
เปิดเรื่องจริงของ "นกเงือก" ทำไมถึงเป็นสัญลักษณ์ของรักแท้ รักนิรันดร์
ต้อนรับวันแห่งความรักด้วยเรื่องราวของ "นกเงือก" เรื่องจริงของสัญลักษณ์แห่งรักแท้ในธรรมชาติ รักนิรันดร์ และ รักเดียวตลอดไป
ที่มาของสัญลักษณ์แห่งรักแท้ในธรรมชาติของ "นกเงือก" เพราะทั้งชีวิตของมันจะมีคู่เพียงแค่ตัวเดียวเท่านั้น มันจะไม่หาคู่ใหม่ แม้ว่าคู่ตัวเดิมจะหายหรือตายไป เรียกได้ว่าเป็น รักที่ยาวนานตราบสิ้นลมหายใจ นกเงือก หรือ ฮอร์นบิลล์ (Hornbill) เป็นสัตว์ที่มีพฤติกรรม “รักเดียวใจเดียว” จะจับคู่เพียงครั้งเดียวในชีวิต โดยนกเงือกจะอยู่กับคู่ของตัวเองจนกว่าจะตายจากกันไป
นกเงือก นกขนาดใหญ่แห่งป่าฝนเขตร้อน พบได้ในทวีปเอเชีย และแอฟริกา สำหรับประเทศไทยสามารถพบนกเงือกได้ทั้งหมด 13 ชนิด นกเงือกมีการจับคู่กันแบบ monogamy (ตัวผู้หนึ่งตัวผสมพันธุ์กับตัวเมียหนึ่งตัวในช่วงฤดูสืบพันธุ์)แต่ความพิเศษของนกเงือก คือการเลือกจับคู่ผสมพันธุ์กับคู่ตัวเดิมตลอดชีวิต ซึ่งในช่วงฤดูสืบพันธุ์แม่นกเงือกจะหาโพรงตามธรรมชาติตามต้นไม้ใหญ่ แล้ววางไข่ จากนั้นแม่นกจะใช้วัสดุต่าง ๆ ปิดปากโพรง เช่น เศษไม้ มูลของตัวเอง ดิน พอกปากโพรงให้มีขนาดเล็กจนเหลือเพียงช่องเล็กๆ เพียงพอสำหรับพ่อนกเงือกส่งอาหารด้วยจงอยปาก แม่นกจะกกไข่ ดูแลลูกนกอยู่ภายในโพรงจนกว่าลูกนกจะโตพอที่จะบินได้ กินระยะเวลาประมาณ 3-4 เดือน ในช่วงที่แม่นกดูแลลูกนกอยู่ในโพรง พ่อนกจะคอยหาอาหารมาให้จนกว่าลูกนกจะแข็งแรงและออกจากโพรง
นกเงือก หากได้คู่แล้วมันไม่หาคู่ตัวใหม่เมื่อคู่ตัวเดิมตายหรือหายไป ถือเป็นนกที่มีนิสัยรักเดียวใจเดียว ซึ่งการตายของนกเงือกตัวผู้ จะส่งผลกับนกเงือกตัวเมียและลูกของมันอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงที่ตัวเมียกำลังฟักไข่และเลี้ยงดูลูกนกเงือกในรังซึ่งมักจะเป็นโพรงในยอดไม้สูง ถ้าหากนกเงือกตัวผู้ออกไปหาอาหารและมีเหตุใด ๆ ทำให้ต้องตายไประหว่างทาง ตัวเมียกับลูกก็จะเฝ้ารออยู่ในรังจนกระทั่งมันอดอาหารตายในที่สุด ความน่าสนใจของนกเงือกตรงจุดนี้ ได้ถูกหยิบยกให้เป็นสัญลักษณ์แห่งรักแท้อันบริสุทธิ์ นั่นเอง