ของ 7 สิ่ง ในห้องครัว ที่สกปรกมาก แต่หลายคนไม่รู้ แถมยังใช้อยู่ทุกวัน
เปิด ของ 7 อย่างในห้องครัว ผู้เชี่ยวชาญเผย สกปรกมาก เป็นแหล่งสะสมแบคทีเรีย แต่หลายคนไม่รู้ แถมยังใช้อยู่ทุกวัน
23 พ.ย. 2567 สื่อต่างประเทศ SOHA เผยแพร่บทความซึ่ง ผู้เชี่ยวชาญ ได้พูดถึง 7 จุดที่สกปรกที่สุดในครัว พร้อมคำแนะนำวิธีทำความสะอาดแต่ละจุด เพื่อลดปริมาณเชื้อโรคและลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย
1. อุปกรณ์ทำอาหาร
ไม่ว่าจะเป็น ที่ตีไข่ ที่เปิดกระป๋อง และที่ขูดผัก ล้วนเป็นอุปกรณ์ที่มีอยู่ในครัวของใครหลายคน แต่รู้หรือไม่ว่า สิ่งเหล่านี้ แฝงเชื้อโรคไว้โดยไม่รู้ตัว ดร.ชุน ถัง แพทย์ทั่วไปและผู้อำนวยการด้านการแพทย์แห่ง Pall Mall Medical กล่าวว่า อุปกรณ์หลักในครัว โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่มีส่วนประกอบหลายชิ้น เช่น ที่ตีไข่ อาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อแบคทีเรีย เช่น อีโคไล, ซาลโมเนลลา และลิสทีเรีย ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารได้
อุปกรณ์เหล่านี้ จำเป็นต้องทำความสะอาดทุกครั้งหลังใช้ ซอกเล็ก ๆ และรอยแยกของอุปกรณ์อาจสะสมเศษสิ่งสกปรกเล็กจิ๋วที่ตามองไม่เห็น แต่เราอาจเผลอปนเปื้อนในชา หม้อข้าว กระทะ หรืออาหารว่างอื่น ๆ ในแต่ละวันโดยไม่รู้ตัว
คำแนะนำ:
ใช้แปรงขัดทำความสะอาดที่ขูดผัก ล้างให้สะอาด และปล่อยให้แห้งเองแทนการใช้ผ้าเช็ด
สำหรับที่เปิดกระป๋อง ซึ่งหลายคนอาจไม่คิดว่าต้องล้าง ควรแช่ในน้ำร้อนผสมสบู่เหลวประมาณ 30 นาที จากนั้นขัดด้วยฟองน้ำ ล้างน้ำสะอาด และซับให้แห้งด้วยกระดาษทิชชู เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีคราบสกปรกตกค้าง
2. อุปกรณ์รับประทานอาหาร
อุปกรณ์บางประเภทอาจสะสมเชื้อโรคได้มากกว่าชนิดอื่น ๆ ดร.ถัง กล่าวว่า ตัวอย่างเช่น ช้อน ส้อม หรือตะเกียบที่มีลวดลายซับซ้อน อาจมีเศษอาหารติดค้างอยู่ในซอกเล็ก ๆ และเกิดการเน่าเสีย ซึ่งอาจทำให้เกิดเชื้อแบคทีเรียอันตราย เช่น ซาลโมเนลลา และ อีโคไล ได้
คำแนะนำ:
เชื้ออีโคไลบางสายพันธุ์สามารถทำลายเซลล์เม็ดเลือดแดงและนำไปสู่ภาวะไตวายได้
หากต้องซื้ออุปกรณ์ใหม่ ควรเลือกแบบที่มีดีไซน์เรียบง่ายและไม่มีซอกเล็ก ๆ เพื่อความปลอดภัยมากกว่า
3. เครื่องปั่นและหม้อทอดไร้น้ำมัน
