ไลฟ์สไตล์

อนุสรณ์สถาน จิตวิญญาณ "สืบ นาคะเสถียร" วีรบุรุษแห่งผืนป่าห้วยขาแข้ง

01 ก.ย. 2567

1 กันยายนของทุกปี เวียนมาบรรจบอีกครั้ง 34 ปี รำลึก "สืบ นาคะเสถียร" เปิดที่มา อนุสรณ์สถาน จิตวิญญาณ สืบ นาคะเสถียร  สถานที่ซึ่งสร้างเพื่อระลึกถึงคุณงาม ความดี ความเสียสละของอดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

“อนุสรณ์สถาน จิตวิญญาณ สืบ นาคะเสถียร” สถานที่ซึ่งสร้างเพื่อระลึกถึงคุณงาม ความดี ความเสียสละของอดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง  ผู้ทุ่มเททั้งกาย วาจา ใจ ในการปกป้องผืนป่าและชีวิตสัตว์ป่า เพื่อหวังปลุกจิตสำนึกของคนไทยให้เห็น ความสำคัญของการอนุรักษ์ผืนป่าที่เป็นของทุกคนตราบจนชั่วลูกชั่วหลาน

 

อนุสรณ์สถาน จิตวิญญาณ \"สืบ นาคะเสถียร\" วีรบุรุษแห่งผืนป่าห้วยขาแข้ง

 

“สืบ นาคะเสถียร” อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ผู้ที่ทุ่มเทแรงกายและใจเพื่อปกป้องผืนป่า บ้านหลังใหญ่ของเหล่าสัตว์ป่า แม้เป็นระยะเวลา 8 เดือน ในฐานะหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์ฯ แต่ก็ได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามอย่างที่สุดของคน ๆ หนึ่งในการปกป้องผืนป่าแห่งนี้ หลังการจากไปของสืบ ในวันที่ 1 กันยายน 2533 ได้ปลุกให้คนในประเทศหันมาสนใจและให้ความสำคัญกับการรักษาทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่ามากขึ้น

 

อนุสรณ์สถาน จิตวิญญาณ \"สืบ นาคะเสถียร\" วีรบุรุษแห่งผืนป่าห้วยขาแข้ง

อนุสรณ์สถาน สืบ นาคะเสถียร สร้างขึ้น ในปี พ.ศ. 2534 ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี และแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2536 โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จเป็นประธานฯ ในพิธีเปิดอนุสรณ์สถานฯ เพื่อระลึกถึงการสละชีวิตของสืบ นาคะเสถียร และสานต่อเจตนารมณ์อันแน่วแน่ในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า อนุสรณ์สถานได้รับการออกแบบไม่ให้ไปรบกวนธรรมชาติ ประกอบไปด้วยอาคารเอนกประสงค์ โดยมีทางเดินเชื่อมไปยังอนุสาวรีย์และบ้านพักที่สืบได้สละชีวิต ซึ่งแฝงไปด้วยความหมายให้ผู้มาเยือนได้ขบคิด

 

อนุสรณ์สถาน จิตวิญญาณ \"สืบ นาคะเสถียร\" วีรบุรุษแห่งผืนป่าห้วยขาแข้ง

 

 

ตัวอาคาร ถูกออกแบบให้มีลักษณะเปิดโล่งให้ลมสามารถพัดผ่านได้ ไม่บดบังทิวทัศน์ของภูเขาด้านหลัง หากมองจากด้านหน้าบริเวณภายนอกไปยังตัวอาคารจะเห็นเป็นเนินดิน รอบ ๆ ปลูกด้วยหญ้าแฝก ประกอบด้วยรายละเอียดที่สถาปนิกได้ใส่ความหมายลงไปในแต่ละสิ่งก่อสร้าง ทางเข้ามีด้วยกัน 2 เส้นทาง โดยต้องเดินผ่านเนินดิน หากเข้ามาจากทางเข้าหลักด้านหน้าอาคาร เดินตรงมาฝั่งขวาจะเป็นลานกิจกรรมและที่นั่งรูปครึ่งวงกลม ฝั่งซ้าย จะเป็นห้องประชุมที่เปิดโล่งมีการตกแต่งที่เน้นให้เห็นถึงโครงสร้างของวัสดุที่ใช้ เช่น ตกแต่งด้วยหิน ปูนเปลือย

การเผยให้เห็นโครงสร้างเหล็ก แสดงให้เห็นถึงสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นนั้น ทำอย่างไรก็ไม่อาจสวยงาม ได้เท่ากับสิ่งที่ธรรมชาติเป็นผู้สร้าง ส่วนทางเข้ารองจะมีแท่นเหล็กวางพาดไว้เหนือศีรษะ เพื่อให้ผู้มาเยือนก้มก่อนเดินเข้าอนุสรณ์สถาน เป็นการแสดงความเคารพต่อสถานที่แห่งนี้

 

อนุสรณ์สถาน จิตวิญญาณ \"สืบ นาคะเสถียร\" วีรบุรุษแห่งผืนป่าห้วยขาแข้ง

 

