เปิดข้อควรรู้-ข้อห้าม "สมรสเท่าเทียม" สิทธิทางกฎหมายที่ "คู่สมรส" จะได้รับ
เปิดข้อควรรู้ กฎหมาย สมรสเท่าเทียม สิทธิทางกฎหมายที่ "คู่สมรส" จะได้รับ และข้อห้ามของการสมรสเท่าเทียม สามารถจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมได้ตั้งแต่วันไหน
สมรสเท่าเทียม เป็นกฎหมายซึ่งมีเนื้อหารับรอง การสมรสระหว่าง "บุคคล" โดยไม่จำกัดเพียง "ชาย-หญิง" ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ 120 วัน หลังการประกาศราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจะตรงกับวันที่ 22 มกราคม 2568 เป็นต้นไป กฎหมายแพ่งใหม่จึงจะมีผลใช้บังคับ สามารถไปจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายแพ่งใหม่ที่รับรองสิทธิสมรสเท่าเทียม
กฎหมายสมรสเท่าเทียม มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขใจความหลักของการสมรสจากชาย-หญิง เป็น บุคคล เปลี่ยนถ้อยคำที่บ่งชี้เพศอย่างคำว่า สามี-ภริยา เป็น คู่สมรส ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) ฉบับแก้ไขใหม่เพื่อรับรองสิทธิสมรสเท่าเทียม
นอกจากนี้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แก้ไขใหม่ สมรสเท่าเทียม ยังได้แก้ไขอายุขั้นต่ำสำหรับการหมั้นและการสมรส จาก 17 ปีบริบูรณ์ เป็น 18 ปีบริบูรณ์ และกำหนดรับรองสิทธิของคู่สมรสที่จดทะเบียนตามกฎหมายใหม่ มีสิทธิตามกฎหมายอื่นๆ ที่รับรองสิทธิของสามี-ภริยา ตามกฎหมายแพ่งเดิม
ข้อควรรู้ กฎหมายสมรสเท่าเทียม
เปลี่ยนอายุของคู่หมั้น คู่สมรส
- อายุขั้นต่ำสำหรับการหมั้นและการสมรส ต้องครบ 18 ปีบริบูรณ์
เปลี่ยนถ้อยคำที่บ่งชี้เพศ
- เปลี่ยนจากคำว่า สามี-ภริยา เป็นคำว่า "คู่สมรส"
- แก้ไขคำว่า ชาย-หญิง-สามี-ภริยา เป็นคำว่า บุคคล-ผู้หมั้น-ผู้รับหมั้น และคู่สมรส
สิทธิและความคุ้มครองทากฎหมายที่ คู่สมรส จะได้รับหลังการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม
- สิทธิประโยชน์และสวัสดิการจากรัฐในฐานะคู่สมรส เช่น รักษาพยาบาล, ประกันสังคม
- สิทธิจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส
- สิทธิเป็นผู้จัดการแทนในทางอาญาเช่นเดียวกับสามี-ภรรยา
- สิทธิรับมรดกหากอีกฝ่ายเสียชีวิต
- สิทธิรับบุตรบุญธรรม
- สิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม
- สิทธิเซ็นยินยอมให้รักษาพยาบาลอีกฝ่าย
- สิทธิจัดการศพ
- สิทธิรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้
- ให้บุตรบุญธรรมใช้นามสกุลคู่สมรสได้ โดยคู่สมรสจะต้องมีอายุแก่กว่าบุตรบุญธรรมอย่างน้อย 15 ปี
- สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี
สำหรับข้อห้ามเกี่ยวกับการสมรส ยังคงไว้ตามเดิม คือ
- บุคคลวิกลจริตหรือบุคคลที่ศาลสั่งเป็นคนไร้ความสามารถ ไม่สามารถสมรสได้ (มาตรา 1449)
- ห้ามสมรสกับญาติสืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไปหรือลงมา พี่น้องร่วมบิดามารดา หรือร่วมแต่บิดาหรือมารดา ความเป็นญาตินี้คำนึงตามสายโลหิต ไม่คำนึงว่าจะเป็นญาติโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ (มาตรา 1450)
- ห้ามผู้รับบุตรบุญธรรมสมรสกับบุตรบุญธรรม (มาตรา 1451) หากผู้รับบุตรบุญธรรมสมรสกับบุตรบุญธรรม การรับบุตรบุญธรรมย่อมเป็นอันยกเลิกไป (มาตรา 1498/32)
- ห้ามบุคคลสมรสขณะที่มีคู่สมรสอยู่แล้ว (ห้ามสมรสซ้อน) (มาตรา 1452)