ว่านี้ มีส่วนประกอบหลักๆ อยู่ 3 ห่วง 2 เงื่อนไข โดย 3 หลักที่ว่านั้นก็จะประกอบไปด้วย 1.พอประมาณ 2.มีเหตุผล 3.มีภูมิคุ้มกัน บนพื้นฐาน 2 ห่วงที่ว่านั้นก็คือ ความรู้ และคุณธรรม และด้วยปรัชญาแห่งเศรษฐกิจพอเพียงนี้เองที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช นั้นได้รับรางวัล The Human Development Lifetime Achievement Award ซึ่งจัดโดย องค์การสหประชาชาติ (UN) และมีนายโคฟี อนัน ที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ เป็นตัวแทนมาทูลเกล้าถวาย เนื่องในทรงครองราชย์ครบ 60 ปี ถือเป็นอีกหนึ่งความภูมิใจที่มีในหลวงที่ทรงทำงานหนัก เพื่อพสกนิกรได้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขภายใต้ร่มโพธิ์ของพระองค์

 

บุคคลตัวอย่างที่เราจะใช้ในการพิจารณาความมีความสอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงบุคคลนั้น คือ สุนทรภู่ ซึ่งสุนทรภู่เกิดในช่วงตอนต้นสมัยรัตนโกสินทร์ ที่ยังไม่มีการพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้ทราบว่าพฤติกรรมในช่วงต่างๆ ของสุนทรภู่มีความเป็นจริงและไม่มีการแสดง เพื่อให้สังคมยอมรับเหมือนกับหลายคนทุกวันนี้ ที่จะใช้คำว่าเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเป็นเครื่องมือบังหน้าในการจัดรายการที่อาจจะไม่เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเป็นการเอาหน้า ลักษณะของสุนทรภู่ที่สอดคล้องนั้นได้แก่ การที่สุนทรภู่ มีความขยันในการศึกษาเล่าเรียนเพื่อให้เกิดความรู้และได้สำนวนใหม่ และยังเป็นคนที่มีความความพอเพียงในตนเองไม่โลภมากอยากได้ของผู้อื่น ทำงานที่ได้รับมอบหมายอย่างซื่อสัตย์ สุจริต และมีความรับผิดชอบในการงาน โดยจะสังเกตได้จากการที่สุนทรภู่ได้เป็นกวีที่ปรึกษา ของรัชกาลที่ 2 นั้นพอจะบ่งบอกได้ว่าสุนทรภู่น่าจะมีคุณสมบัติที่มีความรับผิดชอบอบ ความซื่อสัตย์ สุจริต และสุนทรภู่นี้เป็นที่มีเหตุผล จากการที่กล้าที่จะโต้แย้งกับพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องความเหมาะสมในการแต่งกลอนแต่ละบท จนทำให้รัชกาลที่ 3 ไม่พอใจ

 

เมื่อจะกล่าวถึงส่วนที่อาจจะขัดแย้งของสุนทรภู่กับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้นก็พอมีบ้าง จากการศึกษาข้อมูลของสุนทรภู่นั้นเราพบว่าสุนทรภู่ก็มีส่วนไม่ดีของชีวิต อยู่ด้วย เหมือนกับเมื่อตอนที่ต้องลาสิกขา  เพราะ เกิดการเมาเหล้าแล้วอาละบาดทำให้ต้องโดดขับไล่ออกจากวัด และการที่สุนทรภู่นั้นก็เป็นคนที่มีความเจ้าชู้ จนทำให้ต้องหย่าร้างจากแม่จัน นั้นก็แสดงว่าสุนทรภู่ไม่อาจจะได้ตั้งมั่นในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเสมอไป แต่ก็มีบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

 

จากการวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับสุนทรภู่นั้น พบว่าสุนทรภู่ก็ต้องมีจุดที่สอดคล้องหรือขัดแยงกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อยู่บ้าง เหมือนกับคนเราที่ไม่อาจจะดำรงตนให้สามารถอยู่กับสิ่งเดียวตลอดไป แต่ก็ขอให้ยึดเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้บ้าง ถึงแม้จะเพียงเล็กน้อยก็ตาม การใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนี้แหละจะเป็นตัวที่ช่วยผลักดันให้ประเทศไทยของ เรามีความเจริญทางด้านจิตใจของมนุษย์มากขึ้น แล้วทุกคนในเมืองไทยจะรู้สึกได้เลยถึงความสงบสุขของชีวิต

ผลงานเรียนความสุนทรภู่  วันสุนทรภู่ คุณตุล (tun) นักเรียนชั้น ม.4/3 เลขที่ 9

 

 

วิธีเขียนเรียงความ

เรียงความ หมายถึง การนำมาแต่งเรื่องเพื่อใช้เป็นข้อเขียนที่แสดงความคิด ความรู้ความรู้สึก และ ความคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่าง ๆ ของผู้เขียนถ่ายทอดสู่ผู้ฟัง

 

ส่วนประกอบของเรียงความ

เรียงความประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ 3 ส่วน คือ คำนำ เนื้อเรื่อง และสรุป ดังนี้

1. ส่วนที่เป็นคำนำ

เนื้อความส่วนที่เป็นคำนำ เป็นการเปิดเรื่อง อาจเป็นการอธิบายความหมายของชื่อเรื่อง กล่าวถึงความสำคัญและขอบเขตของเรื่องที่จะเขียนหรือข้อความที่ก่อให้เกิดความสนใจ ต้องการอ่านเนื้อเรื่องให้มากที่สุด

 

2. ส่วนที่เป็นเนื้อเรื่อง

ส่วนเนื้อเรื่องจะเป็นส่วนที่ขยายความ ให้รายละเอียดตรงตามจุดประสงค์หรือประเด็นหลักของเรื่อง ส่วนเนื้อเรื่องจะเป็นส่วนที่มีเนื้อหามากที่สุด ส่วนเนื้อเรื่องประด้วยหลายย่อหน้า แต่ละย่อหน้าจะขยายความของเรื่องตามแนวคิดที่ตั้งไว้ มีทั้งเนื้อหาของเรื่องที่ให้ความรู้ การแสดงความคิดเห็นความรู้สึกของผู้เขียน พร้อมตัวอย่างประกอบข้อความให้เด่นชัดยิ่งขึ้น มีการใช้สำนวนโวหาร และถ้อยคำที่ไพเราะ เลือกสรรแล้วนำมาใช้ในการเขียน ต้องเขียนตามโครงเรื่องที่ตั้งไว้ให้มีเนื้อหาต่อเนื่องสอดคล้องกัน

 

3. ส่วนที่เป็นสรุป

ส่วนที่เป็นการสรุปเรื่อง เป็นส่วนที่สรุปเนื้อหาสำคัญของเรื่องควรมีเพียงย่อหน้าเดียว เป็นการกล่าวย้ำประเด็นสำคัญ ย้ำจุดประสงค์หรือความคิดหลักของเรื่อง อาจมีการทิ้งท้ายฝากข้อคิด ข้อย้ำเตือน หรือ คติสอนใจ ตลอดจนความประทับใจให้แก่ผู้อ่าน การเขียนย่อหน้าแต่ละย่อหน้าของเรียงความทั้งเรื่อง ตั้งแต่เปิดเรื่อง การดำเนินเรื่อง จนกระทั้งจบเรื่อง ผู้เขียนจะต้องเริ่มต้นโดยวางจุดประสงค์ของการเขียนว่าจะเขียนเรื่องอะไร เขียนแนวใด มีข้อมูลหลักข้อมูลสนับสนุนต่าง ๆ เพียงพอแล้วเพียงใด จะเริ่มต้นจะปิดท้ายเรื่องแนวใด จึงลงมือร่างโครงเรื่อง แต่ละย่อหน้าเป็นแนวพอสังเขปก่อน ดังเช่น

