รู้จัก นกชนหิน สัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 20 ของไทย ปชช. มีไว้ครอบครองต้องรีบแจ้ง
รู้จัก "นกชนหิน" สัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 20 ของไทย หากประชาชน มีไว้ในครอบครอง ต้องรีบแจ้งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช แจ้งได้ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568
นกชนหิน ( Helmeted Hornbill :ชื่อวิทยาศาสตร์ : Rhainoplax vigil) อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าดิบชื้น ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล 300 – 1,100 เมตร มีความต้องการต้นไม้ที่มีปุ่มเป็นต้นโพรงรัง มีลักษณะหัวที่เด่นเป็นโหนกตัน (มาจากเคราติน) คล้ายงาช้าง มีสีเหลืองทองจนถึงแดงคล้ำ เรียกว่า “ งาช้างสีเลือด” หรือ “หยกทองคำ” มีขนหางที่ยาวพิเศษ 2 เส้น ซึ่งส่วนที่ยาวเกินส่วนหางออกไปอีก ประมาณ 30 - 50 เซนติเมตร
โดยที่นกตัวเมียจะอยู่ในโพรงช่วงฤดูผสมพันธุ์ และให้นกตัวผู้เป็นฝ่ายหาอาหาร ปัจจุบันอยู่ในสถานะเสี่ยงใกล้จะสูญพันธุ์ เนื่องจากถูกล่าเพื่อการค้าและพื้นที่อยู่อาศัยถูกทำลาย จึงต้องยกระดับการคุ้มครองจากสัตว์ป่าคุ้มครองให้เป็นสัตว์ป่าสงวน ลำดับที่ 20 ซึ่งกำหนดไว้ในท้ายพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562
โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าสงวนเพิ่มเติม ซึ่งได้แก่นกชนหิน (Rhinoplex Vigil) โดยจะเป็นสัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 20 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ประกาศเปิดรับแจ้งการครอบครองสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครองเพิ่มเติม โดยเฉพาะ “นกชนหิน” ได้ตั้งแต่บัดนี้ จนถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568
สำหรับประชาชนที่ครอบครองสัตว์ป่าดังกล่าว สามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มการแจ้งครอบครองได้จากเว็บไซต์กรมอุทยานฯ ในส่วนของสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า หมวดบริการประชาชน โดยแบ่งเป็น
1. แบบ สป.ม. 10 ก สำหรับแจ้งครอบครองนกชนหิน ซึ่งจัดเป็นสัตว์ป่าสงวน ดาวน์โหลดแบบฟอร์มได้ที่: https://portal.dnp.go.th/DNP/FileSystem/download
ทั้งนี้ ผู้ที่ครอบครองสัตว์ป่าดังกล่าวจะต้องดำเนินการแจ้งครอบครองภายในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายและเพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่าอย่างถูกต้อง โดยผู้ที่จะแจ้งครอบครอง นกชนหินและซากนกชนหินได้จะต้องมี ใบอนุญาตครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองชั่วคราวหรือหนังสือรับรองให้ครอบครองซากสัตว์ป่าคุ้มครอง สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า Wildlife Conservation Office, Thailand หรือติดต่อสอบถามได้ที่หน่วยงานของกรมอุทยานฯ ในพื้นที่ หรือโทร โทร 0 2579 6666 ต่อ 1632 หรือ 0 2579 4621 สายด่วนพิทักษ์ป่า 1362