ไลฟ์สไตล์

ไทยวิกฤต "เด็กเกิดน้อย" จะส่งผลอะไรบ้างกับอนาคตของประเทศ!

ไทยวิกฤต "เด็กเกิดน้อย" จะส่งผลอะไรบ้างกับอนาคตของประเทศ!

16 ก.พ. 2568

ไทยวิกฤต! ครั้งแรกในรอบ 75 ปี เด็กเกิดไม่ถึง 5 แสนคนต่อปี คาดอีก 50 ปีข้างหน้า การเกิดลดลงเหลือเพียง 40 ล้านคน ประชากรหายไป 25 ล้านคน เมื่ออัตราการเกิดน้อยจะส่งผลอะไรบ้างในอนาคตของประเทศ?

 

 

ประเทศไทยประสบปัญหาเด็กเกิดน้อยมาอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลสถิติสาธารณสุข ปี 2567 มีจำนวนเด็กเกิดเพียง 461,421 คน ซึ่งต่ำที่สุดในรอบ 75 ปี ที่มีเด็กเกิดน้อยกว่า 5 แสนคน ประเทศไทยจึงมีการออกมาตรการเพื่อส่งเสริมการมีบุตรอย่างมีคุณภาพ หวังสร้างกำลังคนในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ลดภาระประชากรวัยทำงานที่จะต้องแบกรับสังคมสูงวัย ตลอดจนลดปัญหาความมั่นคงในด้านต่าง ๆ ของประเทศ

 

 

ไทยวิกฤต \"เด็กเกิดน้อย\" จะส่งผลอะไรบ้างกับอนาคตของประเทศ!

องค์การสหประชาชาติ (United Nations :UN) ได้จัดกลุ่มประเทศทั่วโลกที่มีอัตราการเกิดกำลังลดลง โดยไทยเป็นประเทศเดียวในเขตภูมิภาคที่อยู่ในกลุ่มดังกล่าว นอกจากนั้น ประเทศอื่นๆ ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นประเทศไทยที่พัฒนาแล้ว ประเทศที่รายได้ค่อนข้างสูง ส่วนกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา จะอยู่ในกลุ่มประเทศที่อัตราการเกิดยังไม่ถึงจุดพีค แต่ก็อาจจะถึงในอีก 30 – 40 ปีข้างหน้า

“อัตราการเจริญพันธุ์รวม (Total Fertility Rate :TFR) ล่าสุดในปี 2567 อยู่เพียง 1.0 ซึ่งถ้าเทียบกับหลายประเทศจะอยู่ในกลุ่มประเทศที่ต่ำมาก ๆ เช่น เกาหลี สิงคโปร์ แต่เมื่อเทียบกับญี่ปุ่นที่มี TFR อยู่ที่ 1.2 จะเห็นได้ว่าไทยต่ำกว่าญี่ปุ่นด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตาม นักประชากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลได้นำข้อมูลการเกิดและ TFR มาคำนวณ โดยมีการคาดการณ์ว่าในอีก 50 ปีข้างหน้า ไทยจะมีการเกิดที่ลดลงเหลือเพียง 40 ล้านคน เท่ากับว่าประชากรจะหายไป 25 ล้านคน หรือมองให้เห็นภาพคือ เฉลี่ยทุก 2 ปี ประชากรจะลดลง 1 ล้านคน”

 

 

ไทยวิกฤต \"เด็กเกิดน้อย\" จะส่งผลอะไรบ้างกับอนาคตของประเทศ!

 

เมื่ออัตราการเกิดน้อย  จะส่งผลอะไรบ้างในอนาคตของประเทศ

 

ไทยวิกฤต \"เด็กเกิดน้อย\" จะส่งผลอะไรบ้างกับอนาคตของประเทศ!

 

1. คนจะลดลง: ด้วยตัวเลขการเกิดต่ำกว่าตัวเลขการตาย จำนวนประชากรจึงลดลง ส่งผลให้อะไรก็ตามที่ตระเตรียมไว้สำหรับการรองรับคนจำนวนที่มากขึ้นหรือเพิ่มขึ้นก็จะไม่เป็นเช่นนั้น เช่น สถานรับเลี้ยงเด็ก โรงเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงมหาวิทยาลัย ธุรกิจร้านค้าและบริการต่าง ๆ ภาคอุตสาหกรรมรวมถึงเกษตรกรรมจะประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน การลงทุนไปกับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการใช้งานสำหรับคนจำนวนมาก ๆ จะเสียเปล่า

 

 

2. ครอบครัวจะเปลี่ยนไป: ครอบครัวขยายจะหายไปกลายเป็นครอบครัวเดี่ยวที่อยู่กันไม่กี่รุ่น การอยู่ลำพังและตายจากอย่างโดดเดี่ยวหรือมีแต่เพื่อนญาติห่างๆ จะมีมากขึ้น ตลอดจนความสัมพันธ์ของคนระหว่างรุ่นที่จะถูกถ่างขยายออกมากขึ้นด้วยสาเหตุจากการเลื่อนอายุสมรส การอยู่เป็นโสด หรือความไม่พร้อมในการมีบุตร รวมถึงความต้องการชีวิตส่วนตัวและมีอิสระที่มากขึ้น

 

 

3. สังคมจะเปลี่ยนแปลง: นอกจากความสำคัญของเทคโนโลยีที่เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการใช้ชีวิตของผู้คนในสังคมแล้ว การที่คนลดน้อยลง จึงมีความเป็นไปได้ 2 ทางคือ หากไม่เกิดการรวมกลุ่มใช้ชีวิตทางสังคมร่วมกันมากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นการปฏิสัมพันธ์กันบนโลกเสมือนแทนกันมากยิ่งขึ้น สังคมของคนเราจะถูกผลักให้ออกห่างจากกันมากขึ้นด้วยความไม่มีส่วนที่เกี่ยวข้องใด ๆ ต่อกันดังเช่นสังคมในอดีตที่ใกล้ชิดผูกพันในเชิงเครือญาติที่ยังพอสืบทราบที่มาได้บ้าง

 

 

4.อัตราแรงงานที่จะหาย: ในจำนวนประชากรที่หายไปนั้น ส่งผลกระทบต่ออัตราแรงงานที่จะหายไปเช่นเดียวกัน จากปัจจุบันที่มีจำนวนผู้มีงานทำ 37.2 ล้านคน ในอีก 50 ปีข้างหน้าจะเหลือเพียง 22.8 ล้านคน หรือเท่ากับมีแรงงานหายไป 15 ล้านคน ซึ่งเรื่องนี้เป็นโจทย์สำคัญของวิกฤตประชากร และวิกฤตเด็กเกิดน้อย ซึ่งหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อรับมือ แน่นอนว่าวิกฤตแน่นอน 

 

 

ไทยวิกฤต \"เด็กเกิดน้อย\" จะส่งผลอะไรบ้างกับอนาคตของประเทศ!

 

ข้อมูลอ้างอิงจาก :   รศ.ดร.เฉลิมพล แจ่มจันทร์ ,  รศ.ดร.ธีระ สินเดชารักษ์