ไลฟ์สไตล์

ไขความลับ "มือสอง ญี่ปุ่น" มาจากบ้านคนตาย จริงไหม ทำไมสภาพยังใหม่กริบ

29 ส.ค. 2567

ไขความลับ สินค้า มือสอง จาก ญี่ปุ่น ทำไมถึงยังใหม่กริบเหมือนแกะกล่อง ที่ราคาถูกเพราะมาจากบ้านที่เจ้าของตายแล้วจริงไหม ?

ความนิยมซื้อของ มือสอง จากประเทศญี่ปุ่น บ้านเราเองก็ยังนิยมอยู่ไม่น้อย ด้วยราคาที่แสนจะคุ้มค่าเมื่อเทียบกับคุณภาพสินค้าที่จะได้รับมา ไม่ว่าจะเป็น หนังสือ เสื้อผ้า ของใช้ในบ้าน ของประดับตกแต่ง เฟอร์นิเจอร์ เครื่องดินตรี ไม้กอล์ฟ แทบจะทุกชิ้นเป็นของมือสองสภาพเกือบจะใหม่กริบ จนมองแทบไม่ออกว่าผ่านการใช้งานมาแล้ว

 

ที่ผ่านมา สื่อของญี่ปุ่นเองได้มีการเสนอข่าว สารคดี ที่มาของสินค้ามือสอง จนทำให้หลายคนตั้งคำถามขึ้นมาว่า จริงไหม ? ของ "มือสองญี่ปุ่น" ส่วนใหญ่มาจากบ้านคนที่เสียชีวิตแล้ว ตอบได้เลยว่าจริง แต่นั่นไม่ใช่ทั้งหมดของ สินค้ามือสอง เพราะของหลายชิ้นที่อยู่ในสภาพดี บางครั้ง มาจากของสะสมที่ไม่รู้จะเอาไปเก็บไว้ตรงไหนของบ้าน

 

ไขความลับ \"มือสอง ญี่ปุ่น\" มาจากบ้านคนตาย จริงไหม ทำไมสภาพยังใหม่กริบ

สินค้ามือสองญี่ป่นมาจากไหน ?

 

คนญี่ปุ่น ขึ้นชื่อเรื่องของการรักษาของอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นข้าวของเครื่องใช้อะไรก็ตาม คนญี่ปุ่นมักจะมีวิธีการเก็บรักษาแบบเฉพาะ ทำให้สิ่งของแทบจะทุกชิ้นอยู่ในสภาพดี และอีกพฤติกรรมที่สามารถสังเกตได้จากชาวญี่ปุ่นคือ ชอบเก็บ ตั้งแต่หนังสือ จาน ชาม ของใช้ในบ้าน ของจุกจิก ไปจนถึงของสะสมมีราคา พวกเขามักทุ่มเงินซื้อของเหล่านั้นมาราวกับเป็นงานอดิเรก หลังจากที่ทำงานมาอย่างเหน็ดเหนื่อยในสังคมทุนนิยม 

 

แต่ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่บ้าน มือสอง ส่วนใหญ่มาจากในตัวเมืองที่มีคนอาศัยอยู่มาก จากการกระจุกตัวของงาน ด้วยพื้นที่บ้านแคบ เก็บของไม่ได้เยอะ บางคนจำเป็นต้องเลือกของที่จำเป็นจะเก็บเอาไว้ และบางอย่างที่ต้องเอาออกไป แต่จะทิ้งก็ไม่คุ้ม ไม่ใช่เพราะราคาของที่เสียมา แต่ค่าจัดการขยะชิ้นใหญ่ๆ อย่างเฟอร์นิเจอร์ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้า บางครั้งก็ไม่คุ้มค่าเท่ากับการเอาไปปล่อยต่อในร้านมือสอง ไม่ต้องเสียค่าจัดการขยะ ได้พื้นที่บ้านกลับมา แถมยังได้เงินเล็กๆ น้อยๆ เพิ่มอีกด้วย

 

วัฒนธรรมการขายของมือสอง กลายเป็นที่นิยมในสังคมญี่ปุ่น ทำให้เป็นเหตุผลที่ตอบคำถามได้ว่า ทำไมคนญี่ปุ่นถึงถนอมของ เพราะถ้านำของไปปล่อยต่อมือสองด้วยสภาพไม่ดี ก็อาจจะไม่ได้ราคา หรืออาจจะไม่ถูกขายต่อเป็นของมือสองเลยด้วยซ้ำ

 

ไขความลับ \"มือสอง ญี่ปุ่น\" มาจากบ้านคนตาย จริงไหม ทำไมสภาพยังใหม่กริบ

 

มือสอง ญี่ปุ่น มาจากบ้านคนเสียชีวิต ?

