
'เมื่อหลอดอาหารเป็นมะเร็ง'
11 ธ.ค. 2558
'เมื่อหลอดอาหารเป็นมะเร็ง' : คอลัมน์ รู้ทันมะเร็ง โดย... นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ
เชื่อว่าหลายคนคงไม่ค่อยคุ้นหูกับอวัยวะที่ชื่อว่าหลอดอาหาร จริงๆ แล้วหลอดอาหารเป็นอวัยวะที่อยู่ระหว่างคอหอยกับกระเพาะอาหาร เป็นอวัยวะที่มีลักษณะเป็นท่อเริ่มตั้งแต่บริเวณลำคอทอดตัวอยู่ด้านหลังในช่องอกผ่านกะบังลมลงสู่กระเพาะอาหารบริเวณใต้ลิ้นปี่ เป็นอีกอวัยวะหนึ่งของระบบทางเดินอาหารที่เป็นมะเร็งได้ไม่ต่างจากอวัยวะอื่น
เนื่องจากหลอดอาหารเป็นอวัยวะที่มีลักษณะเป็นท่อกลวงให้อาหารที่ถูกฟันบดเคี้ยวแล้ว ผ่านลงสู่กระเพาะอาหาร เมื่อมีเนื้องอกเกิดขึ้นซึ่งส่วนใหญ่แล้วเริ่มต้นจากเซลล์เยื่อบุด้านในหลอดอาหารเกิดการแบ่งตัวผิดปกติ อาการเริ่มต้นจึงหนีไม่พ้นอาการกลืนลำบาก โดยเริ่มจากการกลืนอาหารปกติลำบากก่อน ต่อมาเมื่อก้อนเนื้องอกโตมากขึ้น เริ่มเบียดบังรูของหลอดอาหารให้แคบเล็กลง ก็ทำให้กลืนพวกอาหารอ่อน เช่น โจ๊กหรือข้าวต้มได้ยากขึ้น ท้ายที่สุดก็กินได้แต่อาหารเหลวและมีอาการอาเจียนมากขึ้นตามลำดับ โดยผู้ป่วยอาจบอกตำแหน่งได้คร่าวๆ ว่ารู้สึกกลืนอาหารติดอยู่บริเวณไหน บางรายมีเจ็บในช่องอก ไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด และมีอาการเสียงแหบร่วมด้วย ผู้ป่วยมะเร็งหลอดอาหารส่วนใหญ่มักมีน้ำหนักลด ซูบผอมลงอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากอาหารแทบไม่สามารถผ่านลงไปให้ลำไส้เล็ก ได้ดูดซึมสารอาหารไปให้ร่างกายได้ใช้ประโยชน์เหมือนกับมะเร็งของอวัยวะอื่นๆ ส่งผลให้การรักษาได้ผลไม่ค่อยดีเนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในภาวะขาดสารอาหาร หลายรายต้องมาบำรุงมาขุนให้ภาวะขาดสารอาหารดีขึ้นเสียก่อนแล้วจึงเริ่มให้การรักษา นอกจากนั้นลักษณะทางกายวิภาคของหลอดอาหารที่อยู่ใกล้เคียงกับหลอดลม หลอดเลือดแดงใหญ่ หัวใจและปอด ก็ยิ่งทำให้การรักษายากลำบากมากขึ้น โดยเฉพาะในกรณีที่โรคมีการลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียงที่สำคัญดังกล่าว
ส่วนเรื่องที่ใครๆ ก็อยากรู้ เพื่อหาทางป้องกันไม่ให้ตนเองเป็นโรคนี้ ต้องบอกว่าสาเหตุที่แท้จริงของมะเร็งหลอดอาหารยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าเกิดจากการระคายเคืองเรื้อรังของเซลล์เยื่อบุหลอดอาหาร การดื่มสุรา ภาวะกรดไหลย้อน การสูบบุหรี่ และการบริโภคอาหารที่มีสารก่อมะเร็งไนโตรซามีน การวินิจฉัยโรคนี้หนีไม่พ้นการเอกซเรย์กลืนแป้งและการส่องกล้องตรวจหลอดอาหาร เพื่อตัดชิ้นเนื้อมาตรวจยืนยันว่าเป็นมะเร็งจริง การรักษาถ้ายังเป็นไม่มากก็ผ่าตัดเอาหลอดอาหารออก แล้วเอากระเพาะอาหารหรือลำไส้ใหญ่หรือลำไส้เล็กมาทำหลอดอาหารใหม่แทน อาจจะใช้การฉายแสงและยาเคมีบำบัดร่วมด้วย ในรายที่เป็นมากระยะลุกลาม ก็อาจใช้การใส่ท่อขยายหลอดอาหารให้อาหารสามารถผ่านลงไปได้ ช่วยลดความทุกข์ทรมานและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ส่วนจะให้การฉายแสงและยาเคมีบำบัดร่วมด้วยหรือไม่นั้นก็ว่ากันเป็นรายๆ ไป
ก่อนจากขอฝากว่าใครก็ตามที่มีอาการกลืนอาหารผิดปกติหรือกลืนอาหารลำบาก นานเกินกว่า 2 สัปดาห์ ก็อย่าชะล่าใจ ควรรีบไปพบแพทย์นะครับ...เชื่อผมสิ
........................................
(หมายเหตุ 'เมื่อหลอดอาหารเป็นมะเร็ง' : คอลัมน์ รู้ทันมะเร็ง โดย... นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ)