เมื่อไปเดินท่องเที่ยวป่าแล้วเจอ "ช้าง" ต้องทำตัวอย่างไร?
เมื่อไปเดินท่องเที่ยวป่าแล้วเจอช้างต้องทำตัวอย่างไร? เปิดวิธี การปฏิบัติตัวเมื่อเจอช้างป่า วิธีสังเกตช้าง เอาตัวรอดเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน
จากกรณีเหตุการณ์นักท่องเที่ยวถูกช้างป่าทำร้าย ซึ่งคาดว่าช้างป่าตัวดังกล่าวมีอาการตกมัน และย้อนกลับเข้ามาใกล้บริเวณพื้นที่ท่องเที่ยวอีก เพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึงได้สั่งการให้อุทยานแห่งชาติภูกระดึงออกประกาศปิดการท่องเที่ยวเป็นการชั่วคราวจนกว่าสถานการณ์จะกลับเป็นปกติและปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว
การปฏิบัติตัวเมื่อเจอช้างป่า กรณีท่องเที่ยว เดินป่า
1. เวลาเจอช้างป่า ระยะกระชั้นชิด อย่ารีบส่งเสียงดังไล่ เพราะช้างป่าบางตัวอาจตกใจหรือรำคาญเสียงคน จะวิ่งเข้าหาคนทันที
2. สังเกตภูมิประเทศรอบตัว หาต้นไม้ใหญ่เพื่อหลบซ่อน
3. กรณีที่ช้างป่าวิ่งเข้าหาหากมีสัมภาระต่าง ๆ ให้ทิ้งสัมภาระ ทำตัวให้เบาและคล่องตัวที่สุด
4. กรณีที่ช้างป่าวิ่งเข้าให้ส่งเสียงดัง กรีดร้อง โห่ร้อง รวมถึงชูแขน ชูมือโบกไปมา พร้อมทั้งเคลื่อนที่ออกจากจุดที่พบช้างป่า
5. กรณีที่ต้องหลบหลีก ให้หนีลงที่ลาดชัน เนื่องจากช้างป่ามักไม่กล้าวิ่งลงทางชันอย่างรวดเร็วมากเพราะโดยมากจะทำให้ช้างป่าหกล้มและเสียหลักได้โดยง่าย
6. กรณีที่ต้องหลบหลีกทางราบ ให้วิ่งในแนวเฉียง 45 องศา หลบไปตามแนวต้นไม้ใหญ่ เนื่องจากช้างมีขนาดตัวใหญ่จะทำให้การเลี้ยวหรือกลับตัวค่อนข้างช้า
7. หากวิ่งหนีแล้วหกล้ม ช้างวิ่งมาถึงตัวเข้าทำร้าย ให้พยายามตั้งสติ กลิ้งหลบให้พ้นรัศมีช้างป่า แล้วรีบลุกวิ่งต่อทันที
8. กรณีที่หลบไม่ทัน และหากมีโอกาสให้ใช้ไม้หรืออุปกรณ์ที่มี ทิ่มบริเวณตาหรือโดนเล็บของช้างป่า เพื่อให้ช้างหยุดชะงัก แล้วรีบวิ่งหลบหนีต่อไป
9. เมื่อปลอดภัยจากช้างป่า ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่โดยเร็วที่สุด
สังเกตช้างป่า: เมื่อเห็นช้างป่าในระยะใกล้ เห็นว่า ช้างหูกาง งวงนิ่ง และจ้องมองเขม็ง ให้รีบหนีออกจากบริเวณนั้นทันที
ข้อควรปฏิบัติ
1. ไม่ยืนถ่ายรูปช้างป่าในระยะใกล้
2. ไม่เดินตามช้างป่า
3. ไม่ส่งเสียงดัง
4. เก็บอาหารให้มิดชิด
5. ตั้งจุดพักค้างคืนในบริเวณที่จัดไว้ให้
6. ปฏิบัติตามคำแนะนำเจ้าหน้าที่