เปิดที่มา กว่าจะเป็น "ถนนเยาวราช" ถนนมังกรที่ไม่เคยหลับใหล
เปิดที่มา กว่าจะเป็น "ถนนเยาวราช" ถนนมังกรที่ไม่เคยหลับใหล พร้อมไขคำตอบสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยไหน? ชื่อเดิมไม่ใช่เยาวราช ก่อนมาเป็นศูนย์เศรษฐกิจ ธุรกิจสำคัญของไทย
ถนนเยาวราชตั้งอยู่ที่ไหน?
ถนนเยาวราช ตั้งอยู่ระหว่างถนนเยาวราช และถนนเจริญกรุง เป็นแหล่งชุมชนชาวจีนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยชาวจีนเริ่มต้นเข้ามาค้าขายกับคนไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ซึ่งศูนย์กลางการค้าอยู่บริเวณรอบ ๆ ท่าเรือราชวงศ์
ถนนเยาวราชสร้างขึ้นในสมัยใด?
ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการสร้างถนนขึ้นเพื่อส่งเสริมการค้าขาย และได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า ถนนเยาวราช ปัจจุบันถนนเยาวราชเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั่วโลกในฐานะแหล่งรวมอาหารสตรีตฟู้ดยอดนิยม มีร้านอาหารทั้งที่เป็นร้านภายในอาคารและตั้งร้านริมถนน กล่าวได้ว่าที่นี่มีอาหารนานาชาติทุกชนิดให้เลือกลิ้มลอง ทั้งอาหารคาวและขนมหวาน รวมทั้งมีตลาดขายอาหารสดและอาหารแห้งประเภทที่นำไปเป็นเครื่องประกอบการทำอาหาร
รวมทั้งมีการจำหน่ายเสื้อผ้าแบบชุดชาวจีนหลากสีสัน นอกจากนี้ ถนนเยาวราชเป็นสถานที่ในการจัดงานเทศกาลที่สำคัญของชาวจีน เช่น เทศกาลตรุษจีน (ช่วงเดือนมกราคม) และเทศกาลกินเจ (ประมาณช่วงเดือนตุลาคม) อีกทั้งบนถนนสายนี้มีศาสนสถานของหลายศาสนา ทั้งพุทธหินยาน-มหายาน คริสต์ อิสลาม และศาลเจ้า ซึ่งเป็นเทพเจ้าของจีนหลายศาล รวมทั้งมีอาคารเก่าที่มีสถาปัตยกรรมสวยงามหลายอาคาร
ถนนเยาวราชเปิด-ปิดกี่โมง
ถนนเยาวราช เปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00-23.00 น.
ประวัติถนนเยาวราช
ประวัติ ถนนเยาวราช สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ตามโครงการ ถนนอำเภอสำเพ็งซึ่งเป็นนโยบายสร้างถนนในท้องที่ ที่เจริญแล้ว เพื่อเป็นการส่งเสริมการค้าขาย เนื่องจากสำเพ็งเป็นย่านการค้าที่เจริญมากอีกแห่งหนึ่ง นอกเหนือจากบริเวณถนนเจริญกรุง ทำให้มีพระราชดำริที่จะสร้างถนนให้มากขึ้น
โดย ถนนเยาวราชนี้เป็น 1 ใน 18 ถนน ที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เสนอให้สร้าง เช่น ถนนจักรวรรดิ, ถนนราชวงศ์, ถนนอนุวงศ์ ฯ โดยในเวลานั้นสภาพของพื้นที่ ก่อนที่จะกลายมาเป็นถนนเยาวราช มีสภาพเป็นท้องทุ่งนาและลำคลอง
จาก ถนนยุพราช เป็น ถนนเยาวราช
ถนนเยาวราช เริ่มตั้งแต่คลองรอบกรุงตรงข้ามกับป้อมมหาไชย ตัดลงไปทางทิศใต้ บรรจบกับถนนราชวงศ์ ซึ่งสร้างแยกจากถนนเจริญกรุงตรงไปฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา (ท่าราชวงศ์) สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์กราบบังคมทูลว่าจะสร้างถนนใน พ.ศ. 2434 โดยให้ชื่อถนนว่า "ถนนยุพราช" ต่อมาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อว่า "ถนนเยาวราช" และในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2434
