ไลฟ์สไตล์

เทศกาลไหว้พระจันทร์ ประวัติ ความเป็นมา วันไหว้พระจันทร์ กับ ตำนาน ฉางเอ๋อ

เทศกาลไหว้พระจันทร์ ประวัติ ความเป็นมา วันไหว้พระจันทร์ กับ ตำนาน ฉางเอ๋อ

15 ก.ย. 2567

เทศกาลไหว้พระจันทร์ ประวัติ และ ความเป็นมาของวันไหว้พระจันทร์ ทำไมต้องไหว้พระจันทร์ กับตำนานรัก นางฉางเอ๋อ กำเนิดเทพธิดาแห่งดวงจันทร์

เทศกาลไหว้พระจันทร์ วันไหว้พระจันทร์ 2567 ตรงกับ วันอังคารที่ 17 กันยายน 2567 เทศกาลวันไหว้พระจันทร์ เป็นเทศกาลตามวัฒนธรรมจีนที่มีขึ้นในกลางฤดูใบไม้ร่วง เพื่อเฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยว จะมีขึ้นในคืนวันเพ็ญ เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติ 

 

เทศกาลไหว้พระจันทร์ ชาวจีน หรือแม้แต่ คนทยเชื้อสายจีน จะเฉลิมฉลองด้วยการไหว้ดวงจันทร์ในเวลากลางคืน กินขนมไหว้พระจันทร์ และชมพระจันทร์เต็มดวง เชื่อว่าพระจันทร์จะมีความสว่างไสวเป็นพิเศษในวันไหว้พระจันทร์

 

เทศกาลไหว้พระจันทร์ หรือในภาษาจีนเรียกว่า "จงชิวเจี๋ย" หรือ "ตงชิวโจ็ยะ" ในภาษาแต้จิ๋ว หมายถึง กึ่งกลางฤดูสารท ตรงกับวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ของปฏิทินจีนทุกปี   จึงเรียกกันว่าเทศกาล "ปาเย่ว์ปั้น" แปลว่า "กลางเดือนแปด" หรือ ปาเย่ว์เจี๋ย" หรือ "เทศกาลเดือนแปด"  วันไหว้พระจันทร์นี้ถือเป็นหนึ่งวันสำคัญประจำปีตามธรรมเนียมของชาวจีนอีกวันหนึ่ง ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันอังคารที่ 17 กันยายน 2567

ประวัติ วันไหว้ประจันทร์ 

 

วันไหว้พระจันทร์ มีประวัติอันยาวนาน เชื่อกันว่ามีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น ในสมัยนั้น ชาวจีนเชื่อว่าดวงจันทร์เป็นเทพธิดาแห่งดวงจันทร์ ซึ่งจะประทานความอุดมสมบูรณ์ให้กับชาวนา ชาวจีนจึงไหว้พระจันทร์เพื่อขอพรให้พืชผลอุดมสมบูรณ์

 

เทศกาลไหว้พระจันทร์ของทุกปี (วันที่ 15 เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติของจีน) ทุกๆ ครัวเรือนจะซื้อขนมไหว้พระจันทร์มาไหว้พระจันทร์ พร้อมกับการชมพระจันทร์จนกลายเป็นประเพณีของจีนตลอดมา

 

สำหรับประเพณีรับประทานขนมไหว้พระจันทร์ในวันไหว้พระจันทร์นั้น เกิดขึ้นเมื่อสมัยมองโกลเข้ามาปกครองแผ่นดินจีน เมื่อชาวมองโกลกดขี่ข่มเหงและทำร้ายชาวจีนอย่างโหดเหี้ยม และเพื่อควบคุมดูแลชาวจีนอย่างใกล้ชิด ชาวมองโกลจึงส่งทหารของตนไปประจำอยู่ในบ้านของชาวจีนครอบครัวละ 1 คน เป็นอันว่าชาวจีนทุกๆ ครัวเรือนต่างต้องเลี้ยงดูทหารมองโกล 1 คน ทหารมองโกลเหล่านี้ยังก่อกรรมทำชั่วไปหมด

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

ทำให้ชาวจีนขุ่นเคืองใจเป็นอย่างยิ่ง ต่อมาท่านหลิวปั๋วเวิน คิดได้วิธีหนึ่ง คือ ให้นำกระดาษเขียนข้อความ แล้วสอดไส้ไว้ในขนม เรียกร้องให้ชาวจีนทุกคนลงมือสังหารทหารมองโกลที่ประจำอยู่ในบ้านของตน อย่างพร้อมเพรียงกันในวันเพ็ญเดือนแปด ทั้งนี้เพื่อให้ชาวจีนที่ไปซื้อขนมมารับประทานกัน ต่างได้อ่านข้อความดังกล่าวและช่วยกันกระจายข่าวนี้ออกไป เพื่อก่อการปฏิวัติโดยพร้อมเพรียงกัน ณ วันเพ็ญเดือนแปด ทำให้สามารถโค่นล้มอำนาจการปกครองของมองโกลในที่สุด

 

เพื่อเป็นการฉลอง และรำลึกการกอบกู้แผ่นดินที่ประสบความสำเร็จ ประเพณีรับประทานขนมไหว้พระจันทร์ในวันเทศกาลดังกล่าวจึงมีการสืบทอดกันตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าแห่งหนใดที่มีชาวจีนเดินทางไปถึงก็จะพาประเพณีรับประทานขนมไหว้พระจันทร์ ไปด้วย สำหรับขนมไหว้พระจันทร์ที่แพร่หลายในไทยนั้น เป็นแบบของกวางตุ้งโดยส่วนใหญ่ หลายปีที่ผ่านมา ขนมไหว้พระจันทร์ที่ผลิตในไทย ไม่ว่าด้านคุณภาพ รสชาติ และการบรรจุล้วนมีระดับที่สูงขึ้น 