 

1. ย่อหน้าแรก เปิดเรื่องประกอบด้วย

1.1 การกล่าวทั่วไปเพื่อสร้างความสนใจเกี่ยวกับเนื้อเรื่องที่จะเขียน

1.2 กล่าวระบุประเด็นสำคัญๆ ของเรื่องที่เป็นหลักสำคัญหรือหัวใจของเรื่อง เป็นการกล่าวถึงโครงสร้างโดยรวมของการวางเนื้อความเรื่องที่สนใจ

 

2. ย่อหน้าเนื้อเรื่อง การเขียนเนื้อเรื่อง แสดงถึงการให้สิ่งสำคัญที่กล่าวเกริ่นไว้ พร้อมทั้งรายละเอียดต่าง ๆ แก่ผู้อ่าน เนื้อเรื่องของเรียงความมักมีหลายย่อหน้า เว้นแต่ว่าเรื่องนั้นมีเนื้อหาน้อยมากเขียนเพียงหนึ่งย่อหน้าก็ได้ แต่ไม่ว่าจะกี่ย่อหน้า แต่ละย่อหน้าต้องเกี่ยวเนื่องกันตลอด มีคำหรือความเชื่อมประโยคในย่อหน้าและระหว่างย่อหน้า

 

3. ย่อหน้าท้าย มีลักษณะต่างไปจากส่วนที่เป็นเนื้อเรื่อง เช่น การสรุปประเด็นสำคัญของเนื้อเรื่องก็ควรใช้วิธีการเขียนและภาษาให้กระชับ ชัดเจนทิ้งท้ายเป็นข้อคิดที่แตกต่างจากการดำเนินเรื่อง แต่ก็ต้องสัมพันธ์กับการปิดเรื่องและเนื้อเรื่อง จึงจะทำให้เรียงความนั้นมีเอกภาพ สัมพันธภาพ และมีสารัตถภาพ

 

หลักในการเขียนเรียงความ

หลักในการเขียนเรียงความที่สำคัญ ๆ มีดังนี้

1. เขียนตรงตามส่วนประกอบของการเขียนเรียงความ คือ มีส่วนนำ ส่วนเนื้อเรื่อง และส่วนปิดเรื่องย่อหน้าแรกและย่อหน้าสุดท้ายเป็นส่วนนำและส่วนปิดเรื่อง

2.เขียนตรงตามโครงเรื่องที่วางไว้ทุกประเด็น

3. เนื้อเรื่องที่วางไว้ตามโครงเรื่องควรเขียนอย่างครบถ้วน และสมบูรณ์และมีการลำดับขั้นตอนที่ต่อเนื่องสอดคล้องกัน

4. การนำเสนอเรื่อง ให้มีสาระน่าอ่าน เลือกสรรข้อความที่เหมาะสม มีความน่าเชื่อถือ

5. มีความคิดแปลกใหม่ ทันสมัย น่าสนใจ สอดแทรกในข้อเขียนอย่างเหมาะเจาะ

6. มีสำนวนการเขียนดี มีโวหาร คือมีถ้อยคำที่เรียบเรียงน่าอ่าน มีการแสดงถ้อยคำออกมาเป็นข้อความเปรียบเทียบ

7. มีความงามในรูปแบบ คือ หัวกลางหน้ากระดาษ หัวข้อชิดขอบกระดาษ หัวข้อย่อหน้า หัวข้อย่อยจะวางรูปแบบได้สัดส่วนที่เหมาะเจาะ สวยงาม อ่านง่าย ไม่สับสน ย่อหน้าใหม่ทุกครั้งเมื่อต้องการเปลี่ยนเรื่องใหม่

 

ข้อมูลอ้างอิงจาก : springnews,มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม