
แยกให้ออก! จุดสังเกต "ขายตรง VS แชร์ลูกโซ่" ต่างนิดเดียวรู้ไว้ไม่เป็นเหยื่อ
ทำความเข้าใจ ธุรกิจขายตรง กับ แชร์ลูกโซ่ แตกต่างกันอย่างไร พร้อมวิธีสังเกตุ เจอแบบนี้ ธุรกิจแอบแฝง แชร์ลูกโซ่ชัวร์
เหยื่อ แชร์ลูกโซ่ กลธุรกิจที่แอบแฝงมาใน ธุรกิจขายตรง ได้อย่างแยบยล ทำคนไทยหลงกลมานักต่อนัก ตัวอย่างมีให้เห็น ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น คดียูฟัน (Ufund), คดีแม่ชม้อย คดี FOREX-3D เป็นต้น แต่ยังโดนหลอกซ้ำซาก จากหลายวลีชวนฝันของ ธุรกิจขายตรงที่แอบแฝงมาด้วยวิธีการของ "แชร์ลูกโซ่" หากไม่เจาะลึกรายละเอียด หรือสังเกตจุดผิดปกติของธุรกิจเหล่านั้น ก็อาจหลงกลเป็นเหยื่อได้ง่าย เพียงเพราะคำชวนฝัน "ลงทุนง่าย รวยไว ได้เงินเยอะ"
ขายตรงคืออะไร
ขายตรง (Direct Selling) หมายถึง การทำตลาดสินค้าหรือบริการในลักษณะของการนำเสนอขายต่อผู้บริโภคโดยตรง ณ ที่อยู่อาศัยหรือสถานที่ทำงานของผู้บริโภคหรือของผู้อื่น หรือสถานที่อื่นที่มิใช่สถานที่ประกอบการค้าเป็นปกติธุระ โดยผ่านตัวแทนขายตรงหรือผู้จำหน่ายอิสระชั้นเดียวหรือหลายชั้น แต่ไม่รวมถึงนิติกรรมตามที่กำหนดในกฎกระทรวง รูปแบบของการขายตรงมีอยู่ 2 แบบ คือ การขายตรงแบบชั้นเดียว และ การขายตรงแบบหลายชั้น หรือ ธุรกิจเครือข่าย
- การขายตรงแบบชั้นเดียว
ขายตรงแบบชั้นเดียว คือการที่มีตัวแทนจำหน่ายแค่คนเดียว ทำการเดินขายสินค้าตามสถานที่ต่างๆ ไม่เหมือนหลายชั้นที่เราแนะนำมาสมัครต่อเราและเป็นเครือข่ายของเรา
- การขายตรงแบบหลายชั้น
ขายตรงแบบหลายชั้น หรือ ธุรกิจเครือข่าย (Network Marketing) เป็นการตลาดต่อๆกันเป็นเครือข่ายหลายชั้น ผู้ขายเป็นนักขายอิสระ ไม่ใช่ลูกจ้างของบริษัท เรียกว่าเป็น นักธุรกิจอิสระ นักธุรกิจเครือข่าย สมาชิก หรือ ทีมเมมเบอร์ มีหลายแบบขึ้นอยู่กับแผนการตลาดได้แก่ แบบไบนารี่ แบบยูนิเลเวล แบบไตรเซ็บ แบบเมตริกซ์ แบบดูอัลลีเนียร์ และแบบผสม โดยนักธุรกิจเครือข่าย สามารถสร้างรายได้จากการทำงาน 3 วิธีรวมกัน คือ
รายได้เริ่มต้น ผลกำไรจากการขายปลีก ซึ่งเป็นผลต่างระหว่างต้นทุนสินค้าที่ซื้อมาจากบริษัทกับราคาขายปลีกที่ได้ขายสินค้าหรือบริการให้กับผู้บริโภค
รายได้สร้างทีม คอมมิชชั่นหรือส่วนลดตามระดับยอดขายของสินค้าหรือบริการที่มีการสั่งซื้อ (เพื่อบริโภคหรือเพื่อขายให้กับผู้ขายคนอื่นต่อๆไป) จากผู้ขายที่ได้ชักชวนเข้ามาสมัครร่วมธุรกิจในทีมขาย หรือที่เรียกว่า "สปอนเซอร์" ในระดับเป็นชั้นต่อๆไป
รายได้ผู้นำ คอมมิสชัน หรือส่วนลด ผู้นำ เช่นเปอร์เซนต์จากยอดขายกลุ่ม รางวัลเงินสดจ่ายครั้งเดียว กองทุนต่าง ๆ เช่นกองทุนท่องเที่ยว หรือกองทุนรถยนต์ เป็นต้น
