ไขข้อสงสัย! ขวดน้ำพลาสติก (PET) ใช้ซ้ำเสี่ยงก่อมะเร็งจริงหรือ?
ไขข้อสงสัย! ขวดพลาสติก (PET) ที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้ใช้เพียงครั้งเดียว แล้วจึงนำไปผ่านกระบวนการรีไซเคิลเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ หากนำกลับมาใช้ซ้ำหลายๆครั้งเสี่ยงก่อมะเร็งจริงหรือ?
รู้หรือไม่ว่า ขวดน้ำพลาสติกใสที่เป็นภาชนะใส่น้ำดื่มนั้น ทำมาจากพลาสติกที่ชื่อว่า Polyethylene terephthalate หรือเรียกสั้น ๆ ว่า PET ซึ่งพลาสติกชนิดนี้มีอยู่ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีเนื้อใส (A-PET) และกลุ่มที่เป็นผลึกสีขาว (C-PET) ขวดบรรจุน้ำดื่มที่เป็นขวด PET นี้ถูกออกแบบมาเพื่อให้ใช้เพียงครั้งเดียว แล้วจึงนำไปผ่านกระบวนการรีไซเคิลเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ การนำขวดน้ำดื่ม PET มาใช้ซ้ำนั้นอาจจะทำให้ร่างกายได้รับอันตรายจากการปนเปื้อนจุลินทรีย์ที่มาจากการทำความสะอาดด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้องมากกว่า
ส่วนข้อสงสัยที่ว่าการใช้ซ้ำจะทำให้สารเคมีที่มีอยู่ในบรรจุภัณฑ์ปนเปื้อนเข้าไปในน้ำดื่มที่บรรจุอยู่นั้น จากงานวิจัยของนักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยไอดาโฮ (University of Idaho) ทําการตรวจวิเคราะห์สารเคมีที่แพร่กระจายออกมาจากขวดน้ำ PET พบว่ามีสารเคมี 4 ชนิด ซึ่งสารเคมีเหล่านี้จะแพร่กระจายออกมาในปริมาณที่มากขึ้นเมื่อขวดถูกนํามาใช้ซ้ำหลายครั้ง ซึ่งนั่นจะทำให้สารเคมีอยู่ในระดับที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงในการก่อมะเร็งได้
หนึ่งใน 4 ของสารเคมีที่พบคือ DEHA (di (2–ethylhexyl) adipate) เป็นสารพลาสติกไซเซอร์ ที่ช่วยให้พลาสติกมีความยืดหยุ่น รีดดึงได้ง่าย มักใช้ในพลาสติกหลายชนิด เช่น ฟิล์มห่ออาหาร สารชนิดนี้จะแพร่กระจายอยู่ในอาหารที่มีไขมันเป็นส่วนประกอบ เช่น ชีสหรือเนื้อสัตว์ แต่พบในปริมาณที่น้อย และเป็นสารที่ไม่ก่อมะเร็งในมนุษย์ แต่ในวงการพลาสติกและพอลิเมอร์ รวมถึง สมาคมพลาสติกสหรัฐอเมริกา (The America Plastics Council) ยืนยันว่าไม่มีการใช้สาร DEHA ในการผลิตขวด PET อีกทั้งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) ของสหรัฐอเมริกาก็ได้ออกมายืนยันว่ากระบวนการผลิตขวด PET และพลาสติก PET ไม่มีความเกี่ยวข้องกับสารอันตรายใดๆ
ดังนั้นสรุปได้ว่า สามารถนำ ขวดพลาสติก PET กลับมาใช้ซ้ำได้ ไม่ก่อให้เกิดมะเร็ง แต่ไม่ควรใช้ซ้ำหลาย ๆ ครั้งเนื่องจากอาจก่อให้เกิดการสะสมของเชื้อจุลินทรีย์ ถ้าจำเป็นต้องใช้ซ้ำ ก็ควรทำความสะอาดเพื่อลดการสะสมของเชื้อจุลินทรีย์ ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อร่างกาย เมื่อเห็นว่าขวด PET เริ่มขุ่น มีรอยขีดข่วน บุบหรือแตก ก็ไม่ควรนำมาใช้ซ้ำอีก เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดจากจุลินทรีย์ที่สะสมในรอยแตกของบรรจุภัณฑ์และส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้บริโภคได้