 

ตำนานฉางเอ๋อเหาะเหินสู่ดวงจันทร์ : กำเนิดเทพธิดาแห่งดวงจันทร์

 

นอกจากการเฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยวแล้ว วันไหว้พระจันทร์ก็เช่นเดียวกับเทศกาลจีนอื่นๆที่มักมีตำนานอันน่าทึ่งเกี่ยวกับเหล่าเทพเจ้าบนท้องฟ้า โดยที่โด่งดังที่สุดคงหนีไม่พ้นตำนาน "ฉางเอ๋อเหาะเหินสู่ดวงจันทร์" (嫦娥奔月 cháng'é bènyuè) ของคู่รัก ฉางเอ๋อ (嫦娥 cháng'é) และ โฮ่วอี้ (后羿 hòuyì) ที่เล่าว่า...

 

ในครั้งอดีตกาล บนท้องฟ้ามีดวงอาทิตย์อยู่ 10 ดวง ทำให้โลกร้อนระอุ พืชพรรณธัญญาหารไม่เจริญงอกงาม ผู้คนทุกข์ยากแสนสาหัส “โฮ่วอี้” นักยิงธนูฝีมือดี จึงใช้ลูกธนูเพียงดอกเดียวยิงเข้าใส่ดวงอาทิตย์ 9 ดวงจนเหลือเพียงดวงเดียว ทำให้เขากลายเป็นวีรบุรุษและได้รับรางวัลเป็นยาอายุวัฒนะที่ดื่มแล้วทำให้กลายเป็นเซียนและมีชีวิตอมตะจากเจ้าแม่ซีหวังหมู่ (西王母 xī wángmǔ) แต่โฮ่วอี้กลับไม่ยอมดื่มและขอให้ "ฉางเอ๋อ" ผู้เป็นภรรยาเก็บรักษาไว้ เพราะเขาไม่ต้องการมีชีวิตอมตะหากปราศจากฉางเอ๋ออยู่เคียงข้าง

 

วันหนึ่งกลางฤดูใบไม้ร่วงขณะที่โฮ่วอี้ออกไปล่าสัตว์ ลูกศิษย์คนหนึ่งนาม "เฝิงเหมิง" (逢蒙 féngméng บ้างก็เรียก "เผิงเหมิง") ได้บังคับขู่เข็ญให้ฉางเอ๋อมอบยาอายุวัฒนะให้ ฉางเอ๋อไม่ยินยอมและตัดสินใจดื่มเสียเอง หลังจากดื่มร่างของนางได้ลอยขึ้นไปบนท้องฟ้า ด้วยความอาลัยรักต่อโฮ่วอี้ผู้เป็นสามี ฉางเอ๋อได้เหาะเหินไปสู่ดวงจันทร์ที่อยู่ใกล้กับโลกเพื่อที่มองลงมาแล้วจะยังได้เห็นสามี เมื่อโฮ่วอี้กลับจากล่าสัตว์และทราบเรื่องฉางเอ๋อจึงเสียใจมาก เขาแหงนมองดวงจันทร์พร้อมร้องเรียกภรรยาและได้มองเห็นเงาคล้ายกับฉางเอ๋อปรากฏอยู่บนนั้น

 

และนี่ก็คือเรื่องราวระหว่างฉางเอ๋อกับโฮ่วอี้ ก่อนที่ฉางเอ๋อจะกลายเป็นเทพธิดาแห่งดวงจันทร์ จะเห็นว่าในตำนานนี้โฮ่วอี้มีสถานะเป็น "วีรบุรุษ" ที่ช่วยชาวโลกไว้และถูกทรยศจากลูกศิษย์ที่หวังชิงยาอายุวัฒนะ แต่ก็มีอีกเวอร์ชั่นหนึ่งที่โฮ่วอี้ได้กลายมาเป็น "ผู้ร้าย" เสียเอง เรื่องราวจะเป็นอย่างไรเรามาติดตามไปพร้อมๆกันนะคะ

 

ตำนานเวอร์ชั่นนี้เล่าว่า หลังจากโฮ่วอี้นำความผาสุกมาสู่ประชาชนด้วยการยิงธนูใส่ดวงอาทิตย์จนเหลือเพียงดวงเดียวก็ได้รับการสถาปนาให้เป็นกษัตริย์ ทว่า โฮ่วอี้กลับเป็นกษัตริย์ที่หลงมัวเมาในอำนาจและสุรานารี เข่นฆ่าผู้คนตามอำเภอใจ โฮ่วอี้ซึ่งรู้ตัวว่าตนสร้างความโกรธแค้นแก่ราษฎรจึงเดินทางไปยอดเขาคุนหลุนเพื่อหวังขอยาอายุวัฒนะจากเจ้าแม่ซีหวังหมู่ ทว่า ฉางเอ๋อ ผู้เป็นมเหสีกลัวว่าถ้าโฮ่วอี้มีอายุยืนยาวจะยิ่งนำพาความเดือดร้อนมาสู่ราษฎรจึงตัดสินใจขโมยยาอายุวัฒนะมาดื่มเสียเอง หลังจากดื่มเข้าไปร่างของฉางเอ๋อจึงลอยขึ้นสู่ดวงจันทร์ นับแต่นั้นมาบนดวงจันทร์ก็ปรากฏร่างของเทพธิดาที่เชื่อกันว่าเป็นฉางเอ๋อ ทุกวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ชาวบ้านจึงจัดพิธีไหว้ดวงจันทร์ เพื่อแสดงความเคารพต่อฉางเอ๋อที่ช่วยปกปักรักษาให้ชาวบ้านอยู่เย็นเป็นสุข