ครั้งต่อไปที่จะปั่นน้ำผลไม้หรืออาหาร ควรทำความสะอาดเครื่องปั่นให้ทั่วถึง หลังการศึกษาของมูลนิธิสุขาภิบาลแห่งชาติพบว่าเครื่องปั่นเป็นอุปกรณ์ที่สะสมเชื้อโรคมากเป็นอันดับ 3 ในครัว โดยมีเชื้อแบคทีเรีย เช่น ซาลโมเนลลา, เชื้ออีโคไล, ยีสต์ และรา
วิธีทำความสะอาดเครื่องปั่น:
ดร.เอมิเลีย ปาเซียห์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ครอบครัว แนะนำว่า
- หลังใช้งาน เติมน้ำอุ่นครึ่งโถและหยดสบู่เหลวเล็กน้อย
- เปิดเครื่องปั่นด้วยความเร็วต่ำ 30-60 วินาทีเพื่อกำจัดเศษอาหาร
- ถอดชิ้นส่วนออกและล้างด้วยมือในน้ำสบู่อุ่น
- ใช้แปรงขนอ่อนหรือนำแปรงสีฟันเก่ามาทำความสะอาดรอบใบมีดและจุดที่เข้าถึงยาก
- ล้างน้ำสะอาดและผึ่งให้แห้ง
วิธีดูแลหม้อทอดไร้น้ำมัน:
ดร.ปาเซียห์ กล่าวว่า เชื้อโรคมักสะสมในตะแกรงใส่อาหาร เนื่องจากน้ำมันที่เหลืออาจเหม็นหืนและทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษ เช่น ปวดท้องหรือคลื่นไส้
- ทำความสะอาดหม้อหลังใช้งานทุกครั้งเมื่อเย็นสนิท
- แช่ตะแกรงและถาดรองในน้ำสบู่อุ่น และใช้แปรงขนอ่อนหรือฟองน้ำขัดคราบอาหารออก
- สำหรับด้านในหม้อ ใช้ผ้าชุบน้ำผสมสบู่เช็ดทำความสะอาด
- หากมีคราบมันฝังแน่น ใช้ส่วนผสมของน้ำส้มสายชู 1 ส่วนต่อน้ำ 3 ส่วน เพื่อขจัดคราบได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4. ขวดเกลือและพริกไทย
ลองนึกดูว่าสัมผัสขวดเครื่องปรุงเหล่านี้บ่อยแค่ไหนในแต่ละวัน ดร.ถัง กล่าวว่า “ขวดเหล่านี้อาจเป็นหนึ่งในสิ่งที่สะสมเชื้อโรคมากที่สุดในครัวของคุณ”
ดร.ปาเซียห์ เสริมว่า “เชื้อแบคทีเรียอย่างสแตปฟิโลคอคคัสและไวรัสจากการเตรียมเนื้อดิบ หรือจากคนป่วย สามารถแพร่กระจายมายังขวดเหล่านี้ได้ง่าย โดยเฉพาะเมื่อมีการส่งต่อกันบนโต๊ะอาหาร”
เพื่อความปลอดภัย ควรทำความสะอาดขวดเกลือและพริกไทยอย่างสม่ำเสมอด้วยผ้าเช็ดฆ่าเชื้อ โดยให้เน้นบริเวณส่วนบนของขวดที่ถูกสัมผัสบ่อยที่สุด
5. แก้วและถ้วย
หลายคนอาจคิดว่าการล้างถ้วยชาแบบลวก ๆ เพียงพอแล้ว แต่ควรคิดใหม่อีกครั้ง ดร.ปาเซียห์ อธิบายว่า “ปัญหาอยู่ที่ชั้นฟิล์มชีวภาพ ซึ่งก็คือชั้นของแบคทีเรียที่สามารถเติบโตในถ้วยได้ โดยเฉพาะเมื่อถ้วยใส่ของเหลวอย่างกาแฟหรือนม”
แบคทีเรียอย่าง สแตฟิโลคอคคัส และอีโคไล สามารถคงอยู่บนพื้นผิวได้นานหลายวัน ดังนั้น ควรใช้ น้ำร้อน สบู่ และฟองน้ำหรือแปรงสะอาด ล้างให้สะอาด และผึ่งให้แห้งเพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่กระจายเชื้อโรคจากผ้าเช็ด