 

ที่ ญี่ปุ่น มีธุรกิจที่ชื่อว่า “นักเคลียร์ของ” ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทกว่า 100,000 แห่งที่มีใบอนุญาตในการทำธุรกิจนี้ 

 

นักเคลียร์ของ มีความสำคัญมากกับคนที่ต้องการ ทำบ้านให้โล่ง ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของบ้าน ที่กำลังหาผู้เช่ารายใหม่ หรือเจ้าของบ้าน ที่กำลังหาเจ้าของใหม่ หลังจากที่เจ้าของเดิมลาโลกไปแล้ว 

 

ค่าบริการของ นักคลียร์ของ จะอยู่ราวๆ 60,000-100,000 บาทต่อวัน ซึ่งไม่ใช่ราคาที่แพงเกินจะจ่ายไหว เพราะในการเคลียร์ของ 1 ครั้ง บริษัทจะมีพนักงานเข้าทำงานมากกว่า 1 คนอยู่แล้ว 

 

สาเหตุที่เจ้าของบ้านไม่เคลียร์ของเอง หรือจำเป็นต้องจ้างนักเคลียร์ของก็คือ บางครั้งบ้านที่ต้องเคลียร์นั้นเป็นบ้านของคนที่ล่วงลับไปแล้ว และของที่ถูกเคลียร์ออกมา หลายชิ้น ไม่ได้ถูกนำไปทิ้ง แต่นำไปเข้าตลาดสินค้ามือสองนั่นเอง 

 

แต่การเคลียร์ของในบ้านของผู้ล่วงลับ ไม่ใช่ทั้งหมดของหน้าที่นักเคลียร์ของ ค่าทิ้งขยะของญี่ปุ่นมีราคาสูง ยิ่งถ้าเป็นของชิ้นใหญ่ๆ และถ้าจะทิ้งขยะ ก็ต้องแยกขยะอีกที งานพวกนี้รวมๆ ถ้าทำเองก็เสียเวลามาก ดังนั้นเขาเลยจ้างเหล่า “นักเคลียร์ของ” ทำให้ เพื่อตัดปัญหา

 

ที่มาของมือสอง ส่วนหนึ่งก็เลยจะมาจาก “นักเคลียร์บ้าน” ที่ได้ของทั้งหมดมาแบบฟรีๆ จากบ้านของคนที่ต้องการทิ้งสิ่งของสภาพดีเหล่านั้น

 

พ้อยท์สำคัญอีกหนึ่งจุดอยู่ตรงนี้ คือ ของที่นักเคลียร์บ้านได้มานั้น เป็น “ของฟรี” พวกเขาก็เลยสามารถเอามาขายในราคาที่ถูกกว่าตลาดมากๆ ได้ ส่วนของที่จำเป็นต้องทิ้งจริงๆ ก็จะถูกเอาไปจัดการอย่างถูกวิธีด้วยนั่นเอง

 

ไขความลับ \"มือสอง ญี่ปุ่น\" มาจากบ้านคนตาย จริงไหม ทำไมสภาพยังใหม่กริบ

 

ของมือสองญี่ปุ่น ขายในไทยที่เดียวหรือเปล่า ?

 

ไม่ใช่แค่ที่ไทยหรอกนะ ที่จะรับของมือสองจากญี่ปุ่นมาขายกันเป็นโกดัง ในประเทศอื่นๆ อย่าง เวียดนาม มาเลเซีย อินโด ก็มีเยอะไม่แพ้กัน 

 

ส่วนสาเหตุที่ทำไมของญี่ปุ่นมือสองถึงกระจายไปทั่วเอเชีย ก็คงจะเป็นเพราะวัฒนธรรมการใช้ของที่ไม่ต่างกันมาก ราคาจับต้องได้มากกว่าสินค้ามือสองที่มาจากยุโรป แถมยังมีสภาพดีเหมาะกับการเอามาใช้งานต่อ 

 

เพราะฉะนั้นแล้ว ไว้ใจได้เลยว่า ของมือสอง จากญี่ปุ่น ไม่ได้มาจากบ้านคนที่ล่วงลับไปแล้ว (ส่วนใหญ่น่ะนะ) ไม่ใช่ของโจรอย่างแน่นอน และที่สำคัญ การใช้ของมือสองก็เป็นส่วนหนึ่งของ การประหยัดทั้งทรัพยากรเราเองและทรัพยากรโลกซะอีก ช่วยส่งเสริมการ reuse ระดับโลกเลยด้วยซ้ำ

 

อ้างอิง 1