วันเพ็ญเดือนสิบสอง ทำไม! น้ำถึงนองเต็มตลิ่ง?
วันเพ็ญเดือนสิบสอง ทำไม! น้ำถึงนองเต็มตลิ่ง? ไขข้อสงสัย การที่มีน้ำมากจนเต็มตลิ่ง ในช่วงเทศกาลลอยกระทง เกิดขึ้นจากอะไร?
ในช่วงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี เทศกาลที่พวกเราชาวไทยมักต้องนึกถึงเลยก็คือ “เทศกาลวันลอยกระทง” นั่นเอง แล้วประโยคติดหูที่อยู่ในเพลงลอยกระทงที่เราได้ยินกันอยู่ทุกปีก็คือ “วันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำนองเต็มตลิ่ง” ทุกคนเคยสงสัยกันไหมว่า การที่มีน้ำมากจนเต็มตลิ่งในวันนี้ เกิดขึ้นจากอะไร
ประเพณีลอยกระทง ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตามปีไทย ซึ่งเป็นค่ำคืนที่พระจันทร์เต็มดวงในฤดูน้ำหลาก ระดับน้ำในแม่น้ำลำคลองสูงขึ้น ทะเลมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นและลดลงต่ำอย่างมากในช่วงวัน ซึ่งเกิดจากการที่ดวงจันทร์ โลกและดวงอาทิตย์ อยู่ในแนวเส้นตรง และมีแรงดึงดูดจากดวงจันทร์และดวงอาทิตย์เสริมกัน ทำให้น้ำทะเลของโลกด้านที่อยู่ใกล้กับดวงจันทร์เกิดน้ำขึ้นและด้านที่อยู่ตรงกันข้ามเกิดน้ำขึ้นเช่นกันแต่มีระดับน้อยกว่า โดยปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงขึ้น 15 ค่ำและแรม 15 ค่ำ ซึ่งเรียกกันว่า “น้ำเกิด”
ส่วนช่วงขึ้น 8 ค่ำ และแรม 8 ค่ำ ดวงจันทร์จะทำมุมตั้งฉากกับดวงอาทิตย์ เป็นช่วงเวลาที่มีระดับน้ำขึ้นลงน้อยสุด ซึ่งเรียกกันว่า “น้ำตาย” ตามปกติช่วงเวลาระหว่างน้ำขึ้น/น้ำลง จะใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมง 12 นาที ทำให้ระยะเวลาตั้งแต่น้ำขึ้นครั้งแรกจนถึงครั้งถัดไป ห่างกันประมาณ 12 ชั่วโมง 25 นาที แต่ที่ “เทศกาลลอยกระทง” จัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนั้น เป็นเพราะช่วงนี้เป็นช่วงที่มีน้ำหลาก ทำให้เหมาะกับกับการลอยกระทงนั่นเอง