แชร์ลูกโซ่คืออะไร
แชร์ลูกโซ่ หรือ (Pyramid Scheme) คือ วิธีการหลอกลวงของมิจฉาชีพประเภทหนึ่ง ที่แอบแฝงมาในรูปแบบที่คล้ายกับธุรกิจขายตรง แต่จะอาศัยการโฆษณาชวนเชื่อให้เหยื่อหลงกล เสียค่าสมัครเป็นสมาชิกในราคาสูง เน้นการระดมทุน เน้นการกักตุนสินค้า ไม่รับประกันและไม่รับคืนสินค้า รายได้หลักมาจากการระดมทุนหรือใช้เงินซื้อตำแหน่ง เป็นธุรกิจระยะสั้น บริษัทไม่มีความมั่นคง
โดยแชร์ลูกโซ่ ถือว่า “ผิดกฎหมาย” เป็นความผิดตามกฎหมายการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน โทษจำคุกตั้งแต่ 5-10 ปี และปรับตั้งแต่ 5 แสน ถึง 1 ล้านบาท
ข้อสังเกตุ
- เน้นการสร้างเครือข่าย การชักชวนคนมาลงทุนมากกว่าการขายของ ได้รับผลตอบแทนหรือโบนัสจากการชวนคนมาเป็นสมาชิกโดยที่ธุรกิจไม่สามารถจับต้องได้ ไม่มีสินค้าและแผนธุรกิจที่แน่นอน
- มีการการันตีผลตอบแทนและให้ผลตอบแทนสูงในระยะเวลาอันสั้น รวมทั้งบอกผลตอบแทนเป็นตัวเลขที่แน่นอน ซึ่งธุรกิจทั่วไปไม่สามารถคาดเดาผลประกอบการล่วงหน้าได้
- กระตุ้นให้ตัดสินใจด้วยเทคนิคต่าง ๆ เช่น เปิดรับสมัครนักลงทุนเป็นวันสุดท้าย ใคร ๆ ก็ลงทุน หรือมีผู้มีชื่อเสียงร่วมลงทุนด้วย
ขายตรง VS แชร์ลูกโซ่ ต่างกันอย่างไร
- ธุรกิจขายตรง
1. ค่าสมัครเหสมาะสม และอาจมีเอกสารหรือสินค้าตัวอย่าง
2. มีการรับประกันสินค้า และรับซื้อคืนเมื่อนักขายตรงต้องการลาออก
3. ไม่มีนโยบายกักตุนสินค้าจำนวนมาก
4. แผนการจ่ายผลตอบแทนเป็นไปได้จริง
5. รายได้หลักมาจากการขายสินค้า ไม่ใช่การระดมเงินทุน
- แชร์ลูกโซ่
1. ค่าสมัครสูง เน้นการระดมทุน
2. เน้นการกักตุนสินค้า
3. สินค้าไม่มีคุณภาพ ไม่รับประกัน และไม่รับคืนสินค้า
4. รายได้หลักมาจากการระดมทุน หรือใข้เงินซื้อตำแหน่ง
5. เป็นธุรกิจระยะสั้น บริษัทไม่มีความมั่นคง
แชร์ลูกโซ่ ผิดกฎหมายอย่างไร ?
ธุรกิจการขายตรงแอบแฝงแบบ 'แชร์ลูกโซ่' ถือเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มีโทษจำคุกตั้งแต่ 5-10 ปี และปรับตั้งแต่ 500,000 - 1,000,000 บาท
หากพบเห็นหรือถูกชักชวนลงทุนที่สงสัยว่าจะเป็นแชร์ลูกโซ่ สามารถแจ้งเบาะแสไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
- ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร.1359
- กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) โทร.1202
- กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โทร.1441
- แจ้งความออนไลน์ได้ที่ เว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com
ข้อมูลจาก : สมาคมการขายตรงไทย - TDSA