ข้อควรระวัง:
อย่าเก็บถ้วยหรือจานที่แตกร้าวไว้ใช้งานต่อ แม้ว่าจะมีคุณค่าทางจิตใจ ดร.ถัง กล่าวว่า “เมื่อเครื่องเซรามิกแตกหรือร้าว พื้นผิวจะไม่เรียบเนียนและอาจดูดซับเชื้อโรคเหมือนฟองน้ำ” เพื่อความปลอดภัย ควรทิ้งแก้วและจานที่ชำรุด หรือหากคุณไม่อยากทิ้ง ให้ใช้เพื่อตั้งโชว์แทน
6. ตู้เย็น
อุณหภูมิเย็นในตู้เย็นไม่ได้หมายความว่าอาหารจะปลอดภัยจากเชื้อโรคเสมอไป มีงานวิจัยพบว่าเชื้อจุลินทรีย์บางชนิด เช่น แบคทีเรีย รา และยีสต์ สามารถเจริญเติบโตหรืออยู่รอดได้ที่อุณหภูมิ 4°C ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยของตู้เย็นทั่วไป
ตัวอย่างเช่น เชื้อจุลินทรีย์จากอาหารสดที่ยังไม่ได้ล้าง อาจปนเปื้อนบนพื้นผิวของตู้เย็นผ่านมือของคุณ หรืออาจรั่วไหลออกจากบรรจุภัณฑ์ และอาจแพร่กระจายไปยังอาหารอื่น ๆ ภายในตู้
ดร.ปาเซียห์ แนะนำว่า
- ทำความสะอาดตู้เย็นอย่างทั่วถึงทุก 1-2 เดือน
- นำอาหารทั้งหมดออกก่อนทำความสะอาด
- เช็ดชั้นวางและพื้นผิวด้วยน้ำยาทำความสะอาดสูตรอ่อนโยนหรือน้ำส้มสายชู
- ใส่ใจเป็นพิเศษกับลิ้นชัก ซึ่งเป็นจุดที่เชื้อโรคสะสมได้ง่าย
- อย่าลืมทำความสะอาดที่จับประตูตู้เย็น ซึ่งเป็นจุดที่ถูกสัมผัสบ่อยและสะสมเชื้อโรคได้มากที่สุด
7. ฟองน้ำล้างจานและผ้าเช็ด
แม้จะเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ทำความสะอาด แต่ฟองน้ำล้างจานและผ้าเช็ดเองก็อาจสะสมและแพร่กระจายเชื้อโรคจำนวนมากได้
จากการศึกษา พบว่า 49% ของผ้าเช็ดที่เก็บจากครัวเรือนมีผลตรวจพบแบคทีเรีย เช่น โคลิฟอร์ม และเอนเทอโรคอคคัส ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ และการติดเชื้อในช่องท้อง รวมถึงสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส ที่อาจนำไปสู่การติดเชื้อที่ผิวหนังและในกระแสเลือด
คำแนะนำ:
- เปลี่ยนผ้าเช็ดทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ
- หลีกเลี่ยงการใช้ผ้าเช็ดแบบอเนกประสงค์ เช่น ใช้เช็ดมือ เช็ดจาน หรือเช็ดพื้นผิวร่วมกัน
- สำหรับฟองน้ำล้างจาน พบว่ามีแบคทีเรียอีโคไล ซัลโมเนลลา และลิสทีเรีย สะสมอยู่ ควรพิจารณาเปลี่ยนมาใช้แปรงล้างจานแทน เพราะการศึกษาแสดงให้เห็นว่าแปรงล้างจานสะสมเชื้อโรคน้อยกว่าฟองน้ำล้างจาน
ข้อมูลจาก : soha