ไลฟ์สไตล์

"โหมดมืด" ภัยเงียบจากหน้าจอ ใช้ผิดวิธีอาจกลายเป็น ทำลาย แทนการ ถนอมสายตา

"โหมดมืด" ภัยเงียบจากหน้าจอ ใช้ผิดวิธีอาจกลายเป็น ทำลาย แทนการ ถนอมสายตา

27 ต.ค. 2567

อันตรายจาก "โหมดมืด" ภัยเงียบบนหน้าจอมือถือ แพทย์เตือน ใช้ผิดวิธีอาจทำให้เกิดปัญหากับดวงตา มากกว่าการถนอมสายตา

"โหมดมืด" หลายคนคิดว่าโหมดนี้ บนหน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มีเอาไว้เพื่อถนอมสายตา ด้วยความเข้าใจว่าแสงจากหน้าจอจะน้อยลง แต่ในทางกลับกัน แพทย์บางท่านชี้ว่า โหมดมืดทำให้รูม่านตาขยายมากขึ้น ส่งผลให้แสงเข้าสู่ตามากขึ้น ซึ่งอาจทำให้กล้ามเนื้อตาบริเวณรอบดวงตาตึงเครียดและเพิ่มภาระของกล้ามเนื้อ 

 

นอกจากนี้ การจ้องมองอินเทอร์เฟซสีเข้มเป็นเวลานานแล้วเปลี่ยนไปสู่สภาพแวดล้อมที่สว่างขึ้นทันทีอาจทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะได้ จึงควรระมัดระวัง

สื่อไต้หวันรายงานว่า นายแพทย์ลู่ ต้าเหวิน ผู้อำนวยการแผนกจักษุ กล่าวว่า โหมดมืด ไม่ว่าจะเป็นบนหน้าจอมือถือ หรือ หน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ไม่ได้ช่วยปกป้องดวงตา กลับกัน โหมดมืด ทำให้แสงเข้าสู่ตามากขึ้น ซึ่งอาจทำให้กล้ามเนื้อตาบริเวณรอบดวงตาตึงเครียดอย่างมากและเป็นอันตรายต่อดวงตาได้ในระยะยาว

 

นายแพทย์ลู่ ต้าเหวิน อธิบายเพิ่มเติมว่า หากเราจ้องมองจอสีเข้มเป็นเวลานานหรืออยู่ในห้องมืด รูม่านตาจะขยายค้างไว้ตลอดเวลา เมื่อหน้าจอเปลี่ยนเป็นสีสว่างขึ้นหรือต้องย้ายไปสู่สภาพแวดล้อมที่สว่าง รูม่านตาจะหดตัวลงทันที สถานการณ์นี้มีผลโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้สูงอายุ และผู้ป่วยที่มีปัญหาทางระบบประสาท ซึ่งอาจรู้สึกเวียนหัว และเสี่ยงต่อการล้มจนเกิดการบาดเจ็บได้หากไม่ระมัดระวัง

การใช้สายตามากเกินไปหรือใช้กำลังสายตามากเกินไปอาจทำให้เกิดอาการตึงคอ ไหล่ และตาได้ หากมีภาวะสายตายาวร่วมด้วย กล้ามเนื้อรอบเบ้าตาจะตึงมากขึ้น ขณะเลื่อนหน้าจอโทรศัพท์ซึ่งมีการสลับสีพื้นหลังเข้มและสว่าง รูม่านตาจะต้องขยายและหดตัวตลอดเวลา ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะหรือไมเกรนได้เช่นกัน นายแพทย์ลู่ กล่าว

 

โหมดมืด หรือ Dark Mode เดิมทีถูกออกแบบมาให้ใช้งานสำหรับตอนกลางคืน เนื่องจากมีข้อดีคือ ช่วยถนอมสายตา ลดแสงสีฟ้า ลดอาการนอนหลับยากจากการใช้มือถือตอนกลางคืน แถมยังช่วยประหยัดแบตเตอรี่สำหรับมือถือที่เป็นหน้าจอแบบ OLED

 

อย่างไรก็ตามข้อเสียของการใช้ โหมดมืด ตลอดเวลา อาจทำให้รู้สึกเมื่อยล้าตาได้ โดยเฉพาะเวลาที่ต้องอ่านตัวหนังสือสีขาวบนพื้นสีดำ จากสายตาจะโฟกัสตัวหนังสือได้ไม่ชัดเท่ากับตัวหนังสือสีดำบนพื้นหลังสีขาวนั่นเอง
 

 

ข้อมูลจาก : ETTODAY