ไทยถึงเวลาแล้วหรือยัง! กับข้อกฎหมายควบคุมอินฟลูเอนเซอร์
จากกรณีการเสียชีวิตของ "แบงค์ เลสเตอร์" ต้องสังเวยชีวิตกับคอนเทนต์ขยะ! ตลาดล่าง! ไทยถึงเวลาแล้วหรือยัง! กับกฎหมายควบคุมอินฟลูเอนเซอร์
ในยุคที่ความดังสร้างได้ด้วยปลายนิ้ว อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) ผุดขึ้นมาเป็นดาวดวงใหม่บนโลกออนไลน์ สร้างเทรนด์ ชี้นำความคิด และกำหนดพฤติกรรมผู้คน แต่เบื้องหลังเสียง ชื่นชมและยอดไลก์ถล่มทลายที่ได้กลับมานั้น กลับกลายเป็นช่องว่างทำให้เกิดการผลิต คอนเทนต์ขยะ การแกล้งคนทำให้อับอาย กระทบต่อชีวิตจิตใจ แต่ผู้ผลิตอ้างว่านี่คือคอนเทนต์เรียกรอยยิ้มและเสียงหัวเราะไม่ต่างจาก สวนสัตว์มนุษย์ (Human Zoo) ที่ละเมิดจิตใจ ความรู้สึก ความปลอดภัยทางร่างกาย การกระทำของเพื่อนมนุษย์ที่ "แบงค์ เลสเตอร์" ต้องยอมเพื่อยอดวิวที่ต้องแลกด้วยชีวิต
ประเทศ ไทยติดอันดับโลก อินฟลูเอนเซอร์หนุนการตลาดแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็น สื่อคอนเทนต์ การลงทุน การพนัน และผลิตภัณฑ์สุขภาพ แต่เสี่ยงชี้นำความเชื่อผิดๆ ดังนั้นเพื่อป้องกันปัญหาเหล่านี้จึงต้องมีกฎหมายออกมากำกับดูแล แล้วหากประเทศไทยต้องมีกฎหมายควบคุมอินฟลูเอนเซอร์ควรออกแบบในรูปแบบใด
บทบาทกฎหมายควบคุมอินฟลูเอนเซอร์ของไทย
แม้ว่า ประเทศไทยยังไม่มีกฎระเบียบสำหรับกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์อย่างชัดเจน จะมีเพียงกฎหมายควบคุม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 รวมทั้งอยู่ระหว่างพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. …. ที่มีความพยายามปรับปรุงการกำกับดูแลการนำเสนอข้อมูลให้เท่าทันสื่อปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังมีร่าง พ.ร.บ.อาหาร ฉบับสภาผู้บริโภค ที่เพิ่มกำหนดนิยาม ให้ผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับอาหาร ซึ่งครอบคลุมถึงพรีเซนเตอร์ ที่ทำการโฆษณาอาหาร จะต้องรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์ที่โฆษณาด้วย
อย่างไรก็ตาม หากประเทศไทยจะขยายการกำกับดูแลให้ครอบคลุมกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์อาจต้องทบทวนการกำหนดนิยามของสื่อออนไลน์ให้มีความชัดเจนมากขึ้น รวมถึงแนวทางการกำกับดูแลที่สอดคล้องกับการผลิตเนื้อหา อาจต้องศึกษาจากตัวอย่างของกฎหมายและมาตรการของต่างประเทศเพิ่มเติม เพื่อนำมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทสังคมไทยต่อไป