เปิดเรื่องราวความศรัทธาสู่ "พลังแห่ง น้ำศักดิ์สิทธิ์" ในวัฒนธรรมไทย
ความเชื่อไทยโบราณ เกี่ยวกับ “นํ้า” ผ่านสัญญะต่างๆ เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยมาช้านานและยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน เปิดเรื่องราวความศรัทธาสู่ “พลังแห่ง น้ำศักดิ์สิทธิ์” ในวัฒนธรรมไทย
สังคมไทยเป็นสังคมที่ต้องพึ่งพาน้ำมาตั้งแต่โบราณ ด้วยเป็นสังคมเกษตรที่ต้องพึ่งฟ้าฝนในการเพาะปลูกพืชพันธุ์ต่างๆ ในการดำรงชีพ รวมถึงการใช้น้ำเพื่อบริโภคและชำระร่างกายในชีวิตประจำวัน และยังมีความเชื่อเกี่ยวกับพลังอำนาจศักดิ์สิทธิ์ของน้ำ ในลักษณะของน้ำมนต์หรือน้ำศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ที่มีคุณสมบัติในการชำระสิ่งที่สกปรกสิ่งที่เป็นมลทินและไม่เป็นมงคลทั้งหลายให้ออกจากร่างกายมนุษย์ไป โดยความเชื่อเกี่ยวกับ เรื่องนํ้ายังคงมีบทบาทต่อสภาพจิตใจ รวมถึงยังสามารถเป็นตัวเชื่อมร้อยกลุ่มคนให้ยังคงความเหนียวแน่นในสังคมผ่านรูปแบบพิธีกรรมต่างๆโดยในการใช้ “นํ้าศักดิ์สิทธิ์”
ความเชื่อเรื่องน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ แต่เดิมไม่ได้เป็นคติในพุทธศาสนา จากการศึกษาวรรณกรรมหรือคัมภีร์โบราณต่างๆ ในพระพุทธศาสนา ไม่พบเรื่องพิธีกรรมเสกน้ำพระพุทธมนต์ ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นพิธีกรรมหรือธรรมเนียมที่พุทธศาสนารับมาภายหลังจากยุคที่พระพุทธเจ้ายังมีพระชนม์หรือยุคพุทธกาลไปแล้ว
ปรากฏเป็นพิธีกรรมทางพุทธทั้งในนิกายมหายานและเถรวาท โดยฝ่ายมหายานจะมีพิธีกรรมที่ซับซ้อนกว่าฝ่ายเถรวาท ซึ่งถือว่าการเสกน้ำศักดิ์สิทธิ์มาจากโองการของพระพุทธเจ้า จึงใช้ในการรดน้ำบนรูปเคารพต่างๆ โดยถือความสำคัญของน้ำสะอาดว่าเป็นปัจจัยสำหรับชำระร่างกายหรือสิ่งต่างๆ ให้บริสุทธิ์ นำมาซึ่งความเป็นมงคล
แนวคิดดังกล่าวปรากฏในคัมภีร์ทางพุทธศาสนา อย่างเช่นในพุทธประวัติที่เสด็จไประงับทุพภิกขภัยในเมืองสาวัตถี ด้วยพุทธานุภาพบรรดาให้ฝนโบกขรพรรษ ซึ่งเป็นฝนบริสุทธิ์ตกลงมาล้างทุพภิกขภัยในเมืองสาวัตถี ในพระสูตรที่กล่าวถึงพระอินทร์ลงมาเนรมิตสระโบกขรณีให้พระพุทธเจ้าทรงซักผ้าเพื่อทรงนำไปใช้สอย
หรือเมื่อครั้งพระพุทธเจ้าใกล้ปรินิพพานทรงโปรดให้พระอานนท์ไปตักน้ำในแม่น้ำใกล้ที่ประทับ แต่เนื่องจากมีกองเกวียนขนสินค้าเดินข้ามแม่น้ำมาทำให้น้ำขุ่น พระอานนท์จึงตักน้ำไม่ได้ แต่ด้วยพุทธานุภาพทรงทำให้แม่น้ำกลายเป็นน้ำใส จึงสามารถตักไปเป็นพุทธบริโภคได้ เป็นต้น
ในพระราชพิธีสมัยรัตนโกสินทร์จนถึงปัจจุบัน หากพระมหากษัตริย์ต้องใช้น้ำในการประกอบพิธีต่างๆ หรือมีธรรมเนียมที่ต้องใช้น้ำในการชำระ จำเป็นต้องใช้น้ำที่เสกเป็นพระพุทธมนต์หรือน้ำเทพมนต์ โดยมีประเพณีมี่กำหนดแหล่งน้ำที่ต้องนำมาใช้
อาทิ งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรว่าใช้น้ำจากแม่น้ำสายสำคัญ ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำเพชรบุรี โดยตักน้ำจากวัดสำคัญซึ่งมีปูชนียวัตถุ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ หรือมีพระธาตุเจดีย์ศักดิ์สิทธิ์ ในเมืองที่แม่น้ำสายนั้นไหลผ่าน อย่างเช่นแม่น้ำบางปะกงให้ตักน้ำที่หน้าวัดโสธร แม่น้ำแม่กลองในเขตจังหวัดราชบุรีให้ตักน้ำหน้าวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เป็นต้น
แล้วนำมารวมกับน้ำปัญจมหานทีตามธรรมเนียมพราหมณ์เพื่อใช้ประกอบพิธีกรรม พระราชพิธีสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการใช้น้ำศักดิ์สิทธิ์ ได้แก่ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในขั้นตอนการสรงน้ำพระมูรธาภิเษก พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา พระราชพิธีสมโภชต่างๆ ในขั้นตอนการสรงพระพักตร์ เป็นต้น
การใช้น้ำมนต์ในพิธีกรรมทางพุทธศาสนาเกี่ยวข้องกับการเจริญพระพุทธมนต์ คือ การทบทวนคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่เรียกว่าพระสูตรต่างๆ ซึ่งปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก พุทธศาสนิกชนเชื่อว่าการทบทวนคำสอนของพระพุทธเจ้าด้วยการเปล่งเสียง เป็นการสร้างให้เกิดพลังงานศักดิ์สิทธิ์และสามารถถ่ายทอดลงไปในน้ำพระพุทธมนต์
โดยพระสงฆ์ที่เป็นประธานในพิธีกรรมจะหยดน้ำตาเทียนน้ำผึ้งลงไปในขันน้ำ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของการ ถ่ายทอดพลังของพระพุทธมนต์ลงไปในน้ำ ที่เรียกว่า การเสกน้ำพระพุทธมนต์ แล้วจึงนำน้ำไปใช้ในพิธีกรรมต่างๆ อาทิ งานขึ้นบ้านใหม่ งานแต่งงาน งานศพ หรืองานทำบุญต่างๆ เป็นต้น
ที่มา thaistudies chula