มีการตกแต่งด้วยสถาปัตยกรรม ลักษณะเป็นท่อนไม้เล็ก ๆ หลาย ๆ ท่อนรวมกันเป็นเสาสี่ต้นเพื่อรองรับแท่นหินขนาดใหญ่ เช่นกันกับงานอนุรักษ์ที่ต้องอาศัยกำลังกายและใจจากคนเล็ก ๆ ในการรับผิดชอบงานที่หนัก ยังมีสระน้ำเล็ก ๆ อยู่ด้านหน้าและด้านข้างของอาคาร เพื่อบ่งบอกถึงสายน้ำเป็นส่วนที่เชื่อมระหว่างป่ากับเมือง เข้าด้วยกัน

หากมองโดยภาพรวมของตัวอาคารแล้วอาจทำให้รู้สึกเหมือนยังสร้างไม่เสร็จ นั่นเพราะผู้ออกแบบต้องการจะสื่อถึงงานอนุรักษ์ที่ไม่อาจทำให้เสร็จสิ้นหรือสิ้นสุดได้ ตราบใดที่ยังมีป่าไม้และสัตว์ป่าต้องดูแล เป็นงานที่ไม่มีสูตรสำเร็จในการปฏิบัติงาน และปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลา นอกจากนี้บริเวณอาคารได้รับการออกแบบเพื่อไม่ให้รบกวนธรรมชาติโดยการสร้างเนินดินรอบอาคาร นั่นจึงทำให้เสียงที่เกิดขึ้นในบริเวณอาคารและลานกิจกรรมจะไม่ออกไปรบกวนสัตว์ป่าภายนอก

 

อนุสรณ์สถาน จิตวิญญาณ \"สืบ นาคะเสถียร\" วีรบุรุษแห่งผืนป่าห้วยขาแข้ง

 

ทางเดิน ออกแบบเป็นรูปกลีบกุหลาบ โดยเปรียบเสมือนเส้นทางงานอนุรักษ์จะโรยด้วยกลีบกุหลาบภายหลังจากที่ สืบได้สละชีวิต แต่กระนั้นทางเดินหินรูปกุหลาบที่ขรุขระนี้ยังต้องระมัดระวังในการก้าวเดิน มิฉะนั้นจะสะดุดล้มได้ เหมือนงานด้านอนุรักษ์ที่จะต้องทำอย่างระมัดระวัง นอกจากนี้เส้นทางเดินรูปกลีบกุหลาบ ที่เชื่อมจากอนุสาวรีย์ไปยังบ้านพักมีลักษณะเป็นบันไดทอดยาวจำนวน 8 ขั้น สื่อถึงระยะเวลาที่คุณสืบได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเป็นเวลา 8 เดือน

 

อนุสรณ์สถาน จิตวิญญาณ \"สืบ นาคะเสถียร\" วีรบุรุษแห่งผืนป่าห้วยขาแข้ง

 

อนุสาวรีย์สืบ ตั้งอยู่ท่ามกลางป่า ห้วย เขา และสัตว์ป่า ที่สืบตั้งใจรักษาไว้ ได้ถูกปั้นให้อยู่ในอิริยาบถที่กำลังก้าวเดิน หันหน้าไปยังผืนป่าตะวันตกที่เป็นบ้านของสัตว์ป่า มือซ้ายถือสมุด มือขวาถือปากกา แบกเป้และเครื่องนอน สวมใส่ชุดลุยป่า ที่คุ้นตา สะพายกล้องถ่ายรูปและกล้องดูนก พร้อมกับผ้าขาวม้าคู่ใจ มีขนาดหนึ่งเท่าครึ่งของตัวจริง ซึ่งผู้ที่ได้ออกแบบปั้นคืออาจารย์เสวต เทศน์ธรรม อาจารย์คณะมัณฑนศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร เดิมอนุสาวรีย์ได้ถูกปั้นให้ตั้งอยู่บนแท่นหินเท่านั้น ต่อมาได้มีแนวคิดที่ต้องการจะรวมใจของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานรักษาป่าทั่วผืนป่าตะวันตก จึงได้มีการนำหินมาจากแต่ละพื้นที่มาวางรอบแท่นอนุสาวรีย์ ทำให้มีลักษณะเหมือนรูปปั้นยืนอยู่บนกองหินในปัจจุบัน

 

อนุสรณ์สถาน จิตวิญญาณ \"สืบ นาคะเสถียร\" วีรบุรุษแห่งผืนป่าห้วยขาแข้ง

อนุสรณ์สถานสืบ นาคะเสถียรแห่งนี้ ถูกใช้ในการจัดงานรำลึกถึงคุณสืบ ทุกวันที่ 1 กันยายน ของทุกปี โดยจะมีผู้คนจากทุกแห่งเข้ามาทำกิจกรรมจุดเทียนรำลึก ทำบุญตักบาตร และวางหรีดเพื่อรำลึกต่อการเสียสละเพื่อปกป้องผืนป่าและสัตว์ป่าของสืบ นาคะเสถียร โดยสามารถเข้าเยี่ยมชมอนุสรณ์สถานฯ ได้ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี

รำลึก 34 ปี การจากไปของ สืบ นาคะเสถียร นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่อุทิศชีวิตให้ผืนป่าและสรรพสัตว์ ผู้ผลักดันให้ทรัพยากรไทยดำรงอยู่เพื่อลูกหลานมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งตรงกับวันที่ 1 กันยายน ของทุกปี

 

อนุสรณ์สถาน จิตวิญญาณ \"สืบ นาคะเสถียร\" วีรบุรุษแห่งผืนป่าห้วยขาแข้ง

ที่มา : สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 นครสวรรค์ , มูลนิธิสืบนาคะเสถียร