ได้มีพระบรมราชโองการ ให้ออกประกาศกรมโยธาธิการแจ้งให้ราษฎรทราบว่า การตัดถนนเยาวราชเนื่องจากมีพระราชประสงค์ จะให้บ้านเมืองเจริญ และเป็นประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไป เพื่อมิให้ราษฎรพากันตกใจขายที่ดินไปในราคาถูก เพราะเข้าใจว่าจะซื้อเป็นของหลวง หรือ บางทีเข้าใจว่าการชิงขายเสียก่อน ถึงจะได้ราคาน้อยก็ยังดีกว่าจะสูญเปล่า และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ตึกที่ยื่นล้ำเข้ามาในแนวถนนไม่เกินกว่า 1 วา ไม่ต้องรื้อถอนด้วย
การสร้างถนนเยาวราชประสบอุปสรรคหลายประการนับแต่เริ่มกรุยทางใน พ.ศ. 2435 จนถึง พ.ศ. 2438 ก็ยังไม่เสร็จ เพราะนอกจากราษฎรจะขัดขวางแล้วยังปรากฏว่า เจ้าของที่ดินหลายรายขวนขวายที่จะขายที่ดินให้กับคนในบังคับต่างประเทศ ทำให้การก่อสร้างค่อนข้างล่าช้า
จนกระทั่งใน พ.ศ. 2441 ปัญหาเรื่องที่ดินซึ่งจะต้องตัดถนนผ่านก็ยังไม่ยุติ ในวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2441 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระบรมราชโองการให้กระทรวงโยธาธิการดำเนินการตัดถนนต่อไป เพราะมีพระราชดำริว่าที่ดินซึ่งถูกตัดถนนผ่านไปนั้น ย่อมทวีราคาขึ้นกว่าแต่ก่อนหลายสิบเท่าเป็นประโยชน์แก่เจ้าของมาก ไม่ควรจะเสียดายที่ดินซึ่งเป็นท้องถนนแต่เพียงเล็กน้อย เพราะรัฐบาลที่ลงทุนทำถนนก็ไม่ได้เก็บเงินค่าคนหรือรถม้าที่เดินบนถนนเลย เพื่อบำรุงการค้าขายให้สะดวก เจ้าของจึงไม่ควรหวงแหน
เมื่อแรกตัดถนนเยาวราชใหม่ ๆ นั้น มีชาวจีนอยู่อาศัยกันหนาแน่น แม้ต่อมาถนนเยาวราชก็ยังคงมีความสำคัญ เพราะเป็นย่านร้านอาหารชั้นนำ ตึกที่สร้างสูงที่สุดตึกแรกในสมัยรัตนโกสินทร์ก็สร้างที่ถนนเยาวราชเป็นแห่งแรก ช่วง พ.ศ. 2500 ถนนเยาวราชรถยังวิ่งสวนทางกัน
มีรถเมล์สาย 23 หรือที่เรียกกันว่า "เมล์แดง" และรถเมล์สาย 24 ที่เรียกกันว่า "ไทยประดิษฐ์" วิ่งสวนทางกัน และมีรถรางวิ่งอยู่อีกช่องทางหนึ่ง ถนนเยาวราชจะเป็นที่จัดงานประจำปีอยู่เนือง ๆ โดยจะปิดการจราจรชั่วคราว เป็น "ถนนคนเดิน" มีการขายอาหารจีนที่มีชื่อ การแสดง และออกร้านมากมายจากร้านค้าที่อยู่สองข้างทาง
ในหลวงรัชกาลที่ 8 ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จประพาสเยาวราช
3 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ในหลวงรัชกาลที่ 8 ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จเยี่ยมเยียนราษฎรด้วยการพระราชดำเนินที่เยาวราช สำเพ็ง ตั้งแต่เวลา 09.00 น. จนถึง 12.00 น. เป็นระยะทาง 3 กิโลเมตร สร้างความปิติยินดีอย่างมากต่อชาวเยาวราช ในครั้งนั้นพระองค์ได้เสด็จเข้าไปเยี่ยมเยียนถึงในบ้านพัก และร้านค้าของราษฎรอย่างใกล้ชิด และในเวลาเที่ยง ได้เสวยพระกระยาหารเที่ยงที่ชาวเยาวราชจัดถวาย ที่สมาคมพ่อค้าไทย-จีน ถนนสาทร
เนื่องจากในเวลานั้น มีความขัดแย้งอย่างรุนแรง ระหว่างคนไทยกับคนไทยเชื้อสายจีน หรือ ชาวจีน ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในย่านเยาวราช รุนแรงถึงขั้นมีการทำร้ายร่างกายคนไทย ที่เข้าไปในบริเวณนี้ อันเนื่องมาจากความฮึกเหิมในเชื้อชาตินิยม หลังจากการที่จีนเป็นหนึ่งในชาติมหาอำนาจ หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ส 2 การเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรครั้งนี้ นับเป็นประวัติศาสตร์ครั้งหนึ่งที่ต้องจารึกไว้ อันเป็นการสลายความขัดแย้งทั้งหมดไปได้
ที่มา : thai.